2.3K
15 มิถุนายน 2560
"ชาร์ลีบราวน์"ปรับราคา-ลุยแฟรนไชส์

 
 
"ชาร์ลี บราวน์" ปรับกลยุทธ์ปลดล็อกธุรกิจแคแร็กเตอร์คาเฟ่ ย่อไซซ์ร้าน ลดราคากลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม 10% ขยายตลาดแมส รองรับเปิดสาขาใหม่ เตรียมเปิดตัวแฟรนไชส์ไตรมาส 2 นี้ พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ ส่งโปรโมชั่นกระตุ้นยอดอาหาร-เครื่องดื่ม-เมอร์แชนไดส์
 
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แคแร็กเตอร์-ตัวการ์ตูนเป็นอีกกลยุทธ์ที่เหล่าร้านอาหาร-เครื่องดื่มในรูปแบบ "คาเฟ่" นำมาสร้างแบรนด์ให้กับร้าน สร้างความแตกต่างในตลาด โดยยังคงมีร้านใหม่ๆ ทยอยเข้ามา พร้อมๆ กันกับที่บางร้านต้องโบกมือลาไปเงียบๆ ขณะที่ร้านเดิมก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค
 
นายรภีร์ จักรภีร์ศิริสุข กรรมการบริหาร บริษัท ชาร์ลี แอนด์ เฟรนด์ส จำกัด ผู้บริหารร้าน "ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ไทยแลนด์" ฉายภาพกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ต่อจากนี้จะยังมีร้านแคแร็กเตอร์คาเฟ่ใหม่ๆ ในไทยเกิดขึ้นอีกมาก เพราะยังมีแคแร็กเตอร์อีกหลายตัวรองรับคนที่มีทุนและต้องการมีธุรกิจคาเฟ่ของตัวเองสามารถขอสิทธิ์มาใช้เป็นแบรนด์ของร้านเพื่อเป็นทางลัดให้คนรู้จักร้านรวดเร็วเพราะแคแร็กเตอร์เหล่านั้นมีเรื่องราวของตัวเอง เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้เวลาสร้างขึ้นมา ขณะที่เจ้าอื่นก็ไม่สามารถนำแคแร็กเตอร์นั้นไปใช้เลียนแบบได้
 
 
อย่างไรก็ตาม จากราคาอาหาร-เครื่องดื่มที่สูงกว่าร้านคาเฟ่ทั่วไป เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่าหลายด้าน อาทิ การตกแต่งร้าน ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแบรนด์ ฯลฯ ทำให้ร้านแคแร็กเตอร์คาเฟ่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคไทยที่มีทางเลือกเกี่ยวกับอาหารการกิน หาร้านอร่อยและราคาไม่แพงได้ทั่วไป ทำให้ร้านที่มีราคาสูง ผู้บริโภครับประทานได้ไม่บ่อย อยู่ได้ไม่ถึง 2 ปีก็จะหายไปจากตลาด "ความท้าทายของร้านแคแร็กเตอร์คาเฟ่ในไทยคือการขยายสาขาเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่จะมีสาขาเดียว ชาร์ลี บราวน์เองก็ต้องปรับตัว ปรับแนวคิดในการทำแคแร็กเตอร์คาเฟ่ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้"
 
นายรภีร์กล่าวต่อว่า ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ จึงได้ปรับโมเดลธุรกิจ เริ่มจากย้ายร้านจากเมกา บางนา มาเปิดที่มาบุญครอง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ใช้พื้นที่ร้านขนาด 70 ตร.ม. เล็กลงกว่าเดิม 3 เท่า ทำให้ใช้พนักงานน้อยลง ต้นทุนลดลง พร้อมเพิ่มวาไรตี้ของอาหารและปรับราคากลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มลงประมาณ 10% เพื่อจับตลาดแมสมากขึ้น ควบคู่ทำการสื่อสารสร้างการรับรู้ผ่านเฟซบุ๊กมากขึ้น ออกบูทเค้ก-ไอศกรีมเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างยอดขายเพิ่มและศึกษาการตอบรับของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติ 60% เช่น ชาวเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ
 
"ที่ผ่านมาเราปรับอะไรต่างๆ เยอะมาก เพื่อรองรับการขยายสาขาทั้งลงทุนเองและแฟรนไชส์ โดยภายในไตรมาส 2 นี้จะได้เห็นร้านแฟรนไชส์สาขาแรกที่เป็นร้านสแตนด์อะโลนนอกศูนย์การค้า"
 
 
ทั้งนี้ กำลังซื้อมีผลกับกลุ่มลูกค้าขาจรที่มีราคาเป็นตัวตัดสินใจ ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ จึงมีสินค้าหลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มราคากว้างมาก เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกกลุ่ม ซึ่งมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้าเมอร์แชนไดส์เป็น 20-30% จากเดิม 10% ขณะที่รายได้จากกลุ่มอาหารเครื่องดื่มในอนาคตจะขยับเป็น 70-80% ด้วยการเติมสินค้าเกี่ยวกับสนูปี้และผองเพื่อนให้มากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่คนยอมจ่าย ซึ่งระยะหลังมีทำโปรโมชั่น ซื้ออาหาร-เครื่องดื่มครบตามที่กำหนด แลกซื้อสินค้าเมอร์แชนไดส์ในราคาพิเศษเพื่อช่วยกระตุ้นการซื้อ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ด้าน "ซานริโอ้ เฮลโล คิตตี้ เฮ้าส์ แบงค็อก" ที่สยามสแควร์วัน ได้นำเมอร์แชนไดส์ของเฮลโล คิตตี้ จากชั้นใต้ดินมาไว้ชั้นเดียวกันกับโซนคาเฟ่อาหาร-เครื่องดื่ม เรียกความสนใจจากแฟน ๆ ย่านสยาม ส่วนคาเฟ่เป็ดเหลือง "บีดัก คาเฟ่" จัดโปรโมชั่นเครื่องดื่ม ซื้อ 2 แถม 1 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่ "มูมิน คาเฟ่" เพิ่งฉลองครบรอบ 1 ปี ด้วยแคมเปญ "ทานเท่าไหร่จ่ายครึ่งเดียว" ที่จบไปเมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฯลฯ
 
และเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีกระแสข่าวว่า ร้านคาเฟ่ของเจ้าไข่ขี้เกียจ กุเดะทามะ กำลังจะมาเปิดในไทยที่ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลจนเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ สุดท้ายทางเซ็นทรัลออกมาปฏิเสธว่า กระแสข่าวนี้เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทำเอาแฟนๆ กุเดะทามะ ดีใจเก้อ
 
แต่ท่ามกลางการปรับตัวของร้านเดิม และการทยอยเข้ามาของรายใหม่ "ชิโรตันคาเฟ่" คาเฟ่ของแมวน้ำสัญชาติญี่ปุ่น ที่เคยประจำการที่เมอร์คิวรี่วิลล์ ชิดลม ก็ถอยทัพออกไปจากตลาดอย่างเงียบ ๆ ประกาศอำลาแฟน ๆ ไปเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
5,892
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
2,712
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
1,184
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
779
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
638
ธงไชย ผัดไทย ร่วมกับคน..
620
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด