4.6K
1 ตุลาคม 2556
ฟาสต์ฟิต แข่งขยายสาขารับเออีซี "บ๊อช"ขายแฟรนไชส์ลาวพม่า"บี-ควิก"ทุ่มครบ100


 
"ฟาสต์ฟิต" แข่งเดือดรับเออีซี "บ๊อช คาร์ เซอร์วิส" ควักกระเป๋าเพิ่ม 400 ล้าน ผุด 22 สาขาภายใน 3 ปี เล็งขายแฟรนไชส์ขยายธุรกิจสู่อาเซียน ประเดิมลาว-พม่า "บี-ควิก" ลุยเปิดสาขาในประเทศครบ 100 แห่ง โกยรายได้แตะ 4 พันล้าน "แอค" ชูจุดขายแนวคิดธุรกิจสีเขียวต่างจากคู่แข่ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนศูนย์บริการรถยนต์แต่ละยี่ห้อรองรับไม่เพียงพอ ส่งผลให้ศูนย์บริการรถยนต์แบบเร่งด่วนหรือฟาสต์ฟิตเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด นอกจากจะรองรับปริมาณความต้องในประเทศแล้ว เกือบทุกค่ายยังมองโอกาสโดยเฉพาะการขยายตัวสู่อาเซียน เพื่อรองรับ "เออีซี" ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้
 
นายก้องเกียรติ ทีฆมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (เอ็มเอ็มเอส) ในเครือมาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น เอเชีย ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ บ๊อช คาร์ เซอร์วิส เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจ บ๊อช คาร์ เซอร์วิสมา 4 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงวางรากฐานบริษัทจนมีสาขาให้บริการรวม 8 แห่ง ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีแล้ว เพื่อเป็นการรองรับประชากรรถยนต์ในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงมีแผนที่จะขยายธุรกิจด้วยการเปิดศูนย์บริการแห่งใหม่อีกกว่า 22 แห่งภายในปี 2559 ในปีนี้จะเริ่มทยอยเปิดก่อน 3 แห่ง โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณรวมกว่า 400 ล้านบาท หรือเป็นเงินลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 15-20 ล้านบาท ทำให้บริษัทจะมีศูนย์บริการรวม 30 แห่งซึ่งเมื่อมีศูนย์บริการเพิ่มขึ้นแล้ว จะทำให้ทิศทางการทำการตลาดจากนี้จะจับกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นแบบบีโลว์เดอะไลน์ ก็จะเพิ่มอะโบฟเดอะไลน์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักศูนย์บริการของบริษัทว่ามีจุดเด่นในการรับซ่อมรถยนต์ที่หมดระยะประกัน ด้วยอะไหล่แท้และอะไหล่เทียม ทำให้ลูกค้ามีทางเลือก ซึ่งราคาของอะไหล่นั้นก็แข่งขันได้ 
 
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนรุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งในลาวและพม่า เนื่องจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ซื้อรถยนต์มือสองจากต่างประเทศ และยังไม่มีศูนย์บริการที่มีมาตรฐานรองรับ สำหรับลาวนั้น แม้ว่าตลาดรถยนต์จะไม่ได้มีขนาดใหญ่มากในปัจจุบัน แต่ก็จำเป็นที่บริษัทจะต้องเข้าไปวางรากฐานธุรกิจไว้ก่อน 
 
 
 
ขณะที่พม่านั้นเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ การลงทุนก็จะใช้งบประมาณเช่นเดียวกับประเทศไทยคือศูนย์ละ 15-20 ล้านบาท 
 
หลังเปิดสาขาครบ 30 แห่งแล้ว ก็สนใจที่จะเปิดรับผู้ที่สนใจร่วมธุรกิจแฟรนไชส์ และบริษัทจะเป็นผู้จำหน่ายอะไหล่และเครื่องมือซ่อมให้ พร้อมทั้งยังช่วยจัดหาสถาบันการเงินที่ช่วยรองรับด้านสินเชื่อได้ด้วย และบริษัทยังมีแผนจัดโปรแกรมการรับประกันพิเศษสำหรับรถยนต์ที่หมดระยะประกัน ตั้งแต่ 100,000 กม.ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันดีลเลอร์รถยนต์บางรายก็เริ่มจัดโปรแกรมดังกล่าวแล้ว แต่ในส่วนของศูนย์บริการทั่วไปนั้นยังไม่มี บ๊อช คาร์ เซอร์วิสถือเป็นเจ้าแรก
 
ปัจจุบัน เอ็มเอ็มเอส บ๊อช คาร์ เซอร์วิส ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก คือ ศูนย์บริการ บ๊อช คาร์ เซอร์วิส, จูนนิ่ง เซ็นเตอร์, พาร์ตโฮลเซล หรือการจำหน่ายอะไหล่ และจำหน่ายเครื่องมือให้แก่ศูนย์บริการต่าง ๆ ในส่วนของการลงทุนนั้น บริษัทเตรียมจะเปิดให้บริการซ่อมบำรุงเอ็กซ์คลูซีฟ เซอร์วิส บาย เทคอาร์ต เพื่อให้ศูนย์บริการรถยนต์ปอร์เช่ที่เอสแควร์เป็นศูนย์บริการที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น และการจำหน่ายอะไหล่ให้แก่ศูนย์บริการรถยนต์ทั่วไปนั้น บริษัทก็เตรียมจะพัฒนารูปแบบการขนส่งแบบดีลิเวอรี่ด้วยการขนส่งอะไหล่ในกรุงเทพฯภายใน 30 นาทีอีกด้วย 
 
ด้านผลการดำเนินงานนั้น ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากศูนย์บริการ 180 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 261 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นราว 45% รายได้จากศูนย์บริการบ๊อช คาร์ เซอร์วิสนั้นเป็นสัดส่วนกว่า 70% รายได้รวมทั้ง 4 ส่วน และคาดว่าเมื่อเปิดครบ 30 แห่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว หรือประมาณ 780ล้านบาทและในโอกาสฉลองการดำเนินงานครบ 4 ปี บริษัทจึงได้จัดแคมเปญให้แก่ลูกค้าที่เข้ารับบริการ อาทิ การผ่อนชำระค่าซ่อม 0% นาน 4 เดือนเมื่อมียอดใช้บริการ 10,000 บาทขึ้นไป ผ่อนยาง 0% นาน 6 เดือน ยางเก่ามีมูลค่า 1,200 บาท และลูกค้ามีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลต่าง ๆ ด้วย
 
"บ๊อช คาร์ เซอร์วิส มีโพซิชั่นที่ชัดเจน คือ มีราคาต่ำกว่าศูนย์บริการของค่ายรถ มีอะไหล่ให้เลือกทั้งแท้และเทียม การให้บริการของเราจะครอบคลุมกว่าศูนย์ฟาสต์ฟิตทั่วไปที่เน้นขายสินค้า ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักคือรถหมดระยะประกันที่ยังต้องการคุณภาพ แต่ราคาไม่สูงเกินไป" นายก้องเกียรติกล่าว 
 
เช่นเดียวกับ นางสาวบุศรารัตน์ อัสสรัตนกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ศูนย์บริการรถยนต์บี-ควิก ที่ก่อนหน้านี้เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะรุกตลาดอาเซียนด้วยการเข้าไปลงทุนในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ใช้งบฯการลงทุนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปีหน้า และจะทยอยขยายไปสู่ประเทศอื่น อาทิ พม่าและลาว ส่วนในมาเลเซียที่เคยวางแผนไว้นั้นต้องชะลอไปก่อนเนื่องจากข้อกำหนดทางกฎหมาย
 
ส่วนตลาดในประเทศนั้น ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าว่าจะเปิดศูนย์บริการใหม่ให้ครบ 100 แห่ง ใช้งบฯลงทุนราว 15-20 ล้านบาท โดยงบฯลงทุนรวมในปีนี้อยู่ที่ราว 420-560 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับปรุงสาขาเก่าอีกประมาณ 10-15 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 3,000 ล้านบาท เติบโต 34% 
 
 
 
ด้าน นายธนวัฒน กิตติรัตนาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจสโตน เอ.ซี.ที (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์บำรุงรักษารถยนต์มาตรฐาน A.C.T (แอค) เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดธุรกิจสีเขียว ความปลอดภัยคู่สิ่งแวดล้อม Safe & Green เพื่อขยายการบริการ และเพิ่มความสะดวกสบายเต็มรูปแบบ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ โดยรูปแบบการให้บริการ อาทิ การจำหน่ายยางคุณภาพสูง บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ โช้กอัพ ผ้าเบรก ตรวจเช็กสภาพและบริการบำรุงรักษารถยนต์ ทั้งรถเก๋งและปิกอัพ
 
ปัจจุบันมีเครือข่ายสาขาทั้งสิ้น 71 สาขา ล่าสุดจัดงานเปิดตัวสาขาเทสโก้ โลตัส พัฒนาการ พร้อมจัดกิจกรรม "แอค" ดูแลรถ ดูแลสุขภาพท่านเจ้าของรถ ด้วยบริการตรวจเช็กสุขภาพ ถือเป็นกิจกรรมการตลาดหนึ่งที่แตกต่างจากคู่แข่ง ช่วยสร้างการรับรู้

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
5,865
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
2,712
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
1,184
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
779
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
638
ธงไชย ผัดไทย ร่วมกับคน..
619
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด