|
|
23 มีนาคม 2554 |
พาณิชย์เปิดเวทีระดมความคิดเห็นร่าง กม.แฟรนไชส์
“พาณิชย์” เปิดเวทีระดมความคิดเห็นร่างกฎหมายแฟรนไชส์ 23 มี.ค.นี้ วางเกณฑ์ดูแลประชาชนที่สนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์ และเพิ่มขีดความสามารถรองรับการเปิดเสรีการค้า “บรรยงค์” เตรียมใช้บันได 3 ขั้น สร้างความเข้มแข็งแฟรนไชส์เลือดไทย
นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า วันที่ 23 มี.ค.นี้ กรมฯ จะจัดระดมความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. ... จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์ ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วไป เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปในการผลักดันกฎหมายแฟรนไชส์ ให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ลงทุนและผู้บริโภค
ทั้งนี้ เป้าหมายในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากกรมฯ เห็นว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ยังพบว่า ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย เนื่องจากขาดอำนาจต่อรองจากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีขนาดใหญ่กว่า จึงทำให้ไม่อาจได้รับการคุ้มครอง
“ที่ผ่านมา ข้อจำกัดของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค มองว่า ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ใช่ผู้บริโภค จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง แต่กรมฯ ได้เห็นความจำเป็นในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ให้เกิดความเป็นธรรม จึงได้ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจเฉพาะฉบับขึ้นมา ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์ และยังเป็นการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีทางการค้าให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล” นายบรรยงค์ กล่าว
นายบรรยงค์ กล่าวว่า สำหรับแผนพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ในปีนี้ กรมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจรายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์เข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์มีประมาณ 400 ราย เป็นธุรกิจของคนไทย 90% ที่เหลือ 10% เป็นแฟรนไชส์ต่างชาติ แต่ของไทยยังมีมาตรฐานแตกต่างกัน ต้องผลักดันให้มีมาตรฐานเดียวกันให้ได้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในประเทศเอง และออกไปขายในต่างประเทศ
แผนการดำเนินการจะมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรกจะให้การฝึกอบรมให้กับประชาชนที่สนใจทั่วไปที่อยากจะทำธุรกิจแฟรนไชน์ให้มีแฟรนไชส์เป็นของตัวเอง โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมให้ จากนั้นจะผลักดันเข้าสู่ขั้นที่ 2 เป็นการฝึกอบรมขั้นสูง จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งเอกชนที่ประสบความสำเร็จ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม เข้ามาช่วยดูแล โดยจะมีการจัดมอบรางวัลให้กับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ปี ปีแรกได้ 32 ราย ปีที่ 2 ได้ 35 ราย และในขั้นที่ 3 จะผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะผลักดันให้ออกไปบุกตลาดต่างประเทศ โดยจะร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกในการผลักดันต่อไป
อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
|
|
|