2.5K
30 กรกฎาคม 2558
ไอที-มือถือพลิกกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต "TWZ-ดิจิแลนด์"ผุดโมเดล"แฟรนไชส์"โหมค้าส่ง




 

ปรับแผนอุตลุดฝ่าวิกฤตกำลังซื้อครึ่งปีหลัง "ทีดับบลิวแซด" กางแผนบุก "ค้าส่งปั้นแฟรนไชส์" ตั้งเป้า 100 สาขา พร้อมเพิ่มน้ำหนักโหมตลาด "เฮาส์แบรนด์" ชู "ราคาขาย-ส่วนต่างกำไร" สู้อินเตอร์แบรนด์ ฟาก "ดิจิแลนด์" ขยับเพิ่มสินค้า-ผุดโมเดลรถไอทีเคลื่อนที่ DD2U เจาะลูกค้าต่างจังหวัด หวังต่อยอดเป็นโซลูชั่นการจัดการธุรกิจครบวงจร


นายกิตติพงศ์ กิตติภัสสร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด บมจ.ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้ในไตรมาสแรกปีนี้ จะมีรายได้จากการขาย และบริการเป็นไปตามเป้าที่ 955 ล้านบาท แต่สภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ไม่ดีนักทำให้ต้องกลับมาทบทวนแผนการตลาดใหม่ รวมถึงปรับลดระยะเวลาการให้เครดิตในการซื้อสินค้ากับคู่ค้าให้สั้นลง เพื่อกระตุ้นให้เร่งระบายสินค้า และไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องอาจส่งผลให้เป้ารายได้รวมที่เกือบ 5,000 ล้านบาทไม่ได้ตามเป้า

TWZ ผุดโมเดลแฟรนไชส์


อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่การเป็นผู้ค้าส่งโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ มีทั้งเครื่องอินเตอร์แบรนด์ เช่น ไมโครซอฟต์, ซัมซุง,แอปเปิล รวมถึงเฮาส์แบรนด์ "ทีดับบลิวแซด", กล้องวงจรปิด เป็นต้น เพื่อให้รายได้จากค้าส่ง 70% ค้าปลีก 30% (ผ่านร้านทีดับบลิวแซด และเทเลวิซที่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการ)

"เข้าไตรมาส 2 สัญญาณบวกเริ่มหายไปชัดเจน ร้านทีดับบลิวแซดของเราเอง เดิมมี 20 กว่าแห่งก็ทยอยปิดเหลือ 13 แห่ง เพื่อลดการแข่งขันกับร้านที่บริษัทขายส่ง ส่วนแฟรนไชส์เทเลวิซยังหาพื้นที่เปิดเพิ่มอยู่ จากที่มีอยู่แล้ว 22 สาขา"

เมื่อหันมาเน้นการขายส่งจึงสร้างรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ ชื่อ "ทีดับบลิวแซด" ขึ้นมา เพื่อยกระดับร้านโทรศัพท์มือถือรายย่อยให้มีความน่าเชื่อถือ ผู้ที่สนใจจะเสียค่าแรกเข้า 50,000 บาท พร้อมค่าใช้จ่ายในการตกแต่งร้าน (บริษัทออกให้ครึ่งหนึ่ง) และมีเงื่อนไขว่าต้องสั่งสินค้า 3 แสนบาท/เดือน



เพิ่มน้ำหนัก "เฮาส์แบรนด์"

"เมื่อเราโฟกัสค้าส่งเต็มตัวจะเปิดช็อปเองมากคงไม่ได้จึงคิดโมเดลแฟรนไชส์ทดแทนหน้าร้านที่ปิดไปช่วยให้รายย่อยขายได้ดีขึ้นต้นปีเปิดไปแล้ว 20 แห่ง ในสิ้นปีน่าจะได้ถึง 100 แห่งทั่วประเทศ เราไม่ได้ฟิกซ์ว่าต้องขายสินค้าที่ซื้อจากเราอย่างเดียวขอแค่ 70% ของพื้นที่ในร้านทั้งสร้างแอปพลิเคชั่น TWZ Pay ให้แฟรนไชส์รับชำระค่ามือถือ และสาธารณูปโภคได้ด้วย"

รายได้หลักยังมาจากโทรศัพท์มือถือ80% ซึ่งแบรนด์ที่ทำตลาดได้ดี คือ เฮาส์แบรนด์ เนื่องจากราคาเทียบกับสเป็กของอินเตอร์แบรนด์แล้วถูกกว่าหลายเท่าทำให้มีส่วนต่างกำไรให้ร้านค้ามากกว่า ระดับราคา 3,000-3,500 บาท หน้าจอ 5 นิ้วขึ้นไป เช่น รุ่น Circle 9 จอ 6 นิ้ว ซีพียูดูอัลคอร์ความเร็ว 1.2 GHz ราคา 3,190 บาทเป็นต้น และมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยไตรมาสแรกรับรู้รายได้ 48 ล้านบาท และปลายปีจะเปิดโครงการใหม่ให้เช่าบริเวณสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว

