หน้าธุรกิจเหลือเชื่อ!    ในประเทศ    ปฐมบทความรู้ "สิทธิที่มี สัญญาที่ได้"
1.5K
11 เมษายน 2567
ปฐมบทความรู้ "สิทธิที่มี สัญญาที่ได้"

เจ้าของธุรกิจห้ามอ้างไม่รู้ก่อนขายแฟรนไชส์
 
ไม่อยากเสียรู้ ให้รู้ก่อนเสีย กฎหมายㆍสัญญาㆍคุ้มครองสิทธิ
 
สูตรอาหาร และ ธุรกิจแฟรนไชส์
 
จากกรณีดราม่าเชฟ...ที่ผ่านมา แฟรนไชส์ซอร์มองว่านี่คือการก๊อบปี้ชัดๆ เมื่อแฟรนไชส์ซี 2 คน ได้รับ Know How หรือสูตร แต่วันหนึ่งเลิกต่อสัญญาแฟรนไชส์
 
คุณ A: ปรับปรุงสูตร คุณ B: ขายของตามปกติ
 
"ทั้งคุณ A และ คุณ B ไม่มีความผิด หากแฟรนไชส์ซอร์ไม่ได้ระบุ เงื่อนไขไว้ในสัญญาแฟรนไชส์"
 
เรื่องนี้ "กฎหมาย" มีคำตอบ โดย คุณทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ทำธุรกิจแฟรนไชส์ต้องรู้กฎหมายสัญญาแฟรนไชส์

ธุรกิจ "แฟรนไชส์" อยู่ภายใต้ ความรับผิดชอบของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

แฟรนไชส์เป็นการที่บุคคลหนึ่งอนุญาตให้อีกบุคคลหนึ่งนำธุรกิจของตนไปประกอบการได้ เหมือนกัน
 
"ก่อนนำธุรกิจตัวเองไปทำแฟรนไชส์ให้ผู้อื่นเจ้าของ (เฟรนไชส์ซอร์) ควรจัดการ "การคุ้มครองสิทธิ" ของตัวเองให้เสร็จ ก่อนจะถ่ายทอดให้ ผู้รับสัญญา (แฟรนไซส์ซี) หากไม่ดำเนินการ "คุ้มครอง" ตนเองตั้งแต่ต้น หากมีคนนำไปใช้หรืออ้างสิทธิ อาจจะไม่สามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้"
 
ทำแฟรนไชส์ ต้องให้ "สูตร" ไหม
 
การถ่ายทอดความรู้โดยเฉพาะธุรกิจอาหารมีหลายกรณี เช่น
  • แฟรนไชส์ซอร์ให้สูตรแฟรนไซส์ซีนำไปทำเอง
  • แฟรนไชส์ซอร์บังคับให้แฟรนไซส์ซีซื้อวัตถุดิบ
ตัวอย่าง แฟรนไชส์ที่ให้สูตร หรือ Know-how เช่น เชฟต่างประเทศ ที่ไม่สามารถผลิตของให้แฟรนไชส์ซีได้อาจจะสอน Know-how ให้แทน แต่อาจมีเงื่อนไขมากขึ้นเช่น หากเลิกทำแฟรนไชส์ ต้องไม่ทำธุรกิจแบบเดียวกันในระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามทุกอย่างขึ้นอยู่กับสัญญาและข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย

สัญญาแฟรนไชส์โคตรสำคัญ
 
สัญญาต้องระบุอย่าง "ชัดเจน-ครอบคลุม-รัดกุม" ว่าคนที่ซื้อแฟรนไชส์มีสิทธิ์ใช้ได้แค่ไหนรวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ เช่น หากหมดสัญญาห้ามใช้ชื่อธุรกิจแอบอ้าง, ห้ามใช้สูตร/Know-how
 
กรณีที่แฟรนไชส์ซีได้รับ Know-how หรือสูตรวันหนึ่งเลิกต่อสัญญา แล้วนำสูตรไปปรับปรุงขายต่อ แต่แฟรนไซส์ซอร์ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาตั้งแต่แรกว่าห้ามใช้/ปรับปรุงจะถือว่าแฟรนไซส์ซีไม่มีความผิด
 
Know-how หรือข้อมูลที่มีคุณค่าต่อกิจการ ต้องมีมาตรการเก็บรักษาความลับที่ดีด้วย และระบุให้ชัดว่าสิ่งใดเป็น ความลับ เช่น ทำเป็นเอกสารและประทับตราว่า ความลับห้ามเปิดเผย
 
สูตรอาหารกับสิทธิทางปัญญา
 
สูตรอาหาร สามารถจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้สามารถคุ้มครองได้หลายส่วน แต่ต้องดูเป็นรายกรณี
 
สิ่งที่จะคุ้มครอง สูตรอาหาร ได้ คือ "สิทธิบัตร" และ "ความลับทางการค้า"
  • สิทธิบัตร (Patent)
  • อนุสิทธิบัตร (Petty Patent)
  • ความลับทางการค้า (Trade Secret)
สิทธิบัตร (Patent)
 
สิทธิบัตรต้องเป็นสูตรอาหารที่ ใหม่จริงๆ เช่น ไข่ที่ผลิตจากพืชไม่ใช่จากไก่ ที่สำคัญ คือ ต้องเปิดเผยวิธีการทำ เพราะฉะนั้น สิทธิบัตรจึงเหมาะกับของประเภท ครั้งแรกทำยาก แต่พอทำเสร็จปุ๊บใครๆ ก็ทำได้
 
ตามเงื่อนไขกฎหมาย การจะเป็นสิทธิบัตรต้องมี 2 อย่าง คือ ใหม่ กับ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
 
เช่น ก๋วยเตี๋ยว เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ปราศจากกลูเตน (Gluten Free) แบบนี้จะจดได้เพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เสริมเข้ามา หรือ เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ผสมโปรตีนจากสาหร่ายทะเลน้ำลึกทานแล้วเพิ่มโปรตีน 3 เท่า ต่อก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม เป็นต้น

อนุสิทธิบัตร (Petty Patent)
 
"เงื่อนไขคือต้องเป็น สิ่งใหม่ ถึงจะคุ้มครองได้"
 
สิทธิบัตรคุ้มครอง 20 ปี อนุสิทธิบัตร คุ้มครอง 6 ปี
 
ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี
 
อนุสิทธิบัตร ของคนไทย อาจยังไม่ได้เป็นเทคโนโลยีมากนัก
 
เคสที่มีการฟ้องร้องกันส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยากและไม่ใหม่ในไทยมีคนทำไว้ก่อนแล้วแต่ไม่มีใครจดทะเบียนไว้จนกระทั่งมีคนหัวหมอ จดเป็นคนแรก แล้วไล่ฟ้องคนอื่น

ความลับทางการค้า (Trade secret)
 
คือสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ว่าทำอย่างไร แล้วคุณเก็บไว้เป็นความลับ
 
ความลับทางการค้าเหมาะกับของที่ต่อให้เขาได้อาหารที่คุณปรุงเสร็จแล้วเขาก็แกะสูตรทำเหมือนคุณไม่ได้เพราะมีเทคนิคเฉพาะตัว
 
เช่น เคเอฟซี (KFC), คริสปี้ครีม (Krispy Kreme) ฯลฯ มีคนพยายามเลียนแบบมากมาย แต่สุดท้าย ก็ได้แค่ รสชาติใกล้เคียง แต่ไม่มีใครทำได้ เหมือน
 
วันหมดอายุของ ความลับทางการค้า คือวันที่สิ่งนั้นสิ้นสภาพการเป็น "ความลับ"
 
ความลับทางการค้า คุณเองก็ทำได้
 
ไม่ต้องจดทะเบียน ไม่ต้องจดแจ้งเงื่อนไขเดียว คือ คุณต้องรักษาให้เป็นความลับและมีมาตรการจัดการที่เหมาะสมในแบบของคุณ
 
สำคัญ คือ ต้องมีหลักฐานว่าคุณเป็นเจ้าของหากคนอื่น/พนักงาน รู้ความลับแล้วนำไปทำตามเราสามารถฟ้องฐานละเมิดความลับทางการค้าได้
 
เช่น หากมีพนักงานใหม่เข้ามาสู่สายการผลิตต้องให้ ทำสัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูล (NDA)* หรือระบุให้ชัดเจนว่าคนที่รู้สูตรต้องเป็นพนักงานระดับใด
 
คิดรอบคอบ-ทำสัญญา ป้องกันผลเสียต่อธุรกิจ
 
เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากจัดการได้ไม่ดีตั้งแต่แรกอาจกลายเป็นปัญหา
 
อย่าลืมดูว่าทรัพย์สินทางปัญญามีอะไรบ้าง เช่น ชื่อกิจการซ้ำกับของคนอื่นหรือไม่ หากชื่อซ้ำกับคนอื่นก็ต้องแก้ไขทั้งหมด ถ้าทำแฟรนไชส์ ก็จะส่งผลถึงแฟรนไชส์ซีด้วย
 
หากมี นวัตกรรม ก็ควรจดเป็น สิทธิบัตร ก่อนจะเปิดตัว เพราะหากออกสู่ตลาดแล้วคนที่จะลำบากคือ คนแรกที่ทำ
 
คนที่ "ก๊อป" หากทำไม่ยาก เขาก็ไปก๊อปขาย  เราจะแก้ไขย้อนหลังก็ไม่ทันแล้ว
 
"อย่าลืมว่า ทุกอย่างต้องมีสัญญารองรับเสมอ เงินทองไม่เข้าใครออกใคร สัญญาจึงสำคัญมาก"
 
 
ข้อมูลจาก : ไทยรัฐ สัมภาษณ์ : คุณทักษอร สมบูณ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567
โดยทีมงานไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์
 
ธุรกิจเหลือเชื่อที่น่าสนใจ