"รัดเข็มขัด" + "จัดระเบียบ" สูตรเด็ดแฟรนไชส์ไทย "สู้"
พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ และ สมจิตร ลิขิตสถาพรนักวิชาการและกูรูแวดวงแฟรนไชส์ทุบโต๊ะปี 2552 "ไม่รุ่ง" แต่ก็ "ไม่ร่วง" ปีวัวจะเป็นโอกาสฟื้นตัวของแฟรนไชซอร์ และถึงเวลาเตรียมเปิดตำราสู้แฟรนไชส์อิมพอร์ตที่พร้อมทะลักเข้าไทย...
หลังจากผ่านพ้นภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ตลอดทั้งปี 51 ก็พอจะเห็นภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ได้บ้างแล้ว เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองช่วงปลายปีเริ่มนิ่ง และเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ นักลงทุนจึงกล้าทุบกระปุกมากขึ้น ทำให้ปีที่แล้ว แฟรนไชส์ไทยเติบโตสูงขึ้นเป็น 7.88% คิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 85,320 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนสาขาแฟรนไชส์รวมทั้งสิ้น 87,357 แห่ง
และเหมือนฟ้าหลังฝนจะสดใส แต่ปรากฎผลวิจัยสุ่มเสี่ยง พบว่า มีอัตราการปิดตัว (Failture Rate)ถึง 44.8% เรียกว่าหายหน้าจากวงการไปถึง 226 แห่งเลยทีเดียว นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย
หรือนี่จะเป็นดัชนีชี้วัดว่า "แฟรนไชส์ไทยล่มไม่เป็นท่า และไร้เสถียรภาพ" ??
พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บอกว่า เหตุผลหลักของการปิดกิจการ นอกจากวิกฤติการเมืองเข้ากระทบอย่างจังแล้ว สภาวะทางธุรกิจของตัวแฟรนไชส์เอง ซึ่งมักเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการมากกว่าความบกพร่องด้านการเงิน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการหมุนเงินดีขึ้นแล้ว
ตลอดจนข้อพิพาทระหว่างแฟรนไชซอร์ และแฟรนไชซี ในเรื่องยอดขายและกำไร ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลง ทั้งนี้ พีระพงษ์ เผยว่ากำไรสุทธิทั้งปีของธุรกิจควรจะอยู่ที่ 6 หมื่นบาท และถ้าคิดจากยอดขายต่อเดือนจะต้องอยู่ที่ 2.9 แสนบาทขึ้นไปหรือกำไรเดือนละ 3 หมื่นบาท ถึงจะอยู่รอดได้สบายๆ
ฉะนั้น จึงต้องไขนอตแฟรนไชส์รอดชีวิตตลอดปี "เผาจริง" ให้ได้
เหล่านักธุรกิจก๊วนแฟรนไชส์จึงระดมความเห็นกันว่า จะต้องคัดกรองระเบียบข้อบังคับจากแฟรนไชซอร์ชั้นยอด 86 รายจาก 300 รายเพื่อสร้างกฎเกณฑ์แฟรนไชส์มาตรฐานขึ้นมา ตลอดจนวางกรอบป้องกันปัญหาจุกจิกไร้ระบบ
"ข้อสังเกตสัญญาแฟรนไชส์ที่มี มันจะไม่สมบูรณ์ในเชิงกฎหมาย สัญญาจะมีผลต่อสู้คดีความแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการออกแบบของแต่ละบริษัท แต่กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้นั้น ก็เพื่อควบคุมแฟรนไชส์ทั้งหมด และเมื่อแฟรนไชส์มีมาตรฐาน มีระบบระเบียบ มันก็จะส่งผลให้ธนาคารกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นอย่ามองแค่กฎหมายจะมาคุ้มครองสิทธิ เพราะแท้ที่จริงแล้ว มันเอื้อต่อการเติบโตของวงการแฟรนไชส์ด้วย"
พีระพงษ์ ตอกย้ำอีกว่า หากทุกคนโหวตให้ "มาตรฐาน" เป็นพระเอกในปีนี้ เชื่อว่า จะเป็นแก้ปัญหางูกินหางที่เรื้อรังมานานได้
