แฟรนไชส์กูรู    คุณกวิน กิตติบุญญา
8.6K

ล้วงลึก ทำแฟรนไชส์อย่างไรให้สำเร็จ ในปี 2551
คุณกวิน กิตติบุญญา (บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด)



ล้วงลึก ทำแฟรนไชส์อย่างไรให้สำเร็จ ในปี 2551
คุณกวิน กิตติบุญญา (บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด)



: อยากทราบประวัติที่มาของท่านโดยย่อ (เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้อ่านทราบ)


: ผมจบการศึกษาจาก Assumption Commercial College และเรียนต่อ Mini MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมมีประสบการณ์ในการทำงานกว่า 30 ปี จากองค์กรชั้นนำในระดับโลกและในประเทศ ประวัติการทำงานโดยย่อ เริ่มจากการเป็นครูที่ Assumption Commercial College จากนั้นได้เริ่มคลุกคลีในวงการหนังสือพิมพ์อยู่ในกองบรรณาธิการ ข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และ The Nation

ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักธุรกิจชั้นนำ และผู้บริหารระดับสูงของประเทศ จากนั้นได้หันเหเข้าสู่วงการธุรกิจโดยเฉพาะวงการธุรกิจการค้าปลีกตั้งแต่ นั้นมา โดยเริ่มทำงานที่ Mcdonald’s ประเทศไทย ดูแลเรื่องการหาทำเลและขยายสาขา และเป็นจุดเริ่มต้นของพื้นฐานความเข้าใจเป็นอย่างดีในธุรกิจแฟรนไชส์


หลังจากนั้น 3 ปี ได้ย้ายไปทำงานกับเครือ Land & Houses โดยดูแลรับผิดชอบเรื่องการขายพื้นที่ที่ศูนย์การค้า Fashion Island รามอินทรา ตั้งแต่ยุคเริ่มก่อสร้างศูนย์การค้า ต่อมาได้รับมอบหมายให้ช่วยงานบริษัทในเครือ Land & House ที่ศูนย์การค้า เกสรพลาซ่า แยกราชประสงค์


จากนั้นก็ได้ร่วมงานกับบริษัท Minor Food Group ซึ่งมี แบรนด์แฟรนไชส์อยู่ถึง 4 แบรนด์ ประกอบด้วย Pizza Hut (ในขณะนั้น แต่ปัจจุบันเป็น Pizza Company) Swensen’s Sizzler และ Dairy Queen หลังจากที่ได้สั่งสมประสบการณ์มานานกว่า20 ปี จึงได้เริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง และเป็นที่มาของการจัดงาน Thailand Franchise & Business opportunities (TFBO) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว





: ช่วยเล่าให้ฟังถึงบทบาทหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ทำอยู่ในปัจจุบันและอนาคต, และที่มาที่ไปของบริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด


: ผมมองเห็นว่างานแสดงสินค้าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ จึงได้เริ่มลองทำธุรกิจงานแสดงสินค้าเริ่มจากขนาดเล็กก่อน ซึ่งมีขนาดพื้นที่จัดงานเพียงแค่ 200-300 ตรม. และได้ขยายขนาดพื้นที่ของการจัดงานขึ้นไปเรื่อยๆจนถึง 20,000 ตรม. โดยจัดทั้งในรูปแบบของงาน Consumer Show (B to C) และ Trade Show (B to B) บริษัทมีผลงานการจัดแสดงงานมากมาย อาทิ Thailand Expo 2004 และ 2005 Thailand Franchise & Business Opportunities ตั้งแต่ปี 2005 (3ปีซ้อน) Thailand Retail, Food & Hospitality Services 2008 จัดเป็นปีที่2 งานThailand Franchise & SME Expo 2ปีซ้อน และงาน Thai Gas & Enertech 2008 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้


สำหรับธุรกิจ Franchise นั้นผมคิดว่าศักยภาพของประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชี่ยน ไม่ว่าจะดูจากจำนวนประชากร กำลังซื้อ และจำนวนนักท่องเที่ยว โดยสังเกตได้จากการที่มีแฟรนไชส์ต่างประเทศสนใจเข้ามาเปิดสาขา เป็นจำนวนมาก หรือการที่มีแบรนด์แฟรนไชส์ของไทย (Home grown brand) เติบโตขึ้นมาเป็นจำนวนมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ที่ประสบความสำเร็จในการขยายสาขาในต่างประเทศ




: ทราบข่าวว่า ทางบริษัทฯจะจัดงานแสดงสินค้า&ธุรกิจแฟรนไชส์ ช่วยเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของงานครับ


: งาน TFBO 2008 เป็นงานแสดงธุรกิจแฟรนไชส์และโอกาสทางธุรกิจแบบครบวงจรเป็น
ปีที่4 และใหญ่ที่สุด ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ยังใหญ่ที่สุดในเอเชียอีกด้วย โดยมีบริษัทชั้นนำจากในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานประมาณ 10 ประเทศ จำนวนกว่า 220 บูธ และมีธุรกิจเกือบ 20 ประเภท


เพื่อให้นักลงทุนที่มองธุรกิจการลงทุนใหม่สามารถมาเลือกชมได้ นอกจากนี้งาน TFBO ยังจัดขึ้นพร้อมกันกับงาน Thailand Retail, Food & Hospitality Services (ปีที่2) งานแสดงนานาชาติเกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์ของใช้และวัตถุดิบอาหาร สำหรับธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร จัดเลี้ยง คอฟฟี่ช็อป เบเกอรี่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ ค้าปลีก ภายใต้ Concept “ 2 in 1” บนพื้นที่รวม 10,000 ตรม. ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม นี้ ณ ศูนย์การแสดงสินค้า ไบเทค บางนา


ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกของเมืองไทยและในอาเชี่ยน ที่มีงานแสดงใหญ่ 2 งานที่เกื้อกูลกันและกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับนักลงทุนที่สามารถจะเข้ามาชมงาน 2 งานภายในวันและเวลาเดียวกัน
นอกจากงานแสดง ภายในงานยังมีกิจกรรมมากมายอาทิ การแข่งขัน F&B Workshops และการสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากมาย ผู้สนใจสามารถคลิกไปที่ www.thailandfranchising.com





: ในมุมมองของผู้จัดงานแฟรนไชส์คิดว่า สิ่งสำคัญที่ผู้เข้าชมงานต้องการคืออะไร?


: ผมคิดว่าสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นคือ ความหลากหลายของประเภทธุรกิจทั้งในแนวกว้างและแนวลึก มีงบลงทุนให้เลือกหลายขนาด อีกทั้งยังมีสถาบันการเงินและทำเลที่ตั้งพร้อมที่จะให้นักลงทุนตัดสินใจได้


นอกจากนี้ ผมคิดว่าผู้เข้าชมงานน่าจะสนใจที่ต้องการฟังสัมมนาในธุรกิจประเภทต่างๆ เพื่อหาความรู้ความเข้าใจในธุรกิจที่เขาสนใจอยากจะลงทุน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีอยู่พร้อมเพรียงในงาน TFBO 2008 นอกเหนือจากงานแสดงแล้ว ภายในงานยังมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจประมาณ 10 หัวข้อ ซึ่งจะบรรยายโดยผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจแฟรนไชส์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก และบริษัทชั้นนำในประเทศไทยมาให้ความรู้ฟรีกับผู้เข้าชมงานอีกด้วย




: จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แฟรนไชส์ที่ดี ควรเป็นอย่างไร


: ผมอยากให้แนวคิดเป็นประเด็นๆ ดังนี้
1) ทัศนคติของเจ้าของแฟรนไชส์นั้นๆว่าตั้งใจทำจริงจังขนาดไหน
2) มาตรฐานระบบแฟรนไชส์ ความพร้อมและความสนับสนุนของผู้ขายที่จะมีให้นักลงทุน
3) ประสบการณ์หรือจำนวนสาขาที่มี ทีมงานและความพร้อมในการที่จะให้บริการนักลงทุนที่จะมาซื้อหรือลงทุนในธุรกิจนั้นๆ





: ท่านคิดเห็นอย่างไรสำหรับสถานการณ์ของแฟรนไชส์ไทยในปัจจุบันนี้


: ถ้าพูดโดยรวมผมยังเชื่อมั่นว่าระบบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นสิ่งที่ดีใน การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ที่มาจากต่างประเทศและเติบโตในประเทศ หรือจะเป็นแฟรนไชส์ที่ฟูมฟักและเติบโตในประเทศ อย่างไรก็ดี การจะเลือกซื้อหรือลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ลงทุนควรจะต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน


ผมอยากเปรียบเทียบการเลือกซื้อแฟรนไชส์เหมือนกับการหาแฟนหรือคู่ครอง นักลงทุนควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่ผมอยากเรียกว่าบัญญัติ 9 ประการ ก่อนตัดสินใจมาลงทุน ประกอบด้วย ประวัติของผู้ขาย จำนวนสาขา ตรวจเช็คข้อมูลจากแฟรนไชส์ของผู้ขาย ศึกษาข้อมูลรายละเอียดของธุรกิจ อย่าหลงเชื่อผลตอบแทนการลงทุนที่สูง
ค่าใช้จ่ายในการซื้อ ศึกษา/ขอข้อมูลระบบแฟรนไชส์ และสัญญา/การแต่งงาน




: ในมุมมองของท่าน เชื่อว่าแฟรนไชส์ไทย จะได้ขยายตลาดไปสู่เวทีโลกได้หรือไม่ อย่างไร? และอยากให้ช่วยแนะเคล็ดลับ ทำอย่างไรให้แฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ

: ผมเชื่อมั่นค่อนข้างสูงว่าแบรนด์แฟรนไชส์ของคนไทยมีศักยภาพจำนวนไม่น้อย โดยจะสังเกตได้จากจำนวนผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยที่ประสบความสำเร็จ ในการบุกเบิกตลาดต่างประเทศจากเพียงไม่กี่ราย เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็นกว่า 10 ราย ในปัจจุบัน อาทิ โคคาสุกี้, Smart Brain, Pizza Company, Black Canyon, Max Digital Technology, Smart English และ Car-Lack68 เป็นต้น


ผมขอแบ่ง key to success ในการขยายตลาดไปต่างประเทศเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ตัวผู้ประกอบการเอง จะต้องมีความพร้อมในเรื่องระบบและทีมงาน และต้องเข้าใจถึงกฎหมาย ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณีของประเทศที่ตนสนใจจะไปขยายและเปิดสาขา ส่วนที่สองคือภาครัฐ ผมคิดว่า ถ้าภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาระบบ และขีดความสามารถในกับแฟรนไชส์ไทย ก็จะช่วยผู้ประกอบการไทยในการลดต้นทุน เพื่อเจาะตลาดในต่างประเทศ และในที่สุดผลลัพธ์ที่ดีก็จะกลับมาสู่ประเทศไทยในระยะยาว เช่นเดียวกับแบรนด์ดังๆของโลก อาทิ Mcdonald’s KFC Pizza Hut เป็นต้น



: แฟรนไชส์ประเภทใดที่ท่านเห็นว่า ยังมีโอกาสเติบโตได้สูงในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ อาหาร, การศึกษา ฯลฯ


: ในมุมมองของผมแฟรนไชส์ทุกประเภทมีโอกาสเติบโต แต่ที่ค่อนข้างจะเห็นว่าโดดเด่นและเติบโตในอัตราที่สูง คือ อาหาร และเครื่องดื่ม สำหรับTrend ที่กำลังมาแรง คือ กาแฟ เบเกอรี่ ไอศกรีม และตู้หยอดเหรียญทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้น้ำ ตู้น้ำมัน และตู้เติมเงินมือถือ เพราะไลฟ์สไตล์ของคนเริ่มเปลี่ยนและมองหาความสะดวกสบายมากขึ้น



: อยากเห็นอะไรในแวดวงธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ในอนาคต


: ในฐานะของคนที่เคยอยู่ในวงการแฟรนไชส์มา ผมฝันอยากจะเห็นแฟรนไชส์ไทยเป็นเบอร์ 1 ในอาเชี่ยน ทั้งในด้านของคุณภาพของแฟรนไชส์ที่มีอยู่ในระบบ อยากเห็นผู้ประกอบการที่มีความจริงใจ และตั้งใจที่จะใช้ระบบแฟรนไชส์ในการพัฒนาและขยายธุรกิจ และไม่ใช่การตีหัวเข้าบ้านเพียงเพื่อจะหลอกเอาเงินจากนักลงทุน



: ช่วยฝากข้อคิดเห็น หรือ คำแนะนำ สำหรับผู้สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ บรรดาแฟรนไชส์ซอร์ทั้งหลายในประเทศ


: สำหรับแฟรนไชส์ซอร์หรือผู้ขายแฟรนไชส์ ผมอยากเห็นทุกๆท่านเติบโต และอยากเห็นท่านมีจริยธรรมและคุณธรรม ในการเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจจะซื้อธุรกิจของท่าน อยากให้ท่านไตร่ตรองและคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนให้ดีพอสมควร เพื่อป้องกันความไม่เข้าใจกันในเวลาต่อไป
สำหรับผู้สนใจจะลงทุน อยากให้ท่านใช้ความรอบคอบ ใช้เวลาในการพินิจพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน และอย่าได้ยึดติดกับโปรโมชั่นที่ผู้ขายนำเสนอเพียงอย่างเดียว







Kavin Intertrade Co., Ltd.


159 อิสรภาพ ซอย 4, ถ.อิสรภาพ
เขตคลองสาน, กทม. 10600
โทร: 02 861 4013 (อัตโนมัติ 4 สาย)
แฟกซ์: 02 861 4010

www.kavinintertrade.co.th
Email : info@kavinintertrade.co.th