ข่าวเอสเอ็มอี : SMEs News
หน้าแรก / ข่าว / เอสเอ็มอี
กรุงศรีจ่อผู้นำสินเชื่อรายย่อย

 
 
แบงก์กรุงศรีชูช่องทางให้บริการรั้งแท่นผู้นำสินเชื่อรายย่อย -อานิสงส์เป็นเครือกลุ่มMUFGหนุนเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ธุรกิจขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอีตั้งเป้าทั้งปีโต 9% คงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ 4.2% ด้าน LHBANK แผนปี 2557 ขยายสินเชื่อเพิ่มไม่น้อยกว่า 10%-20%
 
ภายหลังจากธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) ซึ่งถือหุ้น 100% โดย มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ได้ถือครองหุ้นมากกว่า 72% จากจำนวนหุ้นทั้งหมดของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน)(บมจ.) ขณะที่กลุ่มรัตนรักษ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมยังคงถือหุ้นอยู่ 25%

นายโนริอากิ (โนริ) โกโตะ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปีนี้ กลยุทธ์ต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ จะอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมๆ ไปกับการดำเนินกลยุทธ์ทั้ง 5 ประการ
 
ประกอบด้วย การขยายฐานธุรกิจลูกค้าขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี  การคงความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย  การสร้างฐานเงินฝากให้แข็งแกร่งด้วยต้นทุนที่ต่ำลง  การสร้างความแข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และขยายโอกาสในการทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLM ซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะรวมธนาคาร BTMU สาขากรุงเทพฯ เข้ากับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้สถาบันการเงินดำเนินการตามนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ การรวมกิจการนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี
 
ทั้งนี้ปี 2557 บมจ.ธนาคารกรุงศรี ตั้งเป้าเติบโตของสินเชื่อไว้ที่  9% ผ่าน 5 กลยุทธ์หลักโดยมีแผนที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งของไทย ญี่ปุ่น และบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายระดับโลกของ MUFG และ ความเชี่ยวชาญระดับสากลในการทำธุรกิจธนาคาร โดยกรุงศรีจะมุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าขนาดใหญ่ในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศโดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำโขง การขยายผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่กลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันเป็นห่วงโซ่ หรือ supply chain รวมถึง cross sell บริการทางการเงินที่หลากหลายแก่พนักงานของบริษัทลูกค้าขนาดใหญ่เหล่านี้ 
 
 
 
สำหรับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี กรุงศรีมุ่งสร้างความแข็งแกร่งและการรับรู้แก่แบรนด์กรุงศรี SME กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของธุรกิจในเครือด้านสินเชื่อรายย่อย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในวงกว้าง เพื่อเป็นทางเลือกทางการเงินให้กับลูกค้า เช่นเดียวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
 
"สำหรับตลาดเงินฝากที่มีการแข่งขันสูง เราจะมุ่งไปที่การสร้างฐานเงินฝากที่แข็งแกร่ง ด้วยการนำเสนอบริการทางการเงินที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งลูกค้าบุคคล และลูกค้าองค์กร" นายโนริอากิ กล่าว
 
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา กรุงศรีโดย บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด หรือ ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ ได้ขยายการให้บริการด้านผลิตภัณฑ์ต่างๆสู่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ และในปี 2557 "ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ" ยังคงมีแผนที่จะสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจนี้ต่อไป ด้วยการขยายเครือข่ายด้านการบริการ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
 
"ในส่วนของการขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค กรุงศรีกำลังเตรียมความพร้อมในการเติบโตไปพร้อมกับกลุ่มประเทศ CLM ผ่านการสนับสนุนของ BTMU ซึ่งปัจจุบัน BTMU มีสาขาอยู่ใน 13 ประเทศหลักของภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย รวมถึงประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์"
 
นอกจากนี้เอกสารเผยแพร่ยังระบุเป้าหมายที่จะรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงที่ 4.2% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) สินเชื่อรายย่อย (สินเชื่อบุคคล 27% บัตรเครดิต 17% เช่าซื้อรถยนต์ 18%) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 7% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 8% โดยผ่านช่องทางการให้บริการสาขาในประเทศ 610สาขาๆต่างประเทศ 4 สาขาศูนย์บริการอีก 74 แห่งรวมถึงศูนย์บริการกรุงศรีออโต้ 43 สาขาดีลเลอร์ 6,300 ดีลเลอร์, กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ 45 สาขาและ 1.23 หมื่นดีลเลอร์, ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ 290 สาขา
 
 
 
ด้าน นางศศิธร  พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์หรือLHBANK กล่าวถึงแผนงานในปี 2557 ว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10%-20% โดยจะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15% อีกทั้งเร่งเพิ่มรายได้และค่าธรรมเนียมจากบริการด้านต่างๆ  เช่น ATM, Internet Banking, Mobile Banking ,  LH Bank SMS Alert และมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 21 สาขาเป็น 121 สาขาเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันยังคงร่วมเป็นพันธมิตรกับบมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ ที่จะขยายสาขาในทุกจังหวัดที่ HomePro ตั้งอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนเปิดให้บริการ Foreign Exchange Booth โดยจะเปิดให้บริการในสาขาตามจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาขาแม่สอด  หนองคาย เชียงราย เป็นต้น
 
อนึ่งในโอกาสที่ธนาคารมีสาขาครบ 100 สาขา จึงจัดโปรโมชันให้ลูกค้าเลือก 2 รูปแบบ
  • แบบที่ 1 สมัครบัตร ATM LH Bank พร้อมสมัครบริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ต LH Bank Speedy
  • แบบที่ 2 สมัครบัตร ATM LH Bank พร้อมสมัครใช้บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติชำระค่าน้ำ ค่าไฟ รับฟรีทันที กระเป๋า 100 ความสุขสุดเก๋ มูลค่า 250 บาท
และเพิ่มช่องทางบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ถือบัตร China Union Pay (CUP) และบัตร Japan Credit Bureau  (JCB) ให้สามารถถอนเงินสด (สกุลเงินบาท) ได้ที่ตู้ ATM LH Bank ทุกตู้ทั่วประเทศ ซึ่งบัตร CUP ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา  สำหรับบัตร JCB จะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคมนี้

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวเอสเอ็มอีล่าสุด : Latest SMEs News More
TikTok Shop โซลูชั่นอีคอมเมิร์ซชั้นนําในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผย Live Commerce...
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดยนา...
 เพิ่มเพื่อน
NO.1 Franchise Solution