การกลั้นอุจจาระบ่อย อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย และทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น ท้องผูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ริดสีดวงทวาร ภาวะอุจจาระตกค้าง ลำไส้อุดตัน
หากรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาในการขับถ่าย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อทำการวินิจฉัยและป้องกันโรค และทำการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้แล้ว เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถตรวจยีนมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นการตรวจแบบเฉพาะเจาะจง ที่จะช่วยป้องกันและรู้ทันมะเร็งลำไส้จากพันธุกรรมได้
การกลั้นอุจจาระ อาจเป็นพฤติกรรมที่หลายคนทำเป็นปกติ เนื่องด้วยการดำเนินชีวิต ที่ไม่เอื้อต่อการเข้าห้องน้ำ เมื่อปวดอุจจาระและมีความรีบเร่งในชีวิตประจำวัน ก็ทำให้กลั้นอุจจาระจนเคยชิน แต่ทราบหรือไม่ว่า การกลั้นอุจจาระ สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายและอาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้
กลั้นอุจจาระบ่อย ส่งผลเสียอะไรบ้าง?
การกลั้นอุจจาระ อาจส่งผลเสียต่าง ๆ ต่อร่างกาย ดังนี้
ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา
ท้องผูกเรื้อรัง การกลั้นอุจจาระ จะทำให้อุจจาระที่ค้างในลำไส้ มีการถูกดูดซึมน้ำกลับมากขึ้น กลายเป็นก้อนแข็ง ส่งผลให้ถ่ายลำบากมากขึ้นหรือที่เรียกว่า “ท้องผูก” อาการท้องผูกหากเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง อาจเป็นอาการนำของโรคที่ร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
ริดสีดวงทวาร สืบเนื่องจากการที่อุจจาระที่ตกค้างในลำไส้ ถูกดูดซึมน้ำกลับมากขึ้น ทำให้มีลักษณะแข็ง ในการถ่ายแต่ละครั้ง ต้องมีการใช้แรงเบ่ง ทำให้เส้นเลือดที่ทวารหนัก มีการโป่งพอง ก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวารและอาการปวดได้ หากมีการโป่งพองมาก และถูกครูดด้วยอุจจาระที่แข็งก็อาจทำให้มีการแตก และมีเลือดออกได้
อาการของริดสีดวงทวาร อาจเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ มีก้อน มีอาการปวด ไปจนถึงมีเลือดออกมากได้
ภาวะอุจจาระตกค้าง เกิดจากการอุจจาระไม่หมด อาจทำให้มีภาวะท้องผูกที่รุนแรงขึ้น แน่นท้อง แน่นลม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ รับประทานอาหารได้น้อย นอนไม่หลับ
ลำไส้อุดตัน หากอุจจาระไม่เป็นเวลา จนอุจจาระกลายเป็นก้อนแข็งสะสมกันนานเข้า อาจทำให้ไม่สามารถถ่ายออกมาได้ เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งอาจต้องทำการแก้ไขโดยการผ่าตัด
นอกจากนี้หากมีการกลั้นอุจจาระจนท้องผูก และต้องใช้ยาระบายบ่อย ๆ อาจเกิดภาวะลำไส้ดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาไปเรื่อย ๆ
ดูแลตัวเอง เลิกนิสัยกลั้นอุจจาระ
จากผลเสียของการกลั้นอุจจาระดังที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่กลั้นอุจจาระ และฝึกการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้
ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน อาจเป็นเวลาเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังอาหารเช้า เนื่องจากร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ หลังจากได้รับอาหารมื้อแรก เราสามารถอาศัยกลไกตามธรรมชาตินี้ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้
ท่านั่งในการถ่ายอุจจาระ หากนั่งบนชักโครก ควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย มีที่วางเท้าเพื่อช่วยเสริมให้เท้าถึงพื้นหรือเข่างอเล็กน้อย คล้ายท่านั่งยอง
รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ หากมีอาการท้องผูก อาจเสริมอาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ชาหมัก เป็นต้น
ดื่มน้ำให้พอเพียง การรับประทานน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด การดื่มน้ำช่วยให้ผิวของเรามีความชุ่มชื้น สุขภาพดี และช่วยเรื่องระบบกระเพาะปัสสาวะ ระบบย่อยอาหาร กระตุ้นระบบการขับถ่ายป้องกันนิ่วและท้องผูก
ออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกาย ขยับตัวเป็นประจำ จะช่วยให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหว ระบบต่างๆ ในร่างกายเกิดการยืดหยุ่น สร้างความแข็งแรงต่อกล้ามเนื้อ ช่วยสร้างและรักษาภาวะสมดุลของร่างกาย ควบคุมน้ำหนัก
ไม่กลั้นอุจจาระ เมื่อมีอาการปวดควรขับถ่ายตามเวลา ฝึกการเข้าห้องน้ำให้เป็นสุขนิสัยติดตัว เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองในระยะยาว
หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย ควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรปล่อยไว้ จนอาการของโรคเรื้อรัง เพราะอาจจะส่งผลกระทบจนทำลายการใช้ชีวิตประจำวันได้ รวมถึงอาจจะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมา
การกลั้นอุจจาระ แม้อาจจะดูเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ หากรู้สึกว่าตนเองเริ่มมีปัญหาในการขับถ่าย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ถ้าระบบการขับถ่ายผิดปกติ อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับสุขภาพลำไส้ตามมา ได้แก่ ริดสีดวงทวารหนัก แผลปริที่ขอบทวารหนัก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ ฯลฯ
ดังนั้นหากระบบทางเดินอาหารมีปัญหา หรือขาดสมดุล ร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ขาดสมาธิ สุดท้ายอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้
เช็กความผิดปกติของตัวเองว่า มีปัญหาในเรื่องขับถ่ายหรือไม่?
ลักษณะของอุจจาระมีการเปลี่ยนแปลง
รู้สึกถ่ายไม่ออก ถ่ายไม่สุดนานติดต่อกันกว่าหนึ่งเดือน
อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อตรวจคัดกรอง และติดตามอาการเพื่อการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง เช่น NBI (Narrow Band Image) EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ Endobrain (เป็นprogram AI) ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งในการตรวจคัดกรองนั้น มีดังนี้
สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป (โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ)
หากตรวจพบ มะเร็งลำไส้และทวารหนักได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์จะสามารถประเมินผล เพื่อวางแผนในการรักษาต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ
การตรวจคัดกรองและรีบดำเนินการรักษา จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ตรวจยีนมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประมาณ 5% เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งได้รับยีนที่ผิดปกติมาจากบิดาหรือมารดา
ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ชนิดที่พบบ่อยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
Familial adenomatous polyposis (FAP)
Hereditary nonpolyposis colorectal cancer (HNPCC)
Familial adenomatous polyposis (FAP)
เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบประมาณ 0.5-1% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกลายพันธุ์ของยีน APC tumor suppressor gene โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและมากกว่า 99% จะพัฒนาเป็นมะเร็งในช่วงอายุก่อน 40 ปี
Hereditary Nonpolyposis Colorectal Cancer (HNPCC) หรือ Lynch Syndrome
เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่นเดียวกับ FAP แต่พบได้บ่อยกว่า คือ ประมาณ 3-5% ของผู้ที่เป็นมะเร็ง โรคนี้เกิดจากยีน MLH1, MSH2, MSH6 และ PMS2 ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรหัสพันธุกรรมเกิดการกลายพันธุ์ ปกติแล้วโรคนี้ตลอดช่วงชีวิต มีโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้สูงถึง 80%
อายุเฉลี่ยของการเกิดมะเร็งลำไส้อยู่ที่ประมาณ 40-50 ปี อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่อื่นๆ ได้อีก เช่น มดลูก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ไต และท่อทางเดินปัสสาวะ
การแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) ช่วยป้องกันและรู้ทันมะเร็งลำไส้จากพันธุกรรม
โรงพยาบาลสมิติเวช ผู้นำด้านการแพทย์แบบเจาะจง (Precision Medicine) มีการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจยีนขั้นสูง ในการดูแลสุขภาพเชิงรุกโดยค้นหารหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติในร่างกาย มีการนำมาใช้แพร่หลายในกลุ่มโรคมะเร็ง ซึ่งมีประโยชน์สำหรับ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้องการทราบว่ามียีนผิดปกติ ที่อาจส่งต่อลูกหลานได้ในอนาคตหรือไม่
ญาติสายตรงของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้องการทราบว่าในร่างกายของตนเอง มียีนผิดปกติที่ถ่ายทอดมาจากบิดามารดาหรือไม่ การตรวจยีนมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะช่วยให้แพทย์ด้านโรคทางพันธุกรรมหาแนวทางป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต แบบเฉพาะบุคคล เช่น วางแผนแนะนำอายุที่เหมาะสมที่ควรเริ่มรับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (คนทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงด้านพันธุกรรม จะเริ่มส่องกล้องที่อายุ 45 ปีขึ้นไป) วางแผนครอบครัว เตรียมตัวตั้งครรภ์ รวมถึงการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่ห่างไกลจากโรคมะเร็ง
ครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งชนิด FAP แนะนำญาติสายตรงที่ต้องการตรวจยีน สามารถเริ่มตรวจได้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป
ครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งชนิด HNPCC แนะนำญาติสายตรงที่ต้องการตรวจยีน สามารถเริ่มตรวจได้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป
สำหรับผู้ที่สุขภาพดี อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ที่ต้องการทราบว่า มียีนผิดปกติที่อาจได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดามารดาหรือไม่ ยีนมะเร็งจากพันธุกรรมนั้นอาจจะแสดงออกหรือไม่ก็ได้ในช่วงชีวิตหนึ่ง ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน พ่อหรือแม่ของเราอาจมียีนมะเร็ง แต่ไม่แสดงออก ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจยีนมะเร็งลำไส้ใหญ่ และรับคำปรึกษาโดยแพทย์ด้านพันธุกรรมที่จะให้คำแนะนำแบบเฉพาะบุคคล ผลการตรวจจะช่วยนำมาวางแผนการรักษาโรคที่จำเพาะเจาะจง
สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง Targeted Therapy จะเป็นการรักษาอย่างตรงจุด ผลข้างเคียงน้อย สามารถใช้ได้ในผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรงพอที่จะรับยาเคมีบำบัด ประสิทธิภาพในการรักษาสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับการให้เคมีบำบัดที่ได้ผลประมาณ 30%
วิธีการตรวจ และการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการตรวจ
หลังจากที่ได้รับคำแนะนำให้ตรวจยีนมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรมจากแพทย์ มีรายละเอียดการตรวจ ดังนี้
สามารถเข้ารับการตรวจได้ทันที โดยไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
การตรวจยีนทำโดยการเจาะเลือด และอ่านรหัสพันธุกรรมจากดีเอ็นเอในเม็ดเลือดขาว ใช้เวลารอผลประมาณ 2-4 สัปดาห์
หลังจากนั้นผู้เข้ารับบริการ จะได้รับการประเมินผลตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์ด้านโรคทางพันธุกรรมเพื่อเข้าสู่กระบวนการให้คำแนะนำทางพันธุศาสตร์ต่อไป
หากท่านเพิ่งได้รับเลือดมาจากบุคคลอื่นๆ ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 เดือน หรือขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์
อันตราย! กลั้นอุจจาระ เสี่ยงริดสีดวง-โรคมะเร็งลำไส้ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/109