2.9K
25 พฤศจิกายน 2556
ไทยจับมือสหภาพยุโรป สร้างเครือข่ายความร่วมมือเอสเอ็มอี


 
ประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ สสว. จับมือกระทรวงอุตสาหกรรมและกิจการวิสาหกิจของสหภาพยุโรป มุ่งเชื่อมเครือข่ายและความร่วมมือด้าน SMEs ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือเชิงนโยบาย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรธุรกิจระหว่างกัน

เชื่อมั่นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง และสร้างโอกาสให้ SMEs ไทยเข้าสู่ตลาดใน 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รวมทั้งเพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็นประตูเชื่อมต่อสหภาพยุโรปสู่ภูมิภาคอาเซียน รองรับการเข้าสู่ AEC ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้
 
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยและสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องยาวนานภายใต้ความร่วมมือในมิติที่หลากหลาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน ซึ่งกลุ่มสหภาพยุโรปนับเป็นตลาดการค้าหลักที่สำคัญในลำดับต้นๆ ของไทย เห็นได้จากตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ในปี 2555 มีมูลค่ารวม 1,296,444 ล้านบาท โดยการส่งออกสินค้าไทย มีมูลค่า 674,064 ล้านบาท และการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป มีมูลค่า 622,380 ล้านบาท
 
ในส่วนของ SMEs มีมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปรวม 456,927 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกสินค้าไทยมีมูลค่า 200,979 ล้านบาท ประเทศที่ SMEs ส่งออกสินค้าไปมากที่สุด ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเบลเยี่ยม สินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือสัตว์น้ำ

ส่วนการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปมีมูลค่า 255,948 ล้านบาท ประเทศที่ SMEs ไทยนำเข้าสินค้ามากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักร สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมทั้งยานยนต์และส่วนประกอบ
 
 
 
“ด้วยความสำคัญของการเป็นตลาดคู่ค้าหลัก ขณะที่ไทยและสหภาพยุโรปต่างก็ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ จึงมุ่งที่จะพัฒนาเงื่อนไข และกรอบการดำเนินงานของ SMEs ด้วยการลดภาระการบริหารจัดการ และส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ก้าวสู่ระดับสากล โดยมองว่าตลาดทั่วโลกยังมีช่องทางธุรกิจที่ SMEs จะได้รับประโยชน์จากโอกาสที่อำนวยให้ ดังนั้นไทยและสหภาพยุโรปจึงมุ่งหวังจะให้เกิดความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้นระหว่าง SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ” นายประเสริฐ กล่าว
 
สำหรับความร่วมมือของไทยกับสหภาพยุโรป ภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการหารือเชิงนโยบายด้าน SMEs ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงานของ SMEs เพื่อพัฒนากรอบนโยบาย SMEs สมัยใหม่ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเป็นผู้ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้น 2.การส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง SMEs ของไทยและสหภาพยุโรป และ 3.การหารือเชิงนโยบายด้าน SMEs เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเพิ่มความร่วมมือในระดับทวิภาคี

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานสู่ความเป็นเลิศเพื่อให้เกิดการตรากฎหมายที่เอื้อต่อ SMEs และการยกระดับ SMEs สู่สากล การปรึกษาหารือด้านธุรกิจของภาครัฐ-เอกชน และความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง SMEs ของไทยและสหภาพยุโรป การสนับสนุนความร่วมมือเกี่ยวกับ SMEs ในด้านต่างๆ ซึ่งไทยและสหภาพยุโรปจะมีการระบุภาคส่วนเป้าหมายอีกครั้ง
 
ในการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะทำหน้าที่เป็นคู่ลงนามฝ่ายไทย ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกิจการวิสาหกิจของสหภาพยุโรปเป็นคู่ลงนามฝ่ายสหภาพยุโรป ทั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบประเด็นที่กระทบ SMEs เป็นการเฉพาะ เช่น การแต่งตั้ง SME Envoy ในกรณีของสหภาพยุโรป  และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อเป็นประธานร่วมในการหารือเชิงนโยบายด้าน SMEs ระหว่างสหภาพยุโรปกับราชอาณาจักรไทย
 
 
 
“เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย ในการเข้าสู่ตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ และสามารถใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทยและภาคเอกชนไทย ในการเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการ และเป็นประตูที่เชื่อมโยงสหภาพยุโรปสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนรองรับการเข้าสู่ AEC ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้ ได้อีกด้วย” นายประเสริฐ กล่าว
 
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มีผลสืบเนื่องจากการมาเยือนไทยของนาย Antinio Tajani รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านอุตสาหกรรมและกิจการวิสาหกิจ ซึ่งนำคณะนักธุรกิจจากสหภาพยุโรป เยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนามและไทย ระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2556 ภายใต้โครงการ Mission for Growth เพื่อพัฒนาความร่วมมือ ขยายลู่ทางการค้าการลงทุน ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชนในภูมิภาคนี้

โดยมีกลุ่มผู้ร่วมเดินทางซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นนำจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกว่า 60 คน ในสาขาเกษตร สิ่งทอ การผลิตวัตถุดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรธุรกิจที่สำคัญต่างๆ ของสหภาพยุโรป เช่น Business Europe / European Association of Craft, Small and Medium-sized Enterprises (UEPME)/ Eurochambres/ Cooperatives Europe เป็นต้น

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
มูฟ อีวี เอกซ์ แฟรนไชส..
2,102
ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ทรา..
1,009
สาขาใหม่มาแล้ว! #แฟรนไ..
645
แฟรนไชส์สะดวกล้างมาแรง..
634
อยากรวยเชิญทางนี้! ธงไ..
607
“โมโม่เชค” แฟรนไชส์ชาน..
592
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด