แฟรนไชส์กูรู    คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
7.2K

การรับมือกับภาวะทางเศรษฐกิจของธุรกิจแฟรนไชส์ ในปี 2552 คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล (นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย ) 
      

 


 

 : ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ควรปรับตัวอย่างไร? ในมุมมองของท่าน

 : อันที่จริงในทุกวิกฤติ มักมีโอกาสตามมาด้วยเสมอ

ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของ “แฟรนไชส์ซี”คือต้องรีบมองหาโอกาสจากวิกฤติให้พบก่อนคู่แข่ง

มีตัวแปรหนึ่งที่ดิฉันคิดว่ามีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในภาวะที่คนถูกเลย์ออฟเป็นจำนวนมาก กลุ่มคนจำนวนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ได้เงินก้อนจากบริษัท เรียกว่ามีเงินที่พร้อมลงทุน และ กลุ่มที่ออกมาตัวเปล่าหรือได้เงินชดเชยมาจำนวนไม่มากนัก เรียกว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินลงทุน

หากแต่คนทั้งสองกลุ่มนี้ เมื่อไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาคแรงงานได้ ส่วนใหญ่ก็มักเกิดความคิดที่จะลงทุนในธุรกิจส่วนตัว

ในภาวะคนตกงาน นี่คือ “โอกาส” ที่ดี สำหรับ “แฟรนไชส์ซี” เพราะมี Demand เพิ่มมากขึ้น

หากแต่มีเรื่องน่าคิดอยู่เรื่องหนึ่งสำหรับกลุ่มคนตกงานที่มีเงินลงทุน หรือ Demand ที่มีศักยภาพ ดิฉันเชื่อว่า เหล่าบรรดา “แฟรนไชส์ซี”ทั้งหลายคงจ้องแย่งชิง แฟรนไชส์ซี รายใดที่คิดจะเข้าสู่ตลาดนี้ก็คงต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเจอศึกหนักจากคู่แข่ง เรียกว่า เป็นตลาดที่มี “โอกาส” แต่ไม่ “หมู”


หากแต่ดิฉันกลับมองเห็นโอกาส จากตลาดกลุ่มคนตกงานที่ไม่มีเงินก้อนมากกว่า เพราะหาก “แฟรนไชส์ซี”รายใด คิดสูตรธุรกิจที่ Win-Win สำหรับตลาดนี้ได้ก่อน ย่อมมีโอกาสตักตวงประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนตกงานจำนวนมากนี้ได้มากกว่า เพราะจะไร้คู่แข่งในทันที
แน่นอนว่านี่คือเรื่องยาก แต่หากใครแก้โจทย์ยากนี้ได้ก่อน ก็ย่อมมีโอกาสสร้าง “น่านน้ำสีคราม” (Blue Ocean) ขึ้นมาได้ คงต้องปล่อยให้เป็นโจทย์ของบรรดา “แฟรนไชส์ซี” ทั้งหลายได้ขบคิดกัน

หากแต่มีสิ่งหนึ่งที่ดิฉันอยากฝากไว้ เป็นสิ่งที่ดิฉันอยากเห็นมันเกิดขึ้นสักครั้งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยเฉพาะกับบรรดา “แฟรนไชส์ซี” เล็กๆ ที่มีเจตนาที่ดี สินค้าที่ดี แต่มีฐานทุนที่ไม่ใหญ่พอ

ดิฉันอยากเห็นการ “รวมตัว” เป็นกลุ่มก้อน เพื่อเพิ่มพลัง และ อำนาจ ในการต่อรอง ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี

ขอยกสักตัวอย่าง สำหรับกลุ่ม “แฟรนไชส์ซี” ประเภทอาหาร
ในฐานะสื่อที่ได้มีโอกาสคลุกคลี ปัญหาใหญ่ที่พบสำหรับ แฟรนไชส์ซี กลุ่มนี้ คือ ส่วนใหญ่มักติดปัญหาเรื่อง “แฟรนไชส์ซอร์” ไม่มีทำเล ซึ่งทำให้การขายแฟรนไชส์มักหยุดชะงัก

หากบรรดาแฟรนไชส์ประเภทอาหาร-เครื่องดื่ม ที่ต่างชนิดกัน มารวมตัวกัน อาทิเช่น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เย็นตาโฟร์ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ฯลฯ แล้วมาร่วมกันหาทำเล เป็นเจ้าของทำเล และ สร้างทำเลขายอาหารให้มีศักยภาพร่วมกัน  ดิฉันเชื่อว่าจะเปิดทางตันออกไปได้อีกมาก

ด้านหนึ่งนี่คือการลงทุนที่ดีกว่าการออกไปสร้างตลาดด้วยลำพังเพียงคนเดียว และการแชร์เม็ดเงินโฆษณาร่วมกัน ก็จะช่วยประหยัดไปได้มาก อีกทั้งยังเป็นอำนาจต่อรองที่สำคัญกับบรรดาซัพพลายเออร์ อาทิการขนส่ง เพราะทุกเจ้าจัดส่งในที่เดียว ซึ่งน่าจะช่วยประหยัดต้นทุนเรื่องนี้ไปได้มาก
อีกด้านหนึ่งช่วย “แฟรนไชส์ซอร์” ที่ไม่มีทำเลค้าขายแต่มีความตั้งใจจริง ก็จะเป็นการถ่างตลาดคนซื้อแฟรนไชส์ให้กว้างออกไป และ เมื่อแฟรนไชส์ซอร์อยู่ได้ แฟรนไชส์ซีก็อยู่ได้

ไม่เพียงแค่แฟรนไชส์ประเภทอาหาร ทุกแฟรนไชส์ก็สามารถ “รวมพลัง” (Synergy) กันได้ในหลากหลายวิธี

หากใครสนใจแนวคิดนี้และไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ทาง นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย ก็พร้อมเป็นสื่อกลางประสานงานให้มาเจอกัน พูดคุยกัน ติดต่อมาได้ค่ะ ที่หมายเลข 02-704-79858 

หากนี่เรียกว่าการปรับตัว ดิฉันก็อยากเห็นสิ่งนี้แหละค่ะ เกิดขึ้นกับ “แฟรนไชส์ซี” รายเล็กๆ ในเมืองไทย


 

 : ท่านคิดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าข่ายหลอกลวง หรือ มีลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ควรจะมีมาตรการใดมากำกับดูแล หรือไม่อย่างไร?
 

 : เรื่องนี้คงต้องฝากให้หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้ตอบ เพราะอันที่จริงเมืองไทยก็มีกฎหมาย และ หน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างพร้อมอยู่แล้ว อาจต้องกวดขันเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

ในฐานะสื่อ ดิฉันคงทำได้เพียงให้ความรู้กับผู้ที่คิดจะซื้อแฟรนไชส์ ว่าควรเลือกแฟรนไชส์อย่างไร จึงจะไม่ถูกหลอก
 


 : ในมุมมองของท่าน ท่านคิดว่าผู้สนใจแฟรนไชส์ หรือ นักลงทุนที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ คาดหวังอะไรบ้างกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีให้เลือกตามท้องตลาด
 

 : ตอบแบบหลักวิชาการ ก็ต้องบอกว่า หนึ่งคือ “ระบบ” ที่ดี สองคือ “สินค้าและบริการ” ที่ดี และ สามคือ “การโฆษณาประชาสัมพันธ์” ที่ดี จนแบรนด์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ซึ่งจะทำให้ขายสินค้าได้ง่ายแต่ถ้าตอบด้วยหลักของจิตใจ ก็ต้องบอกว่า ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องการแฟรนไชส์ที่จริงใจ ไม่มุ่งหวังแต่กำไร จนลืมคิดถึงความอยู่รอดของแฟรนไชส์ซอร์  


 

 : ช่วยฝากข้อคิดเห็น หรือ คำแนะนำ สำหรับผู้สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ บรรดาแฟรนไชส์ซอร์ทั้งหลายในประเทศ
 

 : การเลือกซื้อแฟรนไชส์ อันดับแรกต้องศึกษาเจ้าของแฟรนไชส์ ว่าน่าเชื่อถือเพียงใด มั่นคงเพียงใด แล้วค่อยมาพิจารณาถึง “ระบบ” ว่าแฟรนไชส์นั้นๆ มีระบบการบริหารจัดการที่ดีให้มาด้วยหรือไม่ สุดท้ายคือเจ้าของแฟรนไชส์ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน เพราะหากไม่เคยมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่น้อย ผู้บริโภคก็จะไม่รู้จัก การขายสินค้าและบริการก็จะยากตามไปด้วย

หากแฟรนไชส์รายใดมีพร้อมทั้ง 3 อย่างที่พูดมาก็ถือได้ว่าน่าลงทุน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น ทำเล ความตั้งใจ ความขยัน ภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ

สิ่งที่อยากฝากจริงๆ คือ “ความโลภ” ตัวนี้เป็นอันตรายอย่างมาก
แฟรนไชส์ซอร์รายใดที่พอเริ่มขายได้ ก็มักเลี่ยงระบบ เลี่ยงกฎที่แฟรนไชส์ซีตั้งไว้ เช่นแอบไปหาซื้อวัตถุดิบเองซึ่งถูกกว่า แต่ไม่มีคุณภาพมากพอ หรือ คุณภาพเปลี่ยนไป มาแทนวัตถุดิบที่ต้องซื้อจากแฟรนไชส์ซี เพื่อให้ได้กำไรที่มากกว่า

สุดท้ายพอถูกจับได้ก็เกิดปัญหาฟ้องร้องตามมา และ ก็ต้องออกจากแฟรนไชส์

ขณะที่แฟรนไชส์ซี ที่เจอกับแฟรนไชส์ซอร์ ประเภทนี้ ก็ต้องเสียชื่อเสียง แบรนด์เสียหาย จากคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
ไม่มีฝ่ายไหนได้ผลดีจาก “ความโลภ” เรียกว่าเสียหายทั้งคู่ ตรงนี้ต้องฝากไว้




คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
กรรมการผู้จัดการ

บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด
47,49 ซอยลาดพร้าว 140 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทร 0-27047957-8
โทรสาร 0-27047863
e-mail: somjaiv@hotmail.com









หมายเหต: บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ © ของThaiFranchiseCenter.com
หากต้องการนำไปใช้ กรุณาแจ้งให้ทราบ
info@thaifranchisecenter.com