|
|
5 มกราคม 2558 |
ม.หอการค้าฯ เผย 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ร่วง ปี 58 ธุรกิจความงาม ครองแชมป์
ม.หอการค้าไทยเผย 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ร่วงปี 58 ชี้ธุรกิจทางการแพทย์และความงามยังครองแชมป์อันดับ 1 ถึง 3 ปีซ้อน ส่วนธุรกิจดาวร่วง มีทั้งธุรกิจดอกไม้ประดิษฐ์ หัตถกรรม ผักผลไม้ พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าขาขึ้น เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวไตรมาส 2
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง 10 อันดับธุรกิจดาวเด่น-ร่วงในปี 58 ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยด้านยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ความสามารถในการรับผลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และความสอดคล้องกับกระแสนิยมว่า
ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงามยังเป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีคะแนนรวมสูงถึง 93.7 คะแนน และครองอันดับ 1 ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน รองลงมาคือ ธุรกิจเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว มีคะแนนรวม 93.1 คะแนน ซึ่งทั้งสองธุรกิจนี้มีความโดดเด่นทั้งยอดขายและกำไร เพราะพฤติกรรมในการดูแลผิวพรรณของคนไทยมีมากขึ้น ส่วนอันดับ 3 คือ ธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสาร มีคะแนน 92.9 คะแนน เพราะมีความต้องการใช้มากขึ้น อีกทั้งการเข้าสู่ยุค 4 จี จึงทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่มีการแข่งขันด้านราคาสูง
ขณะที่อันดับ 4 คือ ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจท่องเที่ยว 92.6 คะแนน อันดับ 5 ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต 91.6 คะแนน อันดับ 6 ธุรกิจเครื่องดื่ม 90.2 คะแนน อันดับ 7 ธุรกิจถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรคและธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง 89.9 คะแนน อันดับ 8 ธุรกิจสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ 89.1 คะแนน อันดับ 9 มี 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (แนวดิ่ง) และธุรกิจร้านกาแฟ 86.6 คะแนน และอันดับ 10 ธุรกิจประมงน้ำจืด และธุรกิจจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ 88.1 คะแนน
“ธุรกิจที่โดดเด่นในปีหน้าส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวตามสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น การรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเมืองมากขึ้น และมาจากนโยบายภาครัฐ เช่น การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ตามมา”
สำหรับธุรกิจดาวร่วงในปี 58 ได้แก่ ธุรกิจดอกไม้ประดิษฐ์, ธุรกิจหัตถกรรมทั่วไป, ผักผลไม้อบแห้ง, สิ่งทอผ้าผืน (งานไม่เน้นฝีมือ), ร้านค้าดั้งเดิม (โชห่วย), ยางพารา, โทรทัศน์สีรุ่นธรรมดา (จอตู้), ข้าว, ส้วมนั่งยอง และรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) โดยมอเตอร์ไซค์จะเป็นธุรกิจที่เห็นชัดถึงการเปลี่ยนของสังคมเมือง เพราะผู้บริโภคจะหันไปซื้อรถยนต์นั่ง (รถเก๋งขนาดเล็ก) หรือบิ๊กไบค์มากขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อถึงเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า จะเป็นช่วงขาขึ้น คาดว่าจะขยายตัว 4% การส่งออกขยายตัว 4.1% การบริโภคภายในประเทศขยายตัว 2.7% การลงทุนขยายตัว 6.9% ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.5% ภาคเกษตรขยายตัว 1.6% และอัตราเงินเฟ้อขยายตัว 2.3%
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 โดยภาวะเศรษฐกิจในไทยจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีหน้า เพราะเงินอัดฉีดจากรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าระบบและเดินเครื่องในช่วงเดือน ม.ค.58 ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวดีขึ้นตามมา อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่ยังขยายตัวอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจรายเล็กยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก เพราะกำลังซื้อฐานรากยังไม่ดี”
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในปี 58 น่าจะอ่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 33 - 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยในช่วงครึ่งปีแรกต้องยอมรับว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย และในช่วงครึ่งปีหลังค่าเงินบาทน่าจะกลับมาอยู่ที่ 32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ได้ ส่วนราคาน้ำมันคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม การจัดงานมหกรรมของขวัญลดราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 24-30 ธ.ค.นี้ น่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ 10,000-15,000 ล้านบาท หรือ 0.05% ของจีดีพี และหากรวมกิจกรรมอื่นๆ เข้าไป คาดว่าในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ น่าจะช่วยเพิ่มจีดีพีได้ 0.3-0.4% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.8%
อ้างอิงจาก ไทยรัฐ
|
|
|