|
|
4 มีนาคม 2558 |
โมเดลขยายธุรกิจคล้ายการให้แฟรนไชส์ในแต่ละประเทศ "แอร์เอเชีย" ส่อเค้าเจอปัญหา
นักวิเคราะห์ชี้ รูปแบบการขยายธุรกิจของ "แอร์เอเชีย" ที่เน้นการร่วมทุนในลักษณะคล้ายการให้แฟรนไชส์ในแต่ละประเทศ ส่อเค้าเจอปัญหา
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า รูปแบบการขยายธุรกิจของแอร์เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่ของเอเชีย ที่มุ่งเน้นการร่วมทุน ในลักษณะที่คล้ายกับการขายแฟรนไชส์ในแต่ละประเทศ อาจตกอยู่ภายใต้ภาวะตึงเครียด จากการรับมือกับสถานการณ์ทางธุรกิจหลังแบรนด์เจอวิกฤติครั้งใหญ่สุด จากเหตุเครื่องบินของหน่วยงานในอินโดนีเซียตก
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่า ในการแถลงรายได้สิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ รายได้ของ แอร์ เอเชีย กรุ๊ป จะได้รับผลกระทบจากเหตุเที่ยวบินคิวแซด 8501 ของแอร์เอเชีย อินโดนีเซีย ตก ที่ทำให้ลูกเรือ และผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมด 162 ราย
ขณะเดียวกัน อุปสรรคทางด้านวัฒนธรรม และกฎข้อบังคับ ก็อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของบริษัท ที่จะขยายแฟรนไชส์เข้าไปในตลาด อย่าง ญี่ปุ่น และเวียดนาม
รูปแบบการทำธุรกิจในปัจจุบัน ยังสร้างความเสียเปรียบให้กับบริษัทร่วมทุนในแต่ละประเทศ เพราะบริษัทเหล่านี้จะต้องรับภาระต้นทุนที่สูงกว่าบริษัทหลัก ในมาเลเซีย โดยจะต้องเป็นผู้รับภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ของสายการบิน รวมถึง ค่าซ่อมบำรุง และค่าเช่าซื้อเครื่องบิน โดยในไตรมาสที่สิ้นสุดเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แอร์เอเชีย มาเลเซีย มีต้นทุนต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรอยู่ที่ 3.99 เซนต์ เทียบกับหน่วยงานร่วมทุนในอินโดนีเซีย ที่ 5.14 เซนต์ และ 5.24 เซนต์ในไทย
ยิ่งกว่านั้น บริษัทว่าที่พันธมิตรรายใหม่ที่แอร์เอเชียตั้งเป้าจะเข้าไปร่วมทุน เพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจนั้น ยังไม่ยินดีที่จะให้แอร์เอเชียเข้าควบคุมการบริหารงาน เหมือนกับบริษัทร่วมทุนในประเทศอื่นๆ ที่นายโทนี่ เฟอร์นันเดซ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ประสบความสำเร็จได้เข้าควบคุมการดำเนินงาน แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อยก็ตาม
อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
|
|
|