2.6K
7 พฤษภาคม 2557
สสว.ห่วงไมโครเอสเอ็มอีถูกผลกระทบจากการเมือง


สสว.ห่วงไมโครเอสเอ็มอีถูกผลกระทบจากการเมืองหนัก หากยืดเยื้ออีก 2-3 เดือน ขณะที่แบงก์กสิกรไทยชี้มีลูกค้าจ่ายคืนหนี้ช้ากว่ากำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยอมรับว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองร้อยละ 85 จากผลการสำรวจตัวอย่าง 500 ราย ซึ่งเกิดจากยอดขายลดลงกว่าร้อยละ 50 แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปิดกิจการ เนื่องจาก สสว.ให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการลดต้นทุน การสนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียนและการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เอสเอ็มอีมีปัญหาหนี้เสีย รวมถึงมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ออกประกันภัยป้องกัน การก่อการร้าย โดยเบี้ยประกันราคาถูก เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถซื้อประกันได้
 
พร้อมกันนี้ ยังยอมรับว่าหากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อออกไปอีก 2-3 เดือน ผลกระทบต่อเอสเอ็มอีจะมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดจิ๋ว หรือไมโครเอสเอ็มอี เช่น ผู้ค้ารถเข็น ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 20 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนต่ำไม่เกิน 2-3 เดือน โดยเอสเอ็มอีขนาดเล็กมีจำนวนถึง 2 ล้านราย จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.8 ล้านราย ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 20-200 ล้านบาท ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ประมาณ 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม การเมืองที่ยืดเยื้ออาจทำให้ สสว. ต้องปรับเป้าหมายการเติบโตของเอสเอ็มอีที่คาดว่าปี 2560 เอสเอ็มอีจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 40 ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 37-38 ของจีดีพี
 
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งที่มีการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นช้ากว่ากำหนด โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมทั้งหมด 500,000 ล้านบาท

โดยพบในลูกค้าทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม การค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรายย่อย อิเล็กทรอนิกส์ แต่ธนาคารก็เพิ่มความระมัดระวังโดยเข้าไปช่วยเหลือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ แม้ว่าเอ็นพีแอลสิ้นไตรมาส 1 ปี 2557 จะยังทรงตัวที่ร้อยละ 2.8  นอกจากนี้ การที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้การขอสินเชื่อเพื่อขยายกิจการน้อยลงเช่นกัน ส่งผลให้ธนาคารปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอีลงเหลือโตร้อยละ 6-8 ภายใต้สมมติฐานจีดีพี โตร้อยละ 2 จากเดิมคาดสินเชื่อเอสเอ็มอีโตร้อยละ10.7

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สสว. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หอการค้าไทย สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ และบริษัทบิสิเนสโค้ชแอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ทั้งเจ้าของสิทธิ์ หรือแฟรนไชส์ซอร์ และผู้ซื้อสิทธิ์ หรือแฟรนไชส์ซี ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ความรู้ คำปรึกษา และสิทธิโปรโมชั่นต่าง ๆ โดยเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ 1,000 ล้านบาท ให้บริการด้านสินเชื่อ เค -เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ เครดิต หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบมีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน

ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้ากลุ่มแฟรนไชส์รวมทั้งสิ้น 477 ราย ยอดสินเชื่อ 1,296 ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมาตั้งวงเงินใหม่ให้ธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวน 510 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 20 เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเองมากขึ้นถึงร้อยละ 50 แต่การเริ่มต้นธุรกิจเองเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้น การซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยมีผู้สนใจลงทุนซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี ประมาณ 80,000 ราย ได้แก่ กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม เนื่องจากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวเองและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน .

อ้างอิงจาก mcot.net
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,214
PLAY Q by CST bright u..
1,329
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
947
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
945
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
794
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด