แฟรนไชส์กูรู    คุณสมจิตร ลิขิตสถาพร สมาคมแฟรนไชส์ไทย (TFA)
2.7K
Q&A เทรนด์แฟรนไชส์ปี 2559 โดย นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย



สมาคมแฟรนไชส์ไทย เป็นสมาคมที่คอยให้คำปรึกษาในเรื่องของธุรกิจ และเรื่องที่เกี่ยวกับแฟรนไชส์ในประเทศไทย ให้แก่ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ต้องการถามปัญหาเรื่องแฟรนไชส์
 
วันนี้ทางเว็บไซต์ www.ThaiFranchiseCenter.com มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ที่อยู่ในวงการธุรกิจแฟรนชส์มานานหลายปี ในเรื่องเทรนด์แฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ที่น่าลงทุน ในปี 2559

 

คุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย
 
ถ้าคุณคือหนึ่งในคนที่กำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อที่จะลงทุนในปี 2559 รับรองว่าคำตอบของคุณสมจิตร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย เป็นประโยชน์แก่คุณแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านคำตอบดี ๆ จากคุณสมจิตรกันเลยค่ะ

: ให้คุณสมจิตรพูดถึงสถานการณ์โดยรวมของเทรนด์แฟรนไชส์ในปี 2558 ที่ผ่านมาหน่อยค่ะว่าเป็นอย่างไรบ้าง
 
: แฟรนไชส์ในรอบปีที่ผ่านมายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เด่นชัด จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงอยู่ในจำนวนบริษัท แฟรนไชซอร์มีอยู่ประมาณ 400-600 ราย และมีจำนวนผู้ประกอบการแฟรนไชซี่ คาดว่าประมาณ 90,000 -100,000 ราย
 


 
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ กิจการแฟรนไชส์ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก (ซึ่งมีรูปแบบในลักษณะของการขายส่งวัตถุดิบมากกว่า มีการตกแต่งร้าน และใช้ชื่อเบรนด์เดียวกัน)
 
ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดก็คือ
  • กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ให้ความสนใจ สร้างธุรกิจของตัวเองให้เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์กันมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ได้มีความรู้ในเรื่องของการจัดการร้านสาขา ระบบมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะทำให้รูปแบบการทำกิจการเปลี่ยนแปลงไป
  • ความต้องการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงได้รับความสนใจ แต่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์มักต้องการแฟรนไชส์ที่มีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และต้องการธุรกิจที่มีสินค้าได้รับความนิยม
: คุณสมจิตรคิดว่าเทรนด์แฟรนไชส์ในปี 2559 จะเป็นอย่างไร และคาดว่าจะมีอะไรแตกต่างจากปี 2558 บ้างไหมคะ
 
: ด้วยนโยบายของภาครัฐที่เน้นให้ความช่วยเหลือภาค SME ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์คือหนึ่งในนั้น ที่อยู่ในบัญชีที่จะได้รับการส่งเสริม แต่ไม่แน่ว่าวิธีการจะได้ผลเพียงไร อย่างไรก็ตามธุรกิจแฟรนไชส์น่าจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นจากปัจจัยหลายด้านคือ
  • นโยบายภาครัฐเน้นให้ความช่วยเหลือแฟรนไชส์ถึงแม้ว่าจะมากหรือน้อยก็ย่อมเป็นไปในทางบวก
  • ความสนใจของนักธุรกิจรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาในเรื่องของการสร้างระบบแฟรนไชส์กันมากขึ้น อาจมีผลทำให้ในวันข้างหน้าจะมีประเภทของแฟรนไชส์ที่หลากหลายมากขึ้นเช่น ธุรกิจบริการด้านรถยนต์ ด้านช่างบริการปรับปรุงบ้าน เป็นต้น
  • ความตื่นตัวด้านการเปิดตลาดอาเซียนจะผลักดันให้หลายคนคิดถึงการขยายสาขาที่ไกลออกไป โดยต้องการใช้รูปแบบของแฟรนไชส์เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย เกิดสาขาได้ทั่วตลาดอาเซียน
  • ภาคการเงินน่าจะมีความสำคัญที่สุด หากทุกสถาบันการเงินมีนโยบายจริงจังในการให้การสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ และมีกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้แฟรนไชส์มีการขยายตัวได้เร็วกว่า เห็นผลชัดกว่า
: ธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มใดบ้างที่คุณสมจิตรคิดว่าน่าลงทุน และคาดว่าจะเติบโตได้ดีในปี 2559
 
: " ธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหารยังคงเป็นกิจการที่ได้รับการตอบสนองมากที่สุดอยู่เช่นเดิม "
 
แต่ธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหารยังมีช่องว่างอยู่มาก เนื่องจากแฟรนไชส์กลุ่มอาหารที่ขายอยู่นั้น ยังอยู่ในประเภทร้านกาแฟ ร้านชานม ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านลูกชิ้น ซึ่งเป็นร้านอาหารที่อาจยังไม่ตรงใจของผู้ลงทุนนัก แต่ถ้าเป็นร้านอาหารไทยอร่อย ๆ ได้รับการปรับแต่งใส่คอนเซปต์ ใส่ระบบงานที่มีมาตรฐานเข้าไป ก็จะกลายเป็นแฟรนไชส์ที่จะได้รับการตอบรับที่เร็วขึ้น เช่น ร้านอาหารอีสาน ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดัง เป็นต้น
 
: ปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์น่าลงทุน มีอะไรบ้างคะ
 
: แน่นอนที่สุดคือมี ผลประกอบการดี หรือมีกำไรดี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการบริหารการจัดการร้านที่ใช่ เช่น เลือกทำเลถูกต้อง คุณภาพสินค้าเป็นที่ต้องการ มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ เป็นต้น
  • แบรนด์ดัง แฟรนไชส์ ที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักในตลาด สินค้าเป็นที่ต้องการของลูกค้า คือปัจจัยที่สำคัญ ที่ช่วยผู้ลงทุนไปครึ่งทางแล้ว ส่วนการดำเนินกิจการจะมาจากการทำงานร่วมกัน
  • ระบบมาตรฐาน ผู้ที่ขายแฟรนไชส์ต้องมีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์ ระบบควบคุมมาตรฐานสินค้าและบริการ และมีความชำนาญในธุรกิจนั้น ๆ อย่างแท้จริง
  • ความสัมพันธ์ อันดีระหว่างกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คู่ค้าทั้งสองฝ่ายทำธุรกิจร่วมกันได้อย่างราบรื่น
  • ความซื่อสัตย์ ของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันคือ ฝ่ายผู้ขายแฟรนไชส์ควรให้เกียรติแก่ฝ่ายผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่เป็นผู้ที่เป็นแขนขา นำสินค้าไปกระจายสู่ผู้บริโภค ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ก็ต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง และตั้งใจบริหารกิจการให้ประสบความสำเร็จ
: คุณสมจิตรมีเคล็ดลับที่จะแนะนำสำหรับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ไหมคะ ว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จในปี 2559 ที่ก้าวเข้าสู้ประชาคมอาเซียนแล้ว
 
: ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการนำแฟรนไชส์ไปสู่ตลาดอาเซียนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งคือเขาควรมีความสำเร็จในประเทศก่อน หลายกิจการ ที่มีฝัน แล้วกระโดดเข้าไปเลย จะเกิดผลเสียมากกว่า หากกิจการใดมีความสำเร็จในการทำแฟรนไชส์ในประเทศแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะไปสู่ตลาดอาเซียน แต่ที่สำคัญคุณต้องมั่นใจว่ากิจการที่คุณทำอยู่ เป็นสินค้า-บริการ ที่ตลาดต่างประเทศต้องการหรือไม่
 
" ธุรกิจประเภทที่ตลาดต่างประเทศสนใจคือ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ และ
 
ธุรกิจที่ตลาดต่างประเทศประทับใจเช่น อาหาร บริการด้านสุขภาพ ความงาม ศูนย์กีฬามวยไทย เป็นต้น"

 

 
 
: ขอคำแนะนำจากคุณสมจิตรหน่อยค่ะ สำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ที่อยากทำให้ธุรกิจของตนเป็นแฟรนไชส์ต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้างคะ
 
:
  • หาความรู้เกี่ยวกับแฟรนไชส์ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้เช่น ข้อมูลในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ หรือจากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน หรือจากหน่วยการของรัฐที่ส่งเสริม หรือจากสมาคมแฟรนไชส์ไทยที่มีตำรา การอบรมในเรื่องของการสร้างระบบแฟรนไชส์ ระบบบริหารร้านสาขา เรื่องการขายแฟรนไชส์ และการบริหารแฟรนไชส์ซี เป็นต้น
  • " เราต้องมีการประเมินธุรกิจของตัวเองก่อนว่า สามารถทำแฟรนไชส์ได้หรือไม่ " เช่น เป็นกิจการที่มีกำไรหรือยัง ถ้ายังต้องไปพัฒนาธุรกิจของตนเองให้มีกำไรก่อน ร้านเปิดมานานหรือยัง ถ้าเพิ่งเปิดได้ปีเดียว ความชำนาญยังไม่พอ ที่จะสอนให้ผู้อื่น ต้องประเมินตัวเองให้ชัด เพื่อทำให้มั่นใจว่ามีความพร้อมหรือไม่
  • ต้องมีร้านต้นแบบเพื่อจัดทำเป็นโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อการขายแฟรนไชส์ เช่น โครงสร้างทางการเงิน, ระบบการบริการ, ระบบการจัดการหน้าร้าน-หลังร้าน เป็นต้น
  • ต้องมีการจัดทำคู่มือ และระบบตรวจสอบมาตรฐานร้านอันเป็นหัวใจของการทำแฟรนไชส์
  • มีการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด และมุ่งมั่นในการสร้างความเป็นหนึ่งของตลาดของกลุ่มตัวเอง อันเป็นเส้นทางของความสำเร็จ
  • สิ่งเหล่านี้ เป็นจุดเริ่มต้น หากผ่านได้ ก็ควรหาความรู้เพิ่ม และทำไปทีละขั้นตอน ไม่ควรใจร้อน ข้ามขั้นไปสู่การขายแฟรนไชส์ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อม จะนำความสูญเสียมาให้มากกว่า
: ในปีหน้าทางสมาคมแฟรนไชส์ไทยมีโครงการที่จะจัดกิจกรรมใดบ้างคะ? เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทย
 
: กิจกรรมของทางสมาคมที่จะมีทุกๆปีก็คือ
  • การอบรมเรื่องสร้างระบบแฟรนไชส์,
  • อบรมเรื่อง ผู้จัดการร้านขั้นเทพ,
  • เรื่องขายแฟรนไชส์ และการบริหารแฟรนไชซี่,
  • เรื่องระบบบริหารร้านสาขา
  • การจัดสัมมนาใหญ่ และการออกบูท Franchide Guide & SME Guide 2016,
  • การ Coaching คือ ระบบพี่เลี้ยงธุรกิจ
  • การเทรนนิ่งภายในองค์กร ในหัวข้อต่างๆ
  • การอบรม ฟรี ให้แก่สมาชิกสมาคม ใน หัวเรื่องที่สมาชิกต้องการ
และถ้ามีโครงการใหม่อื่นๆ เราจะแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมภายหลัง

 
 
: แนวโน้มและทิศทาง ของสมาคมแฟรนไชส์ไทย มีปี 2559 จะมีการเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่
 
:
  • เน้นเรื่องการ Coaching การพัฒนาธุรกิจในระบบพี่เลี้ยง ที่เน้นไปสู่ในเชิงปฏิบัติอย่างได้ผล การอบรมจะได้ผลระดับหนึ่ง ที่ให้แนวทางการนำไปใช้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะหลายกิจการยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน และต้องลงมืออย่างไร ระบบพี่เลี้ยงจะช่วยให้แนวทางต่าง ๆ เกิดผลจริง มีผลงาน มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และช่วยให้ผู้ประกอบการมีระบบธุรกิจที่ก้าวหน้า ทันสมัย สามารถเติบโตได้ อย่างมั่นคง
  • ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ และ SME กรณีที่มีการแจ้งมา
  • เน้นในกิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อสมาชิกของสมาคมได้ตรงจุด เช่น เรื่องการสร้างร้านต้นแบบ เรื่องทำตลาดอย่างไรให้ได้เงิน เป็นต้น
จากคำตอบของคุณสมจิตร จะเห็นได้ว่าเทรนด์แฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2559 นี้ยังคงเป็นธุรกิจด้านอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยไหมคะ? และคำตอบในเรื่องอื่น ๆ นอกจากเทรนด์แฟรนไชส์ของปี 2559 แล้ว ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอย่างแฟรนไชส์ไหนที่น่าลงทุน

ปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์น่าลงทุน เคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณประสบความสำเร็จ คำตอบดี ๆ จากคุณสมจิตรเหล่านี้จะเป้นตัวช่วยให้คุณในเรื่องการตัดสินใจทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้นแน่นอน
 
ฉะนั้นทาง www.ThaiFranchiseCenter.com ขอมอบคำตอบดี ๆ ให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนที่คิดจะลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2559 นี้นะคะ สวัสดีปีใหม่ค่า
 
สมาคมที่คอยให้คำปรึกษาในเรื่องของธุรกิจและเรื่องที่เกี่ยวกับแฟรนไชส์ในประเทศไทยให้แก่ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ต้องการถามปัญหาเรื่องแฟรนไชส์ เว็บไซต์สมาคมแฟรนไชส์ไทย www.franchisefocus.co.th