"แม้ว่าที่ผู้ซื้อสิทธิ์จะต้องการลงทุนอาจมีศักยภาพซื้อธุรกิจที่ใช้งบหลักล้าน แต่จำนวนเงินลงทุนเฉลี่ยของแฟรนไชซียังอยู่ที่ 4-8 แสนบาท ทำให้เกิดพฤติกรรมซื้อตราสินค้าราคาถูก กลายเป็นต้นตอของปัญหาข้อพิพาทต่างๆในปัจจุบัน แต่เมื่อแบงก์ยอมรับในกฎหมายแฟรนไชส์ ก็ทำให้เกิดการปล่อยเงินกู้มากขึ้น แฟรนไชซีก็จะซื้อธุรกิจได้ตรงความต้องการ ธนาคารเองก็ไม่ต้องกังวลกับหนี้เน่าในอนาคต Win-Win กันทุกฝ่าย"
นอกจากจะต้องพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน พร้อมกับใช้ตัวเกณฑ์มาตรฐานไปพลางๆ ระหว่างรอกฎหมายบังคับใช้ และรอการขยายลงทุนของธนาคารแล้ว
ในระหว่างนี้ แฟรนไชซอร์ก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการกลับมาทบทวนบทบาทตนเอง คิดให้ถูกต้อง ทำตัวให้เป็นคนแข็งแรง และเซตเป้าหมายให้ชัดแจ้ง
ตลอดจนปรับปรุงในเชิงกลยุทธ์ธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง (Resource Base News) เสาะหาจุดแข็งที่แตกต่าง หรือขุดจุดยืนขึ้นมาโชว์ให้ได้ ตามด้วยด้านผลกำไร จะต้องรู้จักควบคุมค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ แต่ไม่กดราคาขาย และสุดท้ายคือแก้กลยุทธ์บริหารแฟรนไชส์
ฉีกเงื่อนไข "ฟรี" ค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายเดือน เพราะนี่คือรายได้หลักของธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นเงินทุนที่จะให้ธุรกิจหมุนไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้วิธีดึงรายได้มาจากแฟรนไชซีด้วย
ผอ.ศูนย์วิจัยฯ ให้คาถารวยไว้ว่า "คอนเซปต์ชัดเจน + ระบบแฟรนไชส์ยืนพื้น + นัมเบอร์วันในไลน์ธุรกิจของตัวเอง"
ส่วนแฟรนไชซีจะต้องท่องให้ขึ้นใจว่า "ข้อมูล = โอกาส" โดยพยายามเติมความรู้ให้มากเพื่อตัดสินใจเลือกลงทุน และต้องหาข้อมูลพิจารณาการลงทุนว่าจะต้องกู้หรือไม่ด้วย ที่สำคัญอย่าละเลยคำนึงมาตรฐาน เนื่องจากมันจะช่วยคัดตัวจริง และเขี่ยตัวปลอมให้หลุดจากวงการได้ง่ายขึ้น
"หากจะให้ชี้ว่าธุรกิจไฮไลท์ในปี 52คือตัวไหน ยังไงธุรกิจอาหารก็ยังมาวิน แต่ควรต้องใช้ความรู้ ไม่ใช่ความเชื่อ อย่าซื้อตามๆกัน ให้เลือกจุดยืน บริหารจัดการถูกต้อง และมีบริการตัวใหม่ๆมาต่อยอด และจะต้องเข้าใจจริงๆ ในลักษณะพิเศษของธุรกิจแฟรนไชส์"
เมื่อแฟรนไชส์แก้ปัญหาได้ ก็จะสร้างความมั่นใจในวงการแฟรนไชส์ ส่งผลให้คุณภาพของการลงทุนจะดีขึ้นและลักษณะลงทุนเพิ่มตามไปด้วย
พีระพงษ์ เผยภาพรวมว่า เราอาจจะเห็นแฟรนไชส์ไซส์เล็กปิดตัว ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ ก็จะหันมาเปิดแฟรนไชส์มากขึ้น และจะขยายสาขาด้วยตัวแฟรนไชซอร์เองถึง 80% อีกทั้งจะมีแฟรนไชซอร์รายใหม่เพิ่มไม่ต่ำกว่า 60 ราย หรือเพิ่มขึ้น 50% จากปี 51
เนื่องจากเงื่อนไขงบประมาณการส่งเสริม มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่จะหลั่งไหลเข้ามาในภาคแฟรนไชส์ รวมทั้งการจัดงานอีเว้นท์ของภาคราชการ และยิ่งกว่านั้น ยังมีอิทธิพลของสถานการณ์เลย์ออฟคนงาน ตลอดจนลูกจ้างในภาคเอกชนที่เริ่มกังวลในอาชีพที่ทำอยู่ จึงคิดหาทางออก หาอาชีพเสริม รวมทั้งคนทำธุรกิจอยู่แล้วแต่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ
ภาพแฟรนไชส์ จึงเป็นโอกาสธุรกิจสุดฮอตในปีฉลู ไม่แพ้รูปแบบธุรกิจอื่นๆ
กูรูแฟรนไชส์ คาดว่าปี 52 น่าจะมีการเติบโตไม่เกิน 10% และจะมีนักลงทุนเพิ่มขึ้น 10.6 % ที่สำคัญมันจะช่วยลดอัตราการปิดที่สูงเฉลี่ย 25% มาตลอด ให้เหลือไม่เกิน 12% ให้ได้
และปีวัวนี้ นักธุรกิจจะเห็นแฟรนไชส์หน้าใหม่แปลกๆ ฉีกแนวซ้ำซาก เช่นแฟรนไชส์ขายพลาสติก ขายบ้าน อสังหาริมทรัพย์ ต้นไม้ ออกแบบสวน หรือออกแบบป้าย และเริ่มมีระบบกึ่งไลเซ่นให้เป็นทางเลือกของผู้ซื้อสิทธิ์กระเป๋าหนัก
สมจิตร ลิขิตสถาพร กรรมการผู้จัดการบริษัท แฟรนไชส์โฟกัส จำกัด เพิ่มเติมว่าแฟรนไชซีก็ยังสนใจหมวดการลงทุนไม่สูงนัก ตั้งแต่หลักหมื่นถึงแสนบาท เพราะระดับลงทุนน้อยจะขยายตัวเร็วกว่า ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารยังคงขึ้นตลอด เพราะความต้องการของผู้บริโภคยังล้นอยู่ รวมถึงกลุ่มเซอร์วิส ยังมีทางให้เล่น อย่างเนิร์สเซอรี่ และธุรกิจทำความสะอาด อีกทั้งยังมีตลาดในต่างจังหวัด ที่มีหัวสมัยใหม่ เข้าใจในระบบแฟรนไชส์พอสมควร หรือชุมชนใหม่ ที่จะช่วยสร้างศักยภาพให้แฟรนไชส์เติบโตไม่หยุดยั้ง
และจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก กลายเป็นโอกาสของแฟรนไชส์นำเข้า (Franchise Import) ซึ่งตอนนี้ธุรกิจประเภทอาหาร บริการ เติมหมึก พิซซ่า การศึกษา สนามกอล์ฟ จากประเทศออสเตรเลีย สเปน และสิงคโปร์ กำลังศึกษาตลาดบ้านเราอยู่
"ต่างประเทศจะศึกษาก่อนว่า ตลาดไทยมีอยู่แล้วหรือไม่ มีคู่แข่งขันแบบไหน ทำเลที่จะเปิดตรงไหน ถ้าจะเข้ามาก็มักเป็นขาใหญ่ ซึ่งพวกเขาจะแข่งกับไซส์บิ๊กของไทย ส่วนคู่ค้าที่จะซื้อแฟรนไชส์ต่างชาติ ก็หนีไม่พ้นรายใหญ่ในประเทศไทยเหมือนกัน"
แม้จะเป็นคลื่นยักษ์ที่พร้อมถาโถมให้แฟรนไชส์สัญชาติไทยรู้สึกร้อนๆหนาวๆ แต่สมจิตรบอกว่า ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องมองในแง่บวก เราจำเป็นต้องจ่ายค่าวิชาให้กับแฟรนไชส์ต่างแดน ซึ่งคุ้มเมื่อเทียบกับการสอนให้คนของเราเป็นเจ้าของกิจการ ผ่านวิทยาการต่างๆ แถมยังอัดใส่เทคโนโลยีให้เต็มที่
แต่ก็อย่ามัวรื่นรมย์กับการตักตวงกำไรใส่กระเป๋าเพียงอย่างเดียว เพราะภาระที่แฟรนไชซีไทยต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มจูบปากพันธมิตรต่างแดน ก็คือต้องดูความสามารถผู้บริหาร พิจารณาวิชั่น จิตวิทยาบริหารและลักษณะนิสัย พร้อมกับเก็บเกี่ยวการเรียนรู้บริหารร้านสาขา การค้าปลีก มาตรฐานอาหาร การอบรมพนักงาน ตลอดจนการทำแบรนด์ไว้กับตัวให้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน แฟรนไชส์ไทยก็ต้องโกอินเตอร์ให้เป็น กล้าที่จะฝันและตั้งเป้าบินไกลไว้ก่อน
สมจิตรบอกว่า เราต้องกล้าคิดกล้าทำ มองความเป็นไปได้ และกำหนดว่าจะขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศไว้ในแผนระยะยาว พร้อมพยามยามสร้างมาตรฐานสากลให้ได้และต่อเนื่อง โดยอาศัยเรียนรู้ประสบการณ์จากรุ่นพี่เป็นใบเบิกทาง เพื่อให้ปี 2552 เป็นปีของธุรกิจแฟรนไชส์อย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์