หากมีอาการปวดหลังตรงระดับบั้นเอวหรือกระเบนเหน็บ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วย นั่นอาจไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังจากโรคนี้ เพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงาน ช่วงอายุตั้งแต่ 25-40 ปี
ทำไมวัย 25+ เสี่ยงหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนภาวะนี้เกิดจากตัวหมอนรองเกิดภาวะที่แห้งลง เสียความยืดหยุ่น สาเหตุการเกิดที่พบในผู้ที่มีอายุน้อยได้บ่อย ได้แก่ การใช้งานและกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น ยกของหนักผิดท่าบ่อยๆ การนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน การขับรถนานๆ การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุจนกระดูกสันหลังบาดเจ็บ และการสูบบุหรี่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หมอนรองกระดูกสันหลังน้อยลง ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น และทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนได้
อาการหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน จากภาวะ
หมอนรองกระดูกเสื่อม จะมีอาการปวดหลังตรงระดับบั้นเอวหรือกระเบนเหน็บ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วย หรืออาจจะเคยยกของแล้วปวดหลังทันที มักปวดมากเวลาก้มหรือนั่ง หรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งถ่าย หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาตามมาได้
ทั้งนี้อาการปวดหลังและปวดขาเรื้อรังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนนี้ แม้เพียงสร้างความรำคาญ ความทุกข์ทรมาน และความวิตกกังวลให้ผู้ป่วย ก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะหากไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจนำไปสู่โรคที่มีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังมากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุให้ถึงกับอัมพาตได้ หากมีอาการดังกล่าวจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องและเลือกการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป