437
10 มีนาคม 2566
3 พันธมิตร ดึงนิสิตจุฬาฯ วางระบบบัญชีให้ 6 วิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
 
 
3 พันธมิตร...กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วม MOU ส่งเสริมการวางระบบบัญชีให้วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ พร้อมดึงนิสิตคณะบัญชี จุฬาฯ ร่วมกันวางระบบบัญชีให้ 6 วิสาหกิจชุมชนนำร่องให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบ MOU หวัง!! วิสาหกิจชุมชนนำระบบบัญชีต่อยอดสร้างรายได้เห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จขยายสู่วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ
 
นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับวิสาหกิจชุมชนไทยด้วยพื้นฐานการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง และเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากในทุกภูมิภาคด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจและกฎหมายจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ โดยแต่ละหน่วยงานมีการแบ่งหน้าที่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างชัดเจนเพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว
 
ล่าสุด 3 หน่วยงานได้ร่วมกันคัดเลือกนิสิตสาขาวิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 6 ทีม โดย 1 ทีม จะมีพี่เลี้ยง 5 คน และจะมีที่ปรึกษาซึ่งเป็นอาจารย์ของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ เชื่อมโยงต่อยอดความร่วมมือกับสำนักงานบัญชีคุณภาพ บริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำ สำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ และบริษัทเอกชนชั้นนำด้านบัญชี เพื่อร่วมกันศึกษา ค้นคว้า และวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชนนำร่องอย่างมีแบบแผน ตอบโจทย์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้แนวคิด Digital Sustainability Modeling ที่มุ่งขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และได้ผลลัพธ์สำคัญเป็น ‘ต้นแบบ’ ของระบบบัญชีสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดให้กับวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศไทยกว่า 82,500 ราย
 
นอกจากที่วิสาหกิจชุมชนนำร่องทั้ง 6 ราย จะได้รับการวางระบบบัญชีต้นแบบแล้ว ยังได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล ตลอดจนการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น การตลาดยุคใหม่ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการในภาพรวม สร้างโอกาสทางการค้า และขยายช่องทางการตลาด เกิดวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่มีการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องและมีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับวิสาหกิจชุมชนรายอื่น และช่วยขยายเครือข่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน นิสิตที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับวิสาหกิจชุมชนได้นำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้จริงปูพื้นฐานก่อนลงสนามวิชาชีพบัญชีในอนาคต โดยมีโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปเป็นเครื่องมือ และต่อยอดองค์ความรู้ตลอดการปฏิบัติงานเพื่อวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชน
 
วิสาหกิจชุมชนนำร่องทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย *ภาคใต้ : วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง *ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น *ภาคกลาง : วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ จังหวัดสระบุรี *ภาคตะวันตก : วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จังหวัดเพชรบุรี *ภาคตะวันออก : วิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี และ *ภาคเหนือ : วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จังหวัดลำพูน และในระยะแรกนี้ ทั้ง 3 หน่วยงาน มีกำหนดลงพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง และวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น ในระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน 2566
 
ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จำนวน 82,500 รายทั่วประเทศไทย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 1,300 ราย ทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 650 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการผลิตสินค้าในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ของใช้ และสมุนไพร และการให้บริการ เช่น การท่องเที่ยว และสุขภาพ เป็นต้น” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย


อ้างอิงจาก MGRonline.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
3,591
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
1,640
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
875
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
715
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
570
โรบอท สเตชัน คลับ จัดโ..
548
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด