คุณแม่มือใหม่หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมต้องฝากครรภ์ในทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ และคำถามต่าง ๆ ที่จะตามมาก็คือ ฝากครรภ์ที่ไหนดี โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน มีประโยชน์อย่างไร ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ครั้งแรกหมอตรวจอะไร ไปฝากครรภ์ถามอะไรคุณหมอได้บ้าง และอีกนานาสารพันที่อยู่ในหัวของว่าที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ เราไปหาคำตอบกันเลย
ฝากครรภ์ คืออะไร ฝากครรภ์ (Prenatal care) คือ การดูแลการตั้งครรภ์ของแม่และทารกในครรภ์ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงก่อนคลอด เพื่อเฝ้าระวังติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะตรวจติดตามเกี่ยวกับสุขภาพของแม่และทารกตลอดการตั้งครรภ์
ฝากครรภ์พิเศษ คืออะไรเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แม่ควรรีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพราะการฝากครรภ์จะทำให้แม่ และทารกในครรภ์ปลอดภัยมากขึ้น เราพอจะทราบกันแล้วว่าการฝากครรภ์นั้นมีด้วยกัน 2 แบบคือฝากครรภ์ทั่วไป และฝากครรภ์พิเศษ ในหัวข้อนี้เราจะมาพูดถึงการฝากครรภ์พิเศษว่าคืออะไร ไปดูกันเลย
ฝากครรภ์พิเศษ คือคุณแม่สามารถเลือกแพทย์ได้ด้วยตัวเองฝากครรภ์ไว้กับแพทย์ท่านนั้นๆ ตลอดไปจนถึงการทำคลอดด้วย ซึ่งมักเป็นการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกฝากครรภ์ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการระบุแพทย์เจ้าของไข้ที่แน่นอน เพราะฉะนั้นการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชนจึงเป็นการฝากครรภ์แบบพิเศษโดยอัตโนมัติ เหมือนกับมีสูตินรีแพทย์ประจำตัวคอยดูแลครรภ์ไปจนถึงคลอดเลย
ส่วนการ
ฝากครรภ์ธรรมดา เป็นการฝากครรภ์ที่พบแพทย์ทั่วไป และพยาบาลดูแลคุณแม่เท่านั้น การมาตรวจแต่ละครั้งอาจเป็นแพทย์เวร หรืออาจจะพบแพทย์คนเดิมหรือไม่ก็เป็นได้ รวมถึงขณะคลอดด้วยเช่นกัน
ประโยชน์ของการฝากครรภ์ เมื่อทราบข่าวดีว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์แล้ว ภารกิจต่อไปที่จำเป็นต้องทำของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ก็คือการไปฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และหัวใจดวงน้อย ๆ ในครรภ์ ในหัวข้อนี้ เรามาดูประโยชน์ของการฝากครรภ์ ที่ทั้งคุณแม่และทารกจะได้รับ มาฝาก ดังต่อไปนี้คือ
เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ เพื่อหวังให้คุณแม่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางกายและทางใจ แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตน และอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหาในระหว่างตั้งครรภ์ และควรให้คนในครอบครัวรับทราบด้วย
เพื่อตรวจสอบดูว่าการตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ แพทย์จะช่วยวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ที่จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ ซิฟิลิส และติดเชื้อเอดส์ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคโลหิตจาง รกเกาะต่ำ ทารกโตช้าในครรภ์ น้ำคร่ำน้อย ฯลฯ ถ้าผิดปกติจะได้ป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที
ช่วยป้องกันอันตรายกับทารกในครรภ์ การฝากครรภ์ช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวทารกได้อีกด้วย
ช่วยป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติและคลอดลูกได้ตามปกติมากที่สุด ถ้าหากมีโรคแทรกซ้อนแพทย์จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด หรือเสียเลือดน้อยที่สุด เป็นต้น
ช่วยดูแลทารกในครรภ์ ทำให้ทารกในครรภ์เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
รับวัคซีนและยาบำรุงเป็นประจำ ช่วยดูแลคุณแม่และทารกในครรภ์ให้ได้รับวัคซีนและยาบำรุงที่จำเป็นต่อพัฒนาการของทารกในแต่ละช่วงเดือน
เมื่อทราบถึงประโยชน์อย่างนี้แล้ว หากรู้ว่าตนเองเริ่มตั้งครรภ์ ควรรีบมาฝากครรภ์กันเถอะ
ควรฝากครรภ์ครั้งแรกตอนไหน อายุครรภ์กี่เดือนการฝากครรภ์ครั้งแรกควรทำ “ทันที” ที่รู้ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 1- 2 เดือน เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะตลอดช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์คือช่วงที่สำคัญมาก หากฝากครรภ์ได้เร็วเท่าไร ก็จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากแพทย์ได้เร็วขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย เพราะในการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะทำการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ และคัดกรองความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่ได้ดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ให้แข็งแรงสุขภาพดีที่สุด
การเตรียมตัวฝากครรภ์ครั้งแรกสำหรับคุณแม่ป้ายแดงที่กำลังจะมีลูกน้อยคนแรก อาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมตัวการฝากครรภ์ครั้งแรก ต้องเตรียมตัวอย่างไร มาดูคำตอบกันเลยก่อนไปฝากครรภ์ คุณแม่ต้องเตรียมตัวเองและสิ่งต่อไปนี้ให้พร้อม
- เตรียมข้อมูลประวัติส่วนตัวของคุณแม่ด้านสุขภาพ ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว อาการแพ้ท้อง การฉีดวัคซีน การใช้ยา การแพ้ยา อุบัติเหตุที่เคยได้รับ การผ่าตัด และประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมเป็นต้น
- เขียนคำถามหรือข้อสงสัยที่คุณแม่ต้องการทราบ และถามแพทย์ให้เข้าใจอย่างละเอียด เช่น อาหารการกิน การออกกำลังกาย ยาที่รับประทานเป็นประจำมีผลต่อทารกหรือไม่ สิ่งควรระวังและหลีกเลี่ยง และต้องดูแลตัวเองอย่างไร เป็นต้น
เอกสารฝากครรภ์ มีอะไรบ้างสำหรับการไปฝากครรภ์ครั้งแรกนั้น คุณแม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ติดตัวไปด้วย
- บัตรประชาชนของคุณแม่ เพื่อทำประวัติการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล และมีของคุณพ่อติดไปด้วยก็จะดี
- ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของคุณแม่ เช่นประวัติการเจ็บป่วยและการรักษา การแพ้ยา การคลอดบุตร และข้อมูลโรคประจำตัว
- ข้อมูลการมีรอบเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
ขั้นตอนการฝากครรภ์สำหรับขั้นตอนการฝากครรภ์จะไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากนัก โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและทำการตรวจเพิ่มเติม ในหัวข้อนี้จะนำขั้นตอนการฝากครรภ์ มาอธิบายให้คุณแม่มือใหม่ได้เข้าใจไปพร้อม ๆ กัน มีรายละเอียด ดังนี้
แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด เกี่ยวกับวันที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด รอบเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ การใช้ยาหรืออาหารเสริม การแพ้ยา โรคประจำตัว ประวัติการป่วยของสมาชิกภายในครอบครัว โรคทางอายุรกรรม เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่หรือไม่
ตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายคุณแม่อย่างละเอียด ตรวจวัดสัญญาณชีพจร วัดความดันโลหิตดูการบวมตามร่างกาย ตรวจปริมาณน้ำตาล และโปรตีนในปัสสาวะ เพื่อเช็กปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงอาจมีการตรวจภายในตามข้อบ่งชี้
ตรวจเลือด ในการเข้ารับการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคและประเมินความเสี่ยงโรคที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อต่าง ๆ ภูมิคุ้มกันของคุณแม่และกรุ๊ปเลือด หรืออาจจะมีการตรวจเลือดคุณพ่อด้วยก็ได้
ฝากครรภ์ครั้งแรก ตรวจอะไรบ้าง เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณแม่จะต้องได้รับการตรวจร่างกาย และตรวจครรภ์อย่างละเอียด เพื่อแพทย์สามารถวินิจฉัยสุขภาพของคุณแม่ได้ ดังนี้
- ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงจะมีการวัดส่วนสูง ซึ่งเป็นการบอกคร่าว ๆ ถึงขนาดเชิงกราน ถ้าคุณม่ตัวเล็ก อาจทำให้คลอดเองได้ยาก และคุณแม่ต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการดูน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่
- วัดความดันโลหิต เกณฑ์ปกติคือจะราว 120/70 มิลลิเมตรปรอท แต่หากวัดค่าได้เกิน 140/90มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง คุณแม่เสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษได้
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่เป็นโรคเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และดูว่ามีโปรตีนมั้ย ถ้ามีไตอาจทำงานผิดปกติได้ มีอาการครรภ์เป็นพิษ หรือการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือด โรคเลือดธาลัสซีเมีย และตรวจหาโรคติดเชื้ออื่น ๆ
เช่น หัดเยอรมัน ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ และเอดส์ เป็นต้น - ตรวจทางหน้าท้องหรือที่เรียกว่าอัลตราซาวด์ เพื่อดูท่าของมารกว่าอยู่ในท่าไหน ประมาณจนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าท่าของทารกไม่เป็นอันตรายต่อทารกเองและตัวคุณแม่
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น การตรวจฟังการเต้นของหัวใจ การทำงานของปอด ตรวจฟัน และตรวจเต้านม เป็นต้น
ฝากครรภ์กี่ครั้งเมื่อทำการฝากครรภ์เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะนัดให้มาตรวจครรภ์ โดยแบ่งเป็น 3 ไตรมาส และมีการตรวจที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
ไตรมาสแรก (เริ่มตั้งครรภ์ถึง 14 สัปดาห์)แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน เพื่อตรวจปัสสาวะหรือเลือด เพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจเลือดวัดสารเตมีบ่งชี้ทารกดาวน์ซิมโดรมและตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติของทารกเบื้องต้น
ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 15-28 สัปดาห์)แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน เพื่อตรวจเลือด คัดกรองโรคเบาหวานในรายที่มีความเสี่ยงสูง เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซม และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อกำหนดเพศ ติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ และกำหนดตำแหน่งของรกช่วยวินิจฉัยโรครกเกาะต่ำ
ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์)แพทย์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ เพื่อสอนนับลูกดิ้น ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และบาดทะยัก ตรวจเลือด คัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสในช่องคลอดหรือกระเพาะปัสสาวะ และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อคำนวณน้ำหนักตัวและสุขภาพของทารกในครรภ์
สมุดฝากครรภ์สมุดฝากครรภ์ คือสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ผู้ตั้งครรภ์ทุกคนจะได้รับสมุดฝากครรภ์ประจำตัว ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์คุณหมอผู้ดูแลจะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียด โดยผลการตรวจทุกครั้งจะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์
คุณแม่ควรเก็บสมุดฝากครรภ์ให้ดีและพกติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อต้องเดินทางไกล ๆ หากเกิดภาวะฉุกเฉินจนต้องเข้าโรงพยาบาล คุณหมอจะได้ดูแลรักษาคุณแม่ได้ถูกต้อง ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุด
สมุดฝากครรภ์ จะช่วยให้คุณหมอรู้ข้อมูลของคุณแม่และทารกในครรภ์ สามารถนำมาประกอบการประเมินในแต่ละครั้ง ทำให้ดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
ฝากครรภ์ที่ไหนดีเรื่องของการฝากครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่ คำถามแรกคือไปฝากครรภ์ที่ไหนดีนะ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่ไม่ได้กำหนดแน่นอน แต่สามารถพิจารณาตามความเหมาะสม และความสะดวก ได้ดังนี้
- เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด อาจจะเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน เพราะถ้าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น จะได้เดินทางไปโรงพยาบาลได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด
- ฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์เฉพาะทาง ที่คุณแม่ไว้ใจ โดยพิจารณาจากประสบการณ์ และประวัติการทำงาน
- โรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน เลือกตามงบประมาณและความสะดวกสบายที่คุณแม่ต้องการได้รับ
หลายคนอาจจะมีคำถามว่า การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล กับที่คลินิก มีความแตกต่างกันอย่างไร การฝากที่คลินิกจะเป็นการฝากพิเศษกับแพทย์ จะช่วยเรื่องความสะดวก รวดเร็ว เวลาคลอดแพทย์จะดูแลเป็นพิเศษ การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลก็ดูแลเหมือนกัน ขณะคลอดก็จะมีแพทย์เวรเป็นผู้ดูแล แต่ถ้าเป็นการฝากครรภ์พิเศษมักหมายถึงต้องการให้แพทย์ที่เราฝากครรภ์พิเศษเป็นผู้ดูแลทำคลอดให้ ก็ได้เหมือนกัน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝากครรภ์สำหรับท่านที่กำลังศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการฝากครรภ์ มักจะมีคำถามที่สงสัยกันบ่อย ๆ ดังต่อไปนี้
ฝากครรภ์ช้าสุดกี่เดือน เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นแพทย์จะนัดตรวจครั้งต่อไป โดยแต่ละครั้งจะมีระยะห่างประมาณ 6-8 สัปดาห์ เพื่อตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ฝากครรภ์คลินิก คลอดโรงพยาบาลได้ไหมคำตอบคือทำได้ แต่คุณแม่จะต้องนำสมุดบันทึกสุขภาพของแม่และเด็กรวมถึงผลตรวจจากคลินิกไปด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ทราบข้อมูลสุขภาพของแม่และทารกในระหว่างการตั้งครรภ์ สามารถวางแผนแนวทางการดูแลและคลอดบุตรได้อย่างเหมาะสม
ไม่ได้ฝากครรภ์ คลอดได้ไหมสามารถทำได้ แต่ไม่แนะนำ เพราะการฝากครรภ์ มีความสำคัญในการตั้งครรภ์อันยาวนานถึง 9 เดือน หากไปคลอด โดยที่ไม่เคยได้ตรวจครรภ์เลยสักครั้ง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งกับตัวคุณแม่เอง และทารกในครรภ์ด้วย
ข้อสรุปการฝากครรภ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งมือใหม่และมือเก่าจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสถานที่ฝากครรภ์ แพทย์คนดูแล และการบริการครบทั้งกระบวนการ เพื่อนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ราบรื่น รวมทั้งช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างการตั้งครรภ์ของคุณแม่และความปลอดภัยของลูกน้อย