ด้านนายสมพงษ์ สุทธิเชื้อชาติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดิจิแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในครึ่งปีหลัง บริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อเนื่อง หลังกลุ่ม FVIG (ฟอร์จูนเวนเจอร์อินเวสเม้นท์กรุ๊ป) เข้ามาถือหุ้น 100% (นักลงทุนจีน, ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่สนใจด้านไอที มีเงินทุนรวมกันกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยยังใช้ชื่อดิจิแลนด์ และโฟกัสการเป็นดิสทริบิวเตอร์ไอที แต่จะมีสินค้ามากขึ้น และเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากที่มีอยู่ 20 ราย ครอบคลุมทั้งพีซี โน้ตบุ๊ก แท็บเลต ไอทีซีเคียวริตี้ อุปกรณ์เสริม

"ดิจิแลนด์" ปั้น DD2U


"ในวงการไอทีมีดิสทริบิวเตอร์ระดับพันล้านเหลือ 6 ราย จากเศรษฐกิจหดตัวโดยเฉพาะค้าปลีกไอทีซบเซามากใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ร้านค้าปลีกทยอยปิดกิจการเฉลี่ย 10% ต่อปี ดีลเลอร์ระดับกลางอยู่ยาก โดนบีบจากรายใหญ่ที่ขยายสาขาต่อเนื่อง ตกแต่งร้านดูดีกว่า อีกด้านจากรายเล็กที่บริหารคล่องตัว ค่าโสหุ้ยต่าง ๆ น้อยกว่าทำให้ดัมพ์ราคาตีหัวเข้าบ้านได้ง่าย"

ดิสทริบิวเตอร์หลายรายปรับตัวด้วยการขยายไปสู่ธุรกิจวางระบบ(SI)ซึ่งบริษัทอาจก้าวไปสู่จุดนั้นเช่นกัน แต่ต้องใช้เวลา ดังนั้นระหว่างเตรียมพร้อมจึงต้องมองไปที่การขยายตลาดใหม่ ๆ เกิดเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ รถขายสินค้าไอทีเคลื่อนที่ "DD2U" ที่มีระบบจัดการหลังบ้านครบวงจร ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะอยู่ในต่างจังหวัด เช่น คนงานในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ

"เป้าหมายเราอยู่ในตลาดแมสกลางถึงล่าง การนำสินค้าลงไปถึงพื้นที่ได้จะทำตลาดง่ายกว่า แม้ช่องทางออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้น แต่มีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึง ขณะที่ค้าปลีกเปลี่ยนไปเรื่อย ตามความซับซ้อนของการใช้ชีวิตของผู้บริโภค การมีหน้าร้านลดทอนความสำคัญลงจากการมีร้านค้าออนไลน์ มีไว้สำหรับบริการหลังการขาย หรือสร้างแบรนด์ วันนี้คีย์เวิร์ด คือทำอย่างไรที่จะดึงความสนใจทำให้ลูกค้ายอมรับ"



ต่อยอดให้บริการโซลูชั่น


โมเดลแฟรนไชส์ DD2Uถือเป็นโครงการ R&D เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต ปัจจุบันบริษัทใช้เพื่อเพิ่มช่องทางขายสินค้า แต่ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น "โซลูชั่น" จัดการธุรกิจครบวงจรตั้งแต่การจัดการสต๊อก บัญชี การขาย วิเคราะห์ลูกค้า ที่จะขายให้ธุรกิจอื่นนำไปยอดต่อ และทำให้บริษัทกลายเป็น "โซลูชั่นโพรไวเดอร์"

"รายได้ 100% มาจากการขายสินค้า 75% พีซี โน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์เสริม อีก 25% จากเน็ตเวิร์กและซีเคียวริตี้ทั้งขายของ และวางระบบผ่านคู่ค้า ในอนาคตหวังว่าจะมีรายได้จากการให้บริการโซลูชั่นเพิ่มขึ้น เพราะกำไรเยอะกว่า ยิ่งระบบ DD2U ที่พัฒนาขึ้นเองไม่ต้องจ่ายค่าไลเซนส์ให้ใคร"

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
3,591
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
1,640
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
868
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
715
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
570
โรบอท สเตชัน คลับ จัดโ..
548
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด