1.9K
18 กุมภาพันธ์ 2557
ม็อบทุบ"เอสเอ็มอี"น่วม รัฐ-เอกชนระดมช่วยสุดฤทธิ์

 
 
เป็นที่แน่นอนว่าวิกฤตการเมืองที่ยังไม่มีทีท่าจะสงบในระยะเวลาอันใกล้นี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่มีสัดส่วนกว่า 80-90% ของภาคธุรกิจโดยรวมต้องรับวิบากกรรมอย่าหลีกหนีไม่ได้
 
เสียงสะท้อนจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงยืดเยื้อกินเวลากว่า 2 เดือน เริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยนายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า จากการจัดส่งแบบสอบถามให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 350 รายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 70% ประเมินว่าผลประกอบการปี 2557 จะแย่กว่าปี 2556 ขณะที่ 20% มองว่ากระทบเล็กน้อย และ 10% มองว่าผลประกอบการใกล้เคียงกับปี 2556 แต่ไม่มี ผู้ประกอบการรายใดแจ้งว่าผลประกอบการปีนี้จะดีขึ้น
 
โดยระดับความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอีปี 2557 พบว่า 70% อยู่ในระดับต่ำมาก คือความเชื่อมั่นระดับต่ำกว่า 50 ขณะที่ระดับปานกลางเฉลี่ย 65-70 คิดเป็น 20% และมีเพียง 10% ที่มีความเชื่อมั่นมากกว่าระดับ 80 แต่ไม่มีเอสเอ็มอีรายใดมีความเชื่อมั่นระดับ 100 ขึ้นไปซึ่งเป็นระดับดี
 
สอดคล้องกับ นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่เผยผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง พบว่าเอสเอ็มอีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับผล กระทบจากยอดขายที่ลดลงพอสมควร เนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัว ทำให้ขาดสภาพคล่องไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้าได้ ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยหากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะทำให้ปัญหาลุกลามไปยังผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ได้ เนื่องจากเป็นซัพพลายเชนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง และใหญ่
 
 
 
จากการสำรวจ 10 อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีที่สำคัญ พบว่า ในกลุ่มที่ 1 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การค้าภายในประเทศที่กว่าครึ่งจะพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยว และกลุ่มทัวร์ ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
 
ในขณะที่การส่งออกที่ต้องอาศัยกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านการจัดงานแสดงสินค้าบางกอกเจมส์ ที่จะจัดในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ ซึ่งล่าสุดมีผู้ซื้อต่างชาติแจ้งยกเลิกการมาร่วมงานแล้วกว่า 10% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว
 
2.กลุ่มสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) โดย ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากยอดขายสินค้าโอท็อป โดยเฉพาะในกลุ่มของใช้ ของที่ระลึก ซึ่งโดยปกติจะมียอดขายในช่วงปลายปีถึง 70% แต่เมื่อตรงกับช่วงการชุมนุม ทำให้บรรยากาศการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
 
3.กลุ่มอาหาร ได้รับผลกระทบทางจิตวิทยามีการจับจ่ายใช้สอยลดลง ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เริ่มมีรายได้ลดลง เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีกอาจส่งผลกระทบได้
 
4.กลุ่มเกษตรแปรรูป ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งจากการปรับตัวของต้นทุนต่างๆ ตามนโยบายภาครัฐ และผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เพราะระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ชะงักงัน
 
5.กลุ่มสิ่งทอ ภาคการผลิตสิ่งทอได้รับผลกระทบน้อย แต่จากการกดดันให้ปิดสถานที่ราชการ ทำให้กระบวนการขั้นตอนการส่งออกล่าช้า
 
6.กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีร้านค้าอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม
 
7.กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อย
 
8.กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงกว่า 30% เพราะผู้บริโภคตัดสินใจซื้อยากขึ้น
 
9.กลุ่มเครื่องหนัง โดยสินค้ารองเท้า และเครื่องหนังในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่ใกล้กับพื้นที่ชุมนุมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
 
และ 10.กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร ยอดการผลิตเครื่องจักรกลยังคงเป็นไปตามแผน เนื่องจากไม่ได้ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะส่งผลจากยอดความต้องการสินค้าต่างๆ จะลดลง
 
 
 
สถานการณ์นี้ ถือว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งยวด ภายใต้สุญญากาศทางการเมือง ที่ไม่มีนโยบายใหม่สามารถผลักดันออกมาจากภาครัฐ เพื่อลดแรงกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจในภาคเอสเอ็มอีได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นภาคเอกชนออกมาขับเคลื่อนประคับประคองกันขนานใหญ่ ขณะที่กลไกภาคราชการก็ต้องเร่งเตรียมแผนเพื่อสอดรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ให้ภาคเอสเอ็มอีต้องพากันล้มหายตายจาก
 
ในส่วนของ กสอ. เตรียมมาตรการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษา เพื่อหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตในทุกๆ ด้าน การลดสต๊อกสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น การใช้แรงงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ฉวยโอกาสช่วงที่คำสั่งซื้อสินค้าลดลงปรับปรุงเครื่องจักร และพัฒนาบุคลากร หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะขายผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น และควรพิจารณาขยายตลาดออกไป สู่ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
 
นอกจากนี้ กสอ.จะเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ โดยจะสำรวจเอสเอ็มอีเป็นระยะๆ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด และตั้งเป้ายกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีเป็น 40% ของจีดีพีรวม ภายใน 10-15 ปี จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 37% ของจีดีพี เพื่อให้ภาคการผลิตไทยมีความเข้มแข็ง
 
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ในฐานะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มองว่าในช่วงที่สถานการณ์การเมืองยังไม่ยุติ ภาคเอกชนจะต้องคอยดูแล ช่วยเหลือกันเอง โดยเฉพาะในกลุ่มของเอสเอ็มอี ที่ กกร.จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ
 
เช่น ส.อ.ท.ได้เปิดฮอตไลน์สายด่วน 0-2345-1165 ขึ้นมารับเรื่องร้องเรียนให้คำปรึกษา การให้กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เน้นดูแลห่วงโซ่ซัพพลายเชนของตัวเอง เพื่อให้มีการปรับตัว เน้นดูแลเรื่องการให้ความรู้ลดรายจ่ายต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพและช่องทางในการผลิต แสวงหาตลาดใหม่ เช่น ตลาดชายแดน เพิ่มเป้าหมายการส่งออก เพื่อชดเชยการบริโภคภายในประเทศ และคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ลดลงในปีนี้
 
 
 
สำหรับปัญหาสภาพคล่องนั้น นายชาติศิริ โสภณพานิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ได้หารือกับสมาชิกถึงแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีแนวทางในการช่วยเหลือลูกค้าแต่ละราย แต่ละกรณี เช่น การให้สภาพคล่องเพิ่มเติม การดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย
 
ขณะเดียวกัน หน่วยงานหลักสำคัญในการเข้ามาช่วย เหลือเอสเอ็มอีอย่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็อยู่ระหว่างเตรียมการเช่นเดียวกัน โดยนายปฎิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการ สสว. ระบุว่า สสว.อยู่ระหว่างการสำรวจผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า แต่ละรายได้รับผลกระทบในระดับใดบ้าง เพื่อจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้ตรงจุด
 
เบื้องต้นจะช่วยเหลือใน 2 ด้านเป็นหลัก คือ การดูแลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน และการหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติม ซึ่งช่วงเดือน ก.พ.นี้ สสว.จะประกาศมาตรการความช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานพร้อมที่จะเข้ามาช่วยพยุงกลไกเอสเอ็มอีให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านการเมืองที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไร

อ้างอิงจาก ข่าวสด
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
3,646
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
1,666
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
908
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
717
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
573
โรบอท สเตชัน คลับ จัดโ..
549
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด