ดีพร้อมเสริมแกร่ง SME เพิ่มศักยภาพบริหารด้านโลจิสติกส์ มุ่งเน้นลดต้นทุน ผปก. 800 ลบ.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) หรือ “ดีพร้อม” ลุยแผนบูรณาการเร่งพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ประจำปี 2564 มุ่งลดต้นทุน พัฒนาขีดความสามารถการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้กับสถานประกอบการ โดยเฉพาะ SME จำนวน 170 กิจการ และพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม จำนวน 100 ราย ให้มีทักษะและองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง ภายใต้ โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคาดการณ์ว่าสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า บทบาทหน้าที่หลักของดีพร้อม คือ การเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพภาคการผลิตให้อุตสาหกรรมไทย โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ดี พร้อมได้เร่งดำเนินการ คือ การบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสถานประกอบการที่มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง จะต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ทั้งในด้านการจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การจัดการการขนส่ง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งหมด
จากแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้เดินหน้าเร่งผลักดันโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเพิ่มความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันขององค์กร การพัฒนาระบบมาตรฐานด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากลของโลก เพื่อให้มีศักยภาพและได้ผลสัมฤทธิ์ต่อการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ รวมไปถึงการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก
- ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory Holding Cost) ได้แก่ ต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลัง (Inventory Carrying Cost) และต้นทุนการบริหารคลังสินค้า (Warehousing Cost)
- ต้นทุนการขนส่งสินค้า (Transportation Cost)
- ต้นทุนการบริหารจัดการ (Administration Cost) นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสำหรับสถานประกอบการใน 3 มิติหลัก ๆ คือ ต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ กิจกรรมสำคัญของโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก คือ
- กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
- กิจกรรมพลิกธุรกิจด้วยโลจิสติกส์กับการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ (Business Rebirth by Logistics (BRL))
- กิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ดำเนินการโดยการ Coaching การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง (Supply Chain Network) และสร้างความร่วมมือในโซ่อุปทานทั้งภายในและภายนอกกลุ่มอุตสาหกรรม
- กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สัญจรขยายผลความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค
- กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับบุคลากร
โดยทางดีพร้อมตั้งเป้าในการดำเนินงานในปี 2564 คือการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการลดลงคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งสถานประกอบการเป้าหมายในปี 2564 อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนโลจิสติกส์สูง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และสถานประกอบการ เช่น เกษตรแปรรูป และเครื่องจักรกล รวมถึงดำเนินการพัฒนาสถานประกอบการไม่ต่ำกว่า 170 กิจการ และพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีทักษะและองค์ความรู้ด้านจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่นำไปใช้ได้จริงไม่ต่ำกว่า จำนวน 100 ราย นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก : MGROnline.com