363
9 กันยายน 2567
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรี เร่งขับเคลื่อนธุรกิจ Wellness ไทย สู่การเป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพระดับโลก เจาะลึกเทรนด์สุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ เสริมทัพปรับโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน พร้อมคว้าโอกาสทองของธุรกิจบริการไทยก่อนคู่แข่ง
 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขานรับนโยบายรัฐบาล จับมือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรี เร่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพและความงาม (Wellness) ของจังหวัดสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ชูจุดเด่นที่เน้นสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีเอกลักษณ์ และมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจตามมาตรฐาน มุ่งปั้นรายได้หมุนเวียน ในจังหวัดเพิ่มปีละกว่า 40,400 ล้านบาทภายใน 2572 หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เสริมพลังเครือข่ายระหว่างธุรกิจ Wellness กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงสร้างโอกาสการค้าและการลงทุนร่วมกันให้ขยายครอบคลุมทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรมฯ เล็งเห็นโอกาสของธุรกิจสุขภาพและความงาม (Wellness) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรสูงวัยที่ภาคธุรกิจต่างหันมาให้ความสนใจ ควบคู่กับกระแสการใส่ใจดูแลสุขภาพและ การดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการยกระดับเมืองรองไปสู่เมืองระดับโลก และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

กรมฯ จึงได้บูรณาการงานส่งเสริมและต่อยอดธุรกิจบริการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรี โดยนำร่องจัดให้ความรู้แบบเจาะลึกด้านบริหารจัดการธุรกิจและการตลาดจากกูรูผู้คร่ำหวอดในธุรกิจ Wellness เพื่อกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจ Wellness ในกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
 
สำหรับการจัดอบรมหลักสูตร “เจาะตลาด รับโอกาสเทรนด์ธุรกิจสุขภาพและความงาม (Wellness)” ระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน 2567 ณ โรงแรม พีลูส กาญจนบุรี ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากพาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรี (นางสาวยุพา นาคา) เป็นประธานเปิดงาน โดยมีกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการในธุรกิจ Wellness และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการสนใจลงทะเบียนสมัครอบรมเกินกว่าเป้าหมาย ประกอบด้วย ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสปา ธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพ ธุรกิจบริการเสริมความงาม บริการทางการแพทย์ ธุรกิจที่พักและรีสอร์ท ธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวและสนใจของผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาดอย่างเจาะลึก

โดยกรมฯ นำทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ คุณธเนศ จิระเสวกดิลก, คุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ CEO & Co-Founder of Divana และ Co-CEO of 88 SANDBOX ที่เน้นด้านการตลาดธุรกิจ Wellness เช่น การออกแบบบริการและการสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจลูกค้า Creative Marketing สำหรับธุรกิจ Wellness รวมทั้ง ผศ.ดร.สันติธร ภูริภักดี ที่ปรึกษาด้านการตลาดการจัดการเชิงกลยุทธ์ การบริการการท่องเที่ยวและการโรงแรม การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่เน้นการค้นหาคุณค่าของธุรกิจผ่านกิจกรรม Workshop สุดเข้มข้น

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ส่งเสริมให้มีการต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน เช่น การเสริมสร้างทักษะการนำเสนอธุรกิจอย่างมืออาชีพ (Pitching) การพัฒนากลยุทธ์การตลาดเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจบริการได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดจากการเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าและบริการด้านสุขภาพและความงามต่อไป ทั้งนี้ กรมฯ มีเป้าหมายที่จะมุ่งผลักดันธุรกิจ Wellness ให้มีศักยภาพได้มาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีและมีธรรมาภิบาลธุรกิจ สามารถเติบโตควบคู่กับการขยายตัวของจังหวัดกาญจนบุรีไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

จากฐานข้อมูล DBD Data Warehouse+ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 พบว่า มีจำนวนธุรกิจบริการผู้สูงอายุ สุขภาพและความงาม (Wellness) ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทยและมีสถานะคงอยู่รวมทั้งสิ้น 27,992 ราย มีทุนจดทะเบียน 350,121 ล้านบาท และมีรายได้รวมจำนวน 1.11 ล้านล้านบาท (จากข้อมูลการนำส่งงบการเงินประจำปี 2566) โดยเป็นธุรกิจสปาและนวดเพื่อสุขภาพจำนวน 1,752 ราย ทุนจดทะเบียน 9,339 ล้านบาท รายได้ 8,827 ล้านบาท ธุรกิจบริการความงามจำนวน 2,375 ราย ทุนจดทะเบียน 6,322 ล้านบาท รายได้ 10,519 ล้านบาท ธุรกิจบริการทางการแพทย์ 9,173 ราย ทุนจดทะเบียน 213,396 ล้านบาท รายได้ 394,979 ล้านบาท ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ 751 ราย ทุนจดทะเบียน 4,152 ล้านบาท รายได้ 1,273 ล้านบาท

ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเภสัชภัณฑ์-ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ 13,941 ราย ทุนจดทะเบียน 116,912 ล้านบาท รายได้ 702,271 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง มีสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มมากขึ้นในทุกปี รองรับกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในปี 2567 นี้ ดังนั้นผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวได้ทันย่อมมีโอกาสในการเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นและตลาดที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น
 
ติดตามข่าวสารของกองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทาง Facebook Fanpage “กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนา-ธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์” หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 5962


ที่มา : www.dbd.go.th
 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
นำโชคลอตเตอรี่ “ธุรกิจ..
3,053
ประมวลภาพสุดยิ่งใหญ่งา..
1,109
คลิ๊กโรบอท เอ็นจิเนียร..
944
ธงไชยผัดไทย เปิดโครงกา..
853
“นาด้า” ร่วมแข่งขันจิน..
836
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
691
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด