แฟรนไชส์กูรู    คุณกวิน กิตติบุญญา บริษัท ไดเวอร์ซิไฟด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด
2.0K
25
งานแฟรนไชส์ TFBO 2016 ปีนี้มีอะไรน่าสนใจ


 
ปัจจุบันเป็นยุคของสังคมธุรกิจ คนโดยส่วนใหญ่มักมองหาโอกาสทางความสำเร็จที่จับต้องได้ชื่อของแฟรนไชส์จึงกลายเป็นธุรกิจมาแรงที่มีการเกิดและเติบโตเป็นจำนวนมากสินค้าทุกอย่างบริการมากมายหันมาสู่การสร้างแฟรนไชส์เพื่อขยายต่อให้ผู้ที่สนใจได้นำรูปแบบที่คิดค้นเป็นสูตรสำเร็จไปสานต่อเพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จในการลงทุนที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
www.ThaiFranchiseCenter.com ในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับแวดวงแฟรนไชส์มายาวนานมองเห็นไม่ต่างกันถึงความสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคต ดูได้จากต่างประเทศเองที่เรื่องของแฟรนไชส์กลายเป็นมาตรการสำคัญที่ทำเงินเข้าประเทศได้มหาศาล แน่นอนว่าการรุกคืบของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้ามาในประเทศไทยย่อมมีผลดีทั้งตัวเจ้าของแฟรนไชส์และผู้ลงทุนขยายสาขา 
 
 
ในทางกลับกันแฟรนไชส์ประเทศไทยเองทุกวันนี้ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากแต่ทิศทางเพื่อก้าวไปสู่สากลนั้นจะเป็นอย่างไร วันนี้เรามาพูดคุยกับคุณกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท ไดเวอร์ซิไฟด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด 

ในประเด็นที่น่าสนใจเหล่านั้นพร้อมทิศทางของงาน Thailand Franchise & Business Opportunities (TFBO) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2559 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
 
ความพร้อมของการจัดงาน Thailand Franchise & Business Opportunities (TFBO) ในปีนี้ 


 
การจัดงาน “Thailand Franchise & Business Opportunities 2016” (TFBO 2016) หรืองานแสดงแฟรนไชส์นานาชาติจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2559 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ

โดยงานในปีนี้มีผู้ร่วมจัดแสดงในงานกว่า 120 บริษัท จาก 10 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯและมีแฟรนไชส์กว่า 170 แบรนด์ ที่มาร่วมในงาน เพื่อมองหาผู้ร่วมทุนคนไทย ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการตั้งแต่เคยมีการจัดงานมา
 
 
คุณกวินให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนและผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจได้เลือกลงทุน ซึ่งมีงบลงทุนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้านบาท ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะมีนักลงทุนประมาณ 15,000 คน จากกว่า 30 ประเทศโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ อินโดจีน (กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม) มาชมงาน และคาดว่าจะมีการซื้อขายภายในงานไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท
 
 
“บริษัทเชื่อว่างาน TFBO 2016 จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคารที่ลดลงเรื่อยๆ ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 25-35 ปีมองหาโอกาสที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจเองและการจัดงานปีนี้ก็สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยที่มองหาช่องทางธุรกิจเพื่อการเติบโต และคงเป็นเรื่องที่ยากหากจะมีโอกาสได้เจอกับ
 
แบรนด์แฟรนไชส์ชั้นนำจากต่างประเทศจำนวนมาก และแน่นอนว่าหลังจากงานนี้จะเกิดนักธุรกิจหน้าใหม่อีกจำนวนมากและคาดว่าการเติบโตทางธุรกิจแฟรนไชส์จะขยายตัวได้อีกเยอะทีเดียว” คุณกวินกล่าวสรุปในตอนท้าย
 
แบรนด์ต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน TFBO ในปีนี้


 
กว่า 170 แบรนด์ จาก 10 ประเทศที่เข้าร่วมการจัดงานแน่นอนว่านี่คือโอกาสในการเลือกพิจารณาการลงทุนที่ไม่ใช่แค่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยแต่เป็นคนไทยที่อาจจะขยายสาขาแฟรนไชส์ตัวเองไปสู่ต่างประเทศได้มากขึ้นเช่นกัน

คุณกวินไล่เรียงแบรนด์สำคัญๆ จากประเทศต่างๆไม่ว่าจะ สหรัฐอเมริกา  จีน  เกาหลี  ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ให้ฟัง เช่น Subway, Caramel tree, Selecto Coffee, Seorae Galmaegi, Sulbing, Pizzamaru, Magal B.B.Q, Kkuldak, TOM n TOMs ฯลฯ รวมไปถึง Country Pavilions จากเกาหลีและจีนที่ต้องการหาผู้ร่วมทุนในไทยอีกด้วย
 
 
นอกจากแบรนด์ต่างประเทศที่เข้าร่วมงานแล้ว ยังมีแบรนด์แฟรนไชส์ไทย อาทิ  The Waffle, Hokkaido, Micro ink, IDO4IDEA, Coffman, Caffa, Coffee world, ดอยช้าง, Farm design, N&B Pancake, Fresh me, OCHAYA Tea, Chicken rap, Shogun Express, Fezt, Megumi Group, Ko ke kok ko ฯลฯ เพื่อให้นักลงทุนและผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจได้เลือกลงทุน กันตามความเหมาะสม
 
โดยคุณกวิน ยังกล่าวต่ออีกว่า  “นอกจากแบรนด์สินค้าที่มีมากมายแล้ว บริษัทฯ ยังจัดสัมมนาเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์โดยผู้เชี่ยวชาญตลอด 4 วัน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์และการลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มธุรกิจ นอกจากนี้แล้วยังมีการจับคู่ให้กับนักธุรกิจที่สนใจจะลงทุนอีกด้วย”  
 
ศักยภาพแฟรนไชส์ของไทยในปัจจุบันเติบโตขึ้นมากและแบ่งได้ เป็น 3 กลุ่มใหญ่



เมื่อภาคธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตแบบก้าวกระโดด ในประเทศไทยเองมีแฟรนไชส์เปิดใหม่น่าสนใจไม่ใช่น้อยภาพรวมยังมีแนวโน้มเดินหน้าได้ไม่สิ้นสุดแต่ทั้งนี้คุณกวินเองแบ่งอัตราการเติบโตของแฟรนไชส์ไทยออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ
  1. กลุ่มที่เติบโตเต็มที่มีสาขามากกว่า 50 แห่ง  เป็นผู้ประกอบการที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน เรียกว่าเป็นพวกแถวหน้าของวงการ ในนี้ก็มีหลายแบรนด์ที่คุณกวินบอกว่าสามารถโกอินเตอร์ไปต่างประเทศได้แล้วโดยในงานนี้ก็มีการเชิญแฟรนไชส์ในกลุ่มนี้มาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 40 แบรนด์
  2. กลุ่มที่มีสาขาตั้งแต่ 10-50 แห่ง เป็นกลุ่มที่อยู่ในระหว่างการฟูมฟักเพื่อให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อาจจะไม่มั่นคงในเรื่องของระบบ และบุคลากรมากพอ แต่ก็มีแนวทางที่สดใสกับการเตรียมออกไปสู่ต่างประเทศในอนาคตได้เช่นกัน
  3. กลุ่มที่มีสาขาไม่ถึง 10 แห่ง  นี่ถือเป็นกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มที่กำหนดทิศทางของแฟรนไชส์ในอนาคตว่าจะเติบโตได้มากแค่ไหน คุณกวินเรียกว่านี่คือกลุ่มแห่งการเริ่มต้นแน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือ “ความตั้งใจ” ที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย ถ้าการทำแฟรนไชส์มีแรงขับเคลื่อนที่ดีพอก็พร้อมจะลุยกับปัญหาและก็สามารถก้าวไปสู่ความมั่นคงได้อนาคตเช่นกัน
แนวโน้มการเข้ามาของแฟรนไชส์จากต่างประเทศในปี 2559 และข้อคิดที่แฟรนไชส์ไทยควรรู้

 
จากการติดตามของคุณกวินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาพบว่า มีแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาเปิดดำเนินกิจการในประเทศไทยแล้วมากกว่า 100 แบรนด์ ถ้านับเป็นสาขาก็มากกว่า 10,000 สาขา ซึ่งคุณกวินบอกว่า
 
“แฟรนไชส์ต่างประเทศที่เข้ามาส่วนใหญ่อยู่ในหมวดของร้านสะดวกซื้อและก็อาหารฟาสต์ฟู้ดจากยุโรป กลุ่มนี้ถือว่าเข้ามาและเติบโตจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยสิ่งที่เราควรเรียนรู้จากการเข้ามาของแฟรนไชส์เหล่านี้คือถ้าเป็นแฟรนไชส์ของไทยเองจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าไปกลมกลืนกับชีวิตคนต่างชาติเหมือนกับที่เราคุ้นชินกับอาหารของการกินของพวกเขาในปัจจุบัน”
 
นั้นหมายความว่าแบรนด์แฟรนไชส์ไทยเองมีศักยภาพในตัวเองมากพอแต่สิ่งที่ขาดน่าจะเป็นความเข้าใจและการเข้าถึงซึ่งก็เป็นเรื่องของ “พาร์ทเนอร์” ที่คุณกวินเสริมอีกว่า

 “การลงทุนแฟรนไชส์ก็เหมือนการเลือกคู่ถ้าเราจะไปเติบโตในต่างประเทศก็ต้องหาคู่ค้าที่เหมาะสม ดูถึงความสามารถที่เขามีกับการผลักดันแบรนด์แฟรนไชส์ของเราให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ ดูตัวอย่างจากคนไทยที่เอาแฟรนไชส์ต่างประเทศเข้ามาแล้วทำให้คนไทยด้วยกันติดใจจนเป็นเหมือนวัฒนธรรม กลับกันถ้าเราทำได้อย่างนั้นแฟรนไชส์แบรนด์ไทยก็ไปโกอินเตอร์ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก” 
 
“เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่คนทำธุรกิจแฟรนไชส์ต้องตระหนักคือ แรงขับ หรือว่า Drive  การทำงานที่มีความฝันย่อมทำให้ถึงเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น” 
 
การพัฒนาที่ถูกทางคือภาครัฐต้องให้ความเข้าใจระบบแฟรนไชส์มากขึ้น

 
 
แน่นอนว่าถ้าเรามองในมุมของการส่งเสริมปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนจากภาคเอกชนเป็นสำคัญ แตกต่างจากอเมริกาที่มีการส่งออกแฟรนไชส์จนนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาท 
 
คุณกวินกล่าวว่า “ส่วนราชการของไทยเองยังขาดความเข้าใจในเรื่องคำว่าแฟรนไชส์ที่ดีพอ การเบิกงบประมาณทุกครั้งจะคาดหวังว่าต้องมีผลงานที่เห็นชัดเจนในเวลาอันรวดเร็ว แต่การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ใช่การซื้อขายที่เอาเงินมาแล้วแลกของไป ผู้ประกอบต้องมีการพูดคุยกับตัวแทนในต่างประเทศถึงทิศทางและแนวทางการขยายแฟรนไชส์ที่ซื้อไป แน่นอนว่าต้องมีระยะเวลาพิสูจน์ ดังนั้นจะให้ดีและเร็วเหมือนที่ราชการคาดหวังย่อมเป็นไปไม่ได้”
 
ทั้งที่ความจริงการที่ต่างชาติซื้อแฟรนไชส์จากเราผลดีคือค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และเงินจำนวนมากที่ไหลเข้าสู่ประเทศทั้งแง่ของวัตถุดิบส่งออกและอุปกรณ์สำคัญและจำเป็นที่ผู้ลงทุนต้องซื้อจากแฟรนไชส์ซึ่งในระยะสัญญาเป็นตัวกำหนดชัดเจนว่าจะมีรายได้เข้าประเทศแค่ไหน แต่เบื้องต้นการผลักดันยังไปไม่ถึงจุดนั้น คุณกวินก็คาดหวังว่าในอนาคตคงเป็นการเดินร่วมกันที่มากขึ้นของเอกชนและราชการทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับแบบเท่าเทียมกันทั้งผู้ขยายแฟรนไชส์และก็ประเทศไทยเอง
 
 
ซึ่งงาน TFBO ที่จัดนี้หวังเป็นส่วนหนึ่งว่านอกจากการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจแฟรนไชส์ได้มีโอกาสเติบโตอย่างสดใสก็ต้องการให้ภาคราชการได้เห็นศักยภาพและทิศทางที่แท้จริงว่าธุรกิจแฟรนไชส์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศเป็นอย่างมาก แม้ตอนนี้ทิศทางจะเริ่มดีขึ้นมากแต่ก็หวังว่าหลังจากงานนี้เป็นต้นไปในปีหน้าและปีต่อๆไปแนวโน้มของการเติบโตจะเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้นไปเรื่อยๆ
 
สนใจร่วมงานหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/miJ1Eu