8.6K
30 กรกฎาคม 2552

“มิสเตอร์บัน”พลิกโฉมธุรกิจ 360 องศา รีแบรนด์ดิ้ง ปูทางสู่“โกลบอล แบรนด์”


 

“แม็กซิกัน บัน” ที่เคยโด่งดัง ถึงขนาดลูกค้าเรียงคิวยาว 3-4 คูหา เพื่อให้ได้ลิ้มรสชาติขนมปังแปลกใหม