กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลังพันธมิตร ลุยจัด 7 กิจกรรมใหญ่ เสริมแกร่ง ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ รองรับโอกาสที่ยังเติบโตดีต่อเนื่อง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลังพันธมิตร ลุยจัด 7 กิจกรรมใหญ่ เสริมแกร่ง ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ รองรับโอกาสที่ยังเติบโตดีต่อเนื่อง รายได้ปี ‘66 ยอดทะลุ 3 แสนล้านบาท กำไรแตะ 1 หมื่นล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารลุยจัด 7 กิจกรรมใหญ่เสริมแกร่งผู้ประกอบการร้านอาหารของไทย รองรับโอกาสธุรกิจร้านอาหารที่ยังไปต่อได้ดี โดยในปี 2566 ทำรายได้รวมทะลุ 3 แสนล้านบาท กำไรรวมแตะ 1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ : กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหญ่ สุราษฎร์ธานี ยอดจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารสูงสุด ขณะเดียวกัน เดินหน้าทำงานกับพันธมิตรด้านบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยจากการทำธุรกิจโดยผิดกฎหมายของต่างชาติ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ไทยมีนิติบุคคลดำเนินธุรกิจร้านอาหารอยู่ 23,414 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.46% (22,819 ราย) โดยมีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดมากที่สุด 88.56% (20,735 ราย) ที่เหลือ คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ/ห้างหุ้นส่วนจำกัด 11.40% (2,670 ราย) และบริษัทมหาชนจำกัด 0.04% (9 ราย)
ซึ่งจังหวัดที่มีธุรกิจร้านอาหารติด 5 อันดับแรกอยู่ในพื้นที่หัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9,264 ราย (39.57%) ชลบุรี 2,603 ราย (11.12%) ภูเก็ต 1,908 ราย (8.15%) สุราษฎร์ธานี 1,377 ราย (5.88%) และเชียงใหม่ 1,376 ราย (5.87%) ตามลำดับ
โดยในช่วง 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม 2567) มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่ 2,472 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 926 ราย (37.46%) ชลบุรี 258 ราย (10.44%) ภูเก็ต 192 ราย (7.77%) เชียงใหม่ 165 ราย (6.67%) และสุราษฎร์ธานี 122 ราย (4.94%) เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 2,469 ราย (99.88%) ธุรกิจขนาดกลาง 2 ราย (0.08%) และ ธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ราย (0.04%)
ขณะที่รายได้รวมและผลประกอบการของธุรกิจ ปี 2565 รายได้รวม 243,781.02 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 64,547.89 ล้านบาท หรือ 36%) ผลประกอบการ กำไร 3,421.00 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,015.61 ล้านบาท หรือ 135.67%) ปี 2566 รายได้รวม 305,162.62 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 61,381.60 ล้านบาท หรือ 25.2%) ผลประกอบการ กำไร 9,781.46 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6,360.46 ล้านบาท หรือ 185.93%)
แสดงให้เห็นว่าธุรกิจร้านอาหารไทยยังคงเติบโตได้ดี และมีการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจร้านอาหารกลับมาคึกคักหลังจากโควิด-19 รองรับนักท่องเที่ยวและการเปิดประเทศ โดยมีการปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบเดลิเวอรี การสั่งอาหารล่วงหน้าแล้วมารับที่ร้าน หรือ บริการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดการรอคิวและความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า เพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยสามารถปรับตัว แสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้น และรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้ร้านอาหารเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารร่วมกันสร้างสรรค์ 7 กิจกรรมใหญ่เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย โดยเน้นส่งเสริมให้มีระบบการบริหารจัดการร้านอาหารได้มาตรฐาน สามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง
พร้อมสร้างโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งถือว่าผ่านการคัดสรรและรับรองโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดัน Soft Power ด้านอาหารไทย ซึ่งเป็นต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดการท่องเที่ยว นำเสนอเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีของประเทศ สร้างกระแสนิยมอาหารไทย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผ่าน 7 กิจกรรม ดังนี้
1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอย่างมืออาชีพ ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไปทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ผ่านหลักสูตร Smart Restaurant Plus เพื่อให้ร้านอาหารมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร ทั้งการบริหารต้นทุน การเงิน ทรัพยากรบุคคล ด้านนวัตกรรม และการตลาด ให้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับมาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จัดไปแล้ว 7 รุ่น ปัจจุบันมีร้านอาหารผ่านการพัฒนาจากกรมแล้วกว่า 3,000 ราย
2. ยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพมาตรฐาน รสชาติอาหารไทยแท้ วัตถุดิบคุณภาพ บรรยากาศ และการบริการที่ดี ผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญในการลงพื้นที่ตรวจประเมินและให้คำปรึกษาแนะนำ โดยปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT 370 ร้าน และมีเป้าหมาย 500 ร้าน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2567
3. กระตุ้นยอดขายเพิ่มรายได้ร้านอาหาร ผ่านแคมเปญ “เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT” โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power อาหารไทย และขยายโอกาสแก่ร้านอาหาร Thai SELECT ได้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค กระตุ้นการจำหน่าย ผ่านการมอบโปรโมชันส่วนลด สิทธิประโยชน์ต่างๆ
4. ส่งเสริมช่องทางการตลาด ผ่านการจำหน่ายอาหารในงานเทศกาลอาหารต่างๆ และแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีชั้นนำ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร โดยนำร้านอาหาร Thai SELECT มาจัดแสดง (Showcase) ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อแสดงศักยภาพของอาหารไทย สร้างตัวตนให้ร้านอาหารกลายเป็นที่รู้จัก และส่งต่อร้านอาหาร Thai SELECT ให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง
5. เสริมสร้างการรับรู้ให้แก่ร้านอาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบน Social Media (Influencer) รายการอาหาร และผู้มีชื่อเสียงที่มาช่วยรีวิวร้านอาหาร กระตุ้นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอาหารไทย และการจัดประกวดคลิปวิดีโอสั้น ภายใต้สโลแกน “อาหารไทย ต้อง Thai SELECT” เพื่อให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จัก รวมถึงกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มาสัมผัสและลิ้มลองอาหารไทย
6. การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร โดยจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรองกับร้านอาหาร Thai SELECT ในพื้นที่ โดยได้นำร่องแล้ว 10 เส้นทาง อาทิ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นให้ครบทุกภูมิภาคต่อไป
7. สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ผลิตอุปกรณ์ ผู้จำหน่วยวัตถุดิบ ผู้ให้บริการเครื่องมือและระบบบริหารจัดการร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเพิ่มคู่ค้า และต่อยอดธุรกิจ
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังได้ส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทอาหารและเครื่องดื่มให้มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่ได้มาตรฐาน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้แก่ผู้ว่างงานและผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยได้ดำเนินการจัด 2 กิจกรรมเพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ ทั้ง แฟรนไชส์ซอร์ และ แฟรนไชส์ซี ได้แก่
* การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) เป็นการให้ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน 1) การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ 2) การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ 3) กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ และ 4) การสร้างคู่มือ แผนธุรกิจ และสัญญาในระบบแฟรนไชส์ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทอาหารผ่านการอบรม 531 ราย และเครื่องดื่ม 173 ราย
* การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ (Franchise Standard) โดยการประเมินวิเคราะห์ธุรกิจและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ ในลักษณะ On the job Training พัฒนาธุรกิจเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพที่กรมจัดทำขึ้นตามระบบ Thailand Quality Award (TQA) และตามแนวทางมาตรฐานคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award - MBNQA) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้กว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทอาหารที่ผ่านการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯ แล้ว 248 ราย และเครื่องดื่ม 106 ราย
ทั้งนี้ ผู้สนใจข้อมูลกิจกรรมที่กรมจัดให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถเข้าดูในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th หรือ สอบถามได้ที่ สายด่วน 1570
ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย จากการเข้ามาแข่งขันและจัดตั้งธุรกิจโดยผิดกฎหมายของต่างชาติ ซึ่งรวมถึง การตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจบริการตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.ฯ
และต้องการถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตโดยถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : www.dbd.go.th