|
|
4 ตุลาคม 2557 |
ตลาดโฟรเซนร้อนฉ่า แบรนด์ดังเปิดหน้าชนขยายฐานทุกช่องทาง
จับตาน้องใหม่ หน้าเก่าพาเหรดบุกตลาดโฟรเซน "ซูกิชิ" วาดแผนรุกตลาดประเดิมชิมลางด้วย "กิมจิ โก โก" ก่อนแตกไลน์เพิ่มในปลายปี หลังทุ่มทุนกว่า 1 พันล้านตั้งครัวกลาง หวังใช้เป็นฐานผลิตสำคัญ ด้าน "โออิชิ" มั่นใจตลาดโตเป็นตัวเลข 2 หลักเร่งสปีดพัฒนาเมนูใหม่ป้อน พร้อมขยายเจาะช่องทางโมเดิร์นเทรด ขณะที่ "สิงห์" ดึงเชฟดัง แจ้งเกิด "สตาร์ เชฟ" เจาะตลาดไทย-อินโดจีน
นายนพดล จิรวราพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทซูกิชิ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์เกาหลี "ซูกิชิ" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่บริษัทได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1 พันล้านบาท ในการก่อสร้างครัวกลางแห่งใหม่ที่ ถนนบางนา-ตราด กม.9 เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจและสร้างมาตรฐานด้านการผลิตที่มีคุณภาพ ล่าสุดได้เปิดตัวสินค้าใหม่ "กิมจิ โก โก" กิมจิพรีเมียมต้นตำรับเกาหลี ในรูปแบบอาหารพร้อมทาน (ready to eat)โดยถือเป็นสินค้าไลน์แรกที่ผลิตจากครัวกลางซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากเมนูที่ได้รับความนิยมภายในร้านอย่างกิมจิ เนื่องจากผู้บริโภคนิยมซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ก่อนจะเปิดตัวไลน์สินค้าใหม่ที่มาจากเมนูที่ได้รับความนิยมภายในร้านภายในปีนี้อีก 1 รายการ
"ปัจจุบันแนวโน้มอาหารเกาหลีกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้บริโภค และมีแนวโน้มไปที่ความเป็นร้านอาหารเกาหลีเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น และมีความเป็นเกาหลีสไตล์โมเดิร์นมากขึ้น ไม่ใช่แบบเทรดดิชันนัลเทรดเหมือนสมัยก่อน"
ขณะที่เป้าหมายรายได้ของกิมจิ โก โก นับจากนี้บริษัทยังไม่มีการวางแผนแต่อย่างใด โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองและศึกษาตลาด เบื้องต้นวางจำหน่ายในช่องทางร้าน Sukishi Korean Chacoal Glill 8 สาขาได้แก่ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์,เซ็นทรัลพระราม9,เซ็นทรัล ลาดพร้าว,เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า,เดอะมอลล์ บางกะปิ,เมกา บางนา, แฟชั่นไอส์แลนด์ และฟิวเจอพาร์ครังสิตในราคา 59 บาท ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมในร้านซูกิชิทุกสาขาภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ยังมีแผนในการนำเข้าแฟรนไชส์แบรนด์ร้านอาหารจากประเทศเกาหลี เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยราวไตรมาส 1 ปี 2558 เพื่อรองรับตลาดที่กำลังเติบโตอีกด้วย ทั้งนี้การเข้าซื้อแฟรนไชส์ดังกล่าวมาทำตลาดเป็นการปรับกลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทเพื่อเพิ่มความหลากหลายและเสริมโครงสร้างแต่ละแบรนด์ให้แข็งแกร่ง จากนโยบายเดิมที่เน้นการสร้างแบรนด์เองเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมยอดขายของบริษัทปีนี้มองว่าจะสามารถสร้างการเติบโตที่ไม่เกิน 10% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่การขยายสาขาใหม่ในปีนี้อยู่ที่ไม่เกิน 8 สาขาในทุกแบรนด์ ทั้ง ปิ้งย่างซูกิชิ ซูกิชิ บุฟเฟ่ต์ โซลกริลล์ และวาวาชา จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการขยายสาขาที่ 20 สาขา เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ปัจจุบันซูกิชิถือเป็นผู้นำในตลาดร้านอาหารปิ้งย่างเกาหลี โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมที่ราว 6 พันล้านบาท
ด้านนายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ โออิชิ บุฟเฟ่ต์ , โออิชิแกรนด์ ,นิคุยะ , โออิชิ ราเมน ฯลฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยนิยมรับประทานอาหารสำเร็จรูปในรูปแบบของเรดดี้ ทู อีท และเรดดี้ ทู คุก มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดโฟรเซน ฟูดเองมีมูลค่ารวมถึง 1 หมื่นล้านบาท ล่าสุดบริษัทเปิดตัวแบรนด์ใหม่ "โออิชิ เทรนดี้"
ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง (โฟรเซน) พร้อมรับประทาน ออกวางจำหน่ายในเทสโก้ โลตัสเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวน 3 เมนู อาทิ ข้าวหน้าไก่เทอริยากิ ฯลฯ ราคา 59-79 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารญี่ปุ่นแต่ไม่สะดวกในการเดินทางไปรับประทานที่ร้าน หรือมีเวลาน้อย และมีแผนจะขยายเมนูเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไปยังร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าสมัยใหม่ ขณะเดียวกันบริษัท ยังเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ คีออส โออิชิ เกี๊ยวซ่า ซึ่งเบื้องต้นจะมีให้บริการ 10 จุดในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะขยายเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศด้วย
"ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดอาหารพร้อมทานและพร้อมปรุงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และจากการศึกษาตลาดพบว่า การแข่งขันยังมีช่องว่างในการพัฒนาสินค้า โดยอาศัยจุดแข็งของโออิชิ และความแข็งแกร่งของแบรนด์ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อีกด้วย โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายราว 300-500 ล้านบาทในปีหน้า"
ขณะที่นายธีระ วงศ์พัฒนาสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟน์ ฟู้ด แคปปิตอล จำกัด ผู้ผลิตและ จำหน่าย และบริหารอาหารพร้อมทาน ภายใต้แบรนด์ "สตาร์เชฟ" (Star Chefs)ในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ กล่าวว่า บริษัท พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานภายใต้แบรนด์ "สตาร์ เชฟ" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยเชฟที่มีชื่อเสียงและเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ โดยเน้นจำหน่ายในประเทศไทยและแถบอินโดจีน และแบรนด์ เด็ด เอเชีย (That’s Asia)อาหารพร้อมทาน ที่เน้นรสชาติความเป็นพื้นเมืองของประเทศนั้นๆ โดยเริ่มวางจำหน่ายที่ญี่ปุ่น และอินเดียเป็นต้น ซึ่งในอนาคตบริษัทจะขยายไลน์สินค้าไปยังกลุ่มอาหารพร้อมปรุง อาหารแช่แข็ง และส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจจำหน่ายอาหาร หรือฟูดเซอร์วิส ภายใต้แบรนด์ "ไฟน์ฟู้ด แคปปิตอล" ในการทำตลาดซึ่งจะเป็นอาหารพร้อมปรุง เหมาะสำหรับร้านอาหาร โรงแรม และบริการจัดเลี้ยง หรือ กลุ่มโฮรีก้า" (HORECA : Hotel Restaurant Catering) ด้วย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานในต่างประเทศเป็นตลาดที่ใหญ่มากทำให้มีโอกาสเติบโตอีกมาก เมื่อเทียบกับประเทศไทย แต่ไทยก็ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเติบโตได้ต่อเนื่องเช่นกัน
อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
|
|
|