ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


เข้าใจ “งบการเงิน” เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางธุรกิจ

งบการเงิน

เชื่อหรือไม่ว่า ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจคือเรื่องของ "งบการเงิน" เป็นเพราะว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด จุดอ่อน-จุดแข็งของธุรกิจ แต่กลับละเลยเรื่องของการเงินเพราะคิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำธุรกิจ ซึ่งในความจริงแล้วการบริหารงบการเงินก็สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ

ในบทความนี้จะพามาทำความเข้าใจกับเรื่องของงบการเงินว่า งบการเงินคืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง พร้อมอธิบายความสำคัญของการบริหารงบการเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ

งบการเงินคืออะไร?
 
งบการเงิน คือ รายละเอียดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะทางการเงินและผลการดำเนินการของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนพนักงาน, ค่าวัตถุดิบ, ค่าเช่า, รายได้ หรือกำไรสะสม ส่งผลให้การจัดทำรายงานงบการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจสถานะทางการเงิน  ติดตามรายรับ-รายจ่าย นำไปสู่การวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยงบการเงินสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ซึ่งจะมีรายละเอียดดังนี้

1.งบที่แสดงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ถือหุ้น

ประเภทแรกของงบการเงินคืองบที่แสดงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ถือหุ้น จะเป็นงบที่จะแสดงยอดเงินทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นในช่วงปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากกำไรสะสม หรือจะเป็นทุนลดลงเพราะปันผลให้ผู้ถือหุ้นมากเกินไป ซึ่งด้วยการแบ่งงบการเงินในส่วนนี้ออกมาจะทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยสูตรการคำนวณจะมีดังนี้

ส่วนของผู้ถือหุ้นปลายปี = ส่วนของผู้ถือหุ้นต้นปี + กำไรสุทธิ - เงินปันผล + การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ
ถ้าหากลองสมมติตัวอย่างส่วนของผู้ถือหุ้นต้นปี 1,000,000 บาท กำไรสุทธิ 200,000 บาท เงินปันผล 100,000 บาท และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ จะได้ส่วนของผู้ถือหุ้นปลายปีเป็น 1,000,000 + 200,000 - 100,000 + 0 = 1,100,000 บาท

2.งบที่แสดงฐานะทางการเงิน

ประเภทถัดมาของงบการเงินคืองบที่แสดงฐานะทางการเงินหรือที่เรียกกันว่า งบฐานะการเงิน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ

1. สินทรัพย์ คือ สิ่งที่กิจการเป็นเจ้าของ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

• สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ที่คาดว่าสามารถใช้งานได้มากกว่า 1 ปี
• สินทรัพย์หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ที่คาดว่าสามารถเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี
• สินทรัพย์อื่น ๆ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้จัดอยู่ในสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมา

2. หนี้สิน คือ สิ่งที่กิจการติดค้างชำระ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

• หนี้สินระยะยาว เป็นหนี้สินที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการชำระมากกว่า 1 ปี
• หนี้สินหมุนเวียน เป็นหนี้สินที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการชำระภายใน 1 ปี
• หนี้สินอื่น ๆ เป็นหนี้สินที่ไม่ได้จัดอยู่ในหนี้สินทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมา

3. ส่วนของเจ้าของ คือ เงินลงทุนของเจ้าของเอง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

• ทุนจดทะเบียน เป็นเงินที่เจ้าของธุรกิจลงทุนเอง
• ทุนสำรอง เป็นกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จ่ายปันผล
• เงินทุนสำรองพิเศษ เป็นเงินทุนสำรองที่แยกจากทุนสำรองอีกที

โดยจะมีสมการในการคำนวณดังนี้: สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

ซึ่งงบการเงินประเภทนี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจทราบสถานะทางการเงินเบื้องต้นของกิจการ ถ้าหากพบว่ามีส่วนของเจ้าของมากกว่าส่วนหนี้สินนั่นแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีความมั่นคง สามารถจัดการชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่ถ้าหากมีส่วนของหนี้สินมากกว่านั่นแสดงให้เห็นว่ามีโอกาสที่ธุรกิจจะผิดชำระหนี้สูง

3.งบที่เกี่ยวกับกระแสเงินสด

อีกหนึ่งประเภทของงบการเงินคืองบที่เกี่ยวกับกระแสเงินสด จะเป็นงบที่แสดงให้เห็นที่มาที่ไปของกระแสเงินสดที่เข้า-ออกในธุรกิจ เปรียบเสมือนเป็นบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อแสดงให้เห็นสภาพคล่องของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา

โดยกระแสเงินสดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กิจกรรมหลัก ๆ คือ

1. กิจกรรมจากการลงทุน (Cash Flow form investing activities - CFI) อย่างเงินสดที่ใช้ซื้อสินทรัพย์หรือเงินสดที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์
2. กิจกรรมจากการระดมทุน (Cash Flow form Financing Activites - CFF) จะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับเงินสดที่ได้รับจากการออกหุ้น เงินสดที่ได้รับจากการกู้ยืม และเงินสดที่จ่ายเพื่อชำระหนี้
3. กิจกรรมจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operating activities - CFO) อย่างรายได้จากการซื้อขาย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมไปถึงกำไรสุทธิ

โดยจะมีสมการในการคำนวณงบกระแสเงินสดดังนี้:
เงินสดต้นงวด = กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (CFI) + กระแสเงินสดจากกิจกรรมระดมทุน (CFF) + กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO)

ซึ่งการดูงบการเงินกระแสเงินสดที่ดีควรมีกระแสเงินจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมระดมทุน และกิจกรรมลงทุนที่เป็นบวก มีความสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจให้เคลื่อนต่อได้อย่างไม่มีสะดุด

4.งบกำไรขาดทุนของธุรกิจ

งบการเงินประเภทสุดท้ายคืองบกำไรขาดทุนของธุรกิจ เป็นงบที่เจ้าของธุรกิจทุกคนสามารถคำนวณได้ง่าย ๆ ซึ่งมีสูตรการคำนวณดังนี้: กำไร(ขาดทุน) = รายได้รวม - ค่าใช้จ่ายรวม
โดยที่รายได้รวม (Total Revenue) คือ ผลรวมของรายได้ ดอกเบี้ยรับ เงินปันผล หรือรายได้อื่น ๆ เป็นต้น
และค่าใช้จ่ายรวม (Total Expenses) คือ ผลรวมของต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน หรือภาษี เป็นต้น

งบกำไรขาดทุนของธุรกิจเป็นงบการเงินที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจติดตามผลการดำเนินธุรกิจได้แบบคร่าว ๆ และรวดเร็วที่สุด ด้วยการประเมินรายได้และรายจ่ายของธุรกิจแบบคร่าว ๆ ที่ทำให้สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และเร่งหาวิธีการปรับกลยุทธ์แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ธุรกิจกำลังประสบกับปัญหาขาดทุน (รายจ่ายรวมมากกว่ารายรับรวม)

งบการเงินสำคัญอย่างไรต่อการทำธุรกิจ

งบการเงินหรืองบการเงินรวม คือ ภาพรวมทางการเงินของธุรกิจ ที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจหรือผู้ร่วมลงทุนสามารถเข้าใจสถานะทางการเงินของทั้งกิจการ ซึ่งงบการเงินจะมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจดังนี้

• สะท้อนภาพรวมทางการเงิน: ช่วยแสดงฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน รวมไปถึงกระแสเงินสดของทั้งธุรกิจ
• วิเคราะห์ประสิทธิภาพและผลการดำเนินงาน: ช่วยประเมินความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ รวมไปถึงติดตามผลลัพธ์จากกิจกรรมต่าง ๆ
• ประเมินความเสี่ยงในการลงทุน: นอกจากติดตามกระแสรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจ งบการเงินยังมีส่วนช่วยในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ และประเมินความมั่นคงของกิจการอีกด้วย
• เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน การให้สินเชื่อ รวมไปถึงการบริหารงาน
• เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน: ใช้เปรียบเทียบผลลัพธ์ทางการเงินกับในช่วงอดีต หรือใช้เปรียบเทียบกับคู่แข่ง
• เป็นแหล่งข้อมูลให้แก่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน เจ้าหนี้ ลูกค้า ผู้บริหาร หรือหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล

สรุปเกี่ยวกับงบการเงิน

งบการเงินกลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินธุรกิจ เพราะแม้ว่าจะวางแผนในการพัฒนาองค์กรหรือธุรกิจดีแค่ไหน แต่ถ้าหากไม่บริหารงบการเงินของบริษัทให้ดีก็มีโอกาสที่แผนจะล้มเหลวหรือเกิดปัญหาหนี้สินบานปลายได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่างบการเงินแต่ละประเภทก็จะให้ข้อมูลทางการเงินในมุมมองที่แตกต่างกัน การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจและวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจ จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและบริหารธุรกิจได้อย่างยั่งยืน