2.2K
1 กันยายน 2558
SMEs ตื่นตัวใช้บริการครบวงจร พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ


สสว.เดินหน้าเปิดศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษครบทั่วประเทศ เผยหลังเปิดให้บริการไม่ถึง 4 เดือน มี SMEs ขอรับบริการแล้วกว่า 400 ราย ด้านบัญชี การเงิน ขึ้นแท่นขอรับคำปรึกษามากที่สุด ขณะที่สมาคมช่างทองฯรวมกลุ่มขอรับคำปรึกษายกระดับเป็นผู้ประกอบการ คาดในอนาคตจะมี SMEs ขอรับบริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ สสว.ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือ SME One Stop Service : OSS ขึ้น จำนวน 7 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยให้ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อ เชื่อมโยง ส่งต่องานบริการของภาครัฐและภาคเอกชนให้กับผู้ประกอบการ SMEs

ล่าสุด นอกจากนำร่องเปิดศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรแห่งแรกขึ้นในกรุงเทพมหานคร ณ ที่ทำการของ สสว.เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สสว.ยังได้ทยอยเปิดศูนย์ดังกล่าว เพื่อให้บริการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก (สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ) จังหวัดสระแก้ว (ศาลากลางจังหวัดฯ) จังหวัดมุกดาหาร (ศาลากลางจังหวัดฯ) จังหวัดตราด (ศาลากลางจังหวัดฯ) จังหวัดหนองคาย (ศาลากลางจังหวัดฯ) และจังหวัดสงขลา (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคฯ) เป็นที่เรียบร้อย และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ใกล้เคียง เข้าขอรับคำปรึกษาจำนวนมาก



"ระยะเวลา 4 เดือน หลังจาก สสว. เปิดศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร ได้ให้บริการคำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไปแล้วกว่า 400 ราย
โดยประเด็นที่ผู้ประกอบการ SMEs สนใจรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ด้านการเงินและบัญชี จำนวน 153 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 38 รองลงมาคือ ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ จำนวน 132 ราย คิดเป็นร้อยละ 33 และด้านการตลาด 90 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ส่วนด้านการผลิต คุณภาพ และมาตรฐาน เป็นด้านที่ผู้ประกอบการ SMEs ขอรับคำปรึกษาแนะนำน้อยที่สุด จำนวน 27 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งหมด ตามลำดับ" ดร.วิมลกานต์กล่าว

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกสมาคมช่างทองไทย พร้อมตัวแทนสมาชิกของสมาคมฯ ได้เข้าหารือกับ สสว. เพื่อให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และพัฒนาบุคลากรช่างทอง เพื่อให้สามารถยกระดับศักยภาพของตนเองให้เป็นเจ้าของธุรกิจที่ยั่งยืน และแก้ปัญหาการขาดแคลนช่างทองในอนาคต เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ เพราะไม่มีวุฒิการศึกษารองรับ

"บุคลาคกรช่างทองถือเป็นแรงงานชั้นทักษะฝีมือระดับสูงในธุรกิจอัญมณีและเครื่องดับ แต่ปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นการผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ช่างทองถูกใช้ความสามารถเพื่อรองรับการผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมไปในแต่ละด้านเท่านั้น ทางสมาคมฯ จึงกลัวว่า ความรู้เชิงช่างเฉพาะด้านที่ต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์และฝีมืออย่างยาวนานคนละไม่น้อยกว่า 20 ปี จะสูญหายไป จึงมีแนวคิดที่จะยกระดับตนเองขึ้นเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสงวนองค์ความรู้นี้ไว้ให้คงอยู่ด้วยการดำเนินธุรกิจผลิตงานฝีมือที่คงเอกลักษณ์ช่างไทยออกสู่ตลาด และสร้างรายได้เลี้ยงตนได้เป็นอย่างดี"

"ซึ่งจากการหารือดังกล่าว สสว.จึงได้ดำเนินการในระยะสั้น ด้วยการรวบรวมความต้องการรับการสนับสนุนของช่างทอง โดยนัดหมายให้สมาคมฯ จัดช่างทองเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อสอบถามความต้องการของแต่ละคน ผ่านการให้คำปรึกษาของศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร ของ สสว. เพื่อที่จะได้จัดคอร์สอบรมความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการให้แก่สมาชิกของสมาคมฯ ได้ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง ส่วนในระยะยาวนั้นจะรวบรวมข้อเสนอของสมาคมฯ ส่งต่อให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป"


ทั้งนี้ ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร ของ สสว. จะให้บริการปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามช่วงธุรกิจ เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ เติบโต ขยายธุรกิจ และการฟื้นฟูกิจการ โดยมีขอบเขตการให้บริการหลักๆ ได้แก่

1.บริการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นกลไกในการเข้าถึง SMEs เพื่อกระจายความช่วยเหลือจากภาครัฐลงสู่ผู้ประกอบการ SMEs โดยผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆจากภาครัฐ เช่น รับแจ้งข่าวสารในวงการธุรกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การดูงาน ส่วนลดสินค้าและบริการต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เป็นพันธมิตรของ สสว.

2.บริการคลินิกให้คำปรึกษา SMEs
โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำหน้าที่ในการบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์ความรู้ธุรกิจรวมทั้งอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ โดยเน้นการบริการและช่วยเหลือแบบครบวงจร

3.บริการอบรมและสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ห้องเรียน SME) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs 4.ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ ที่จะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ และ 5.บริการส่งต่อภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการประสานงานทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านการค้า การตลาด การส่งออก ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการ

นอกเหนือจากศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร ทั้ง 7 แห่ง สสว.ยังมีช่องทางที่หลากหลายในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ สสว. Call Center 1301 เว็บไซต์ www.sme.go.th และที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วทุกพื้นที่

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,167
PLAY Q by CST bright u..
1,319
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
945
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
793
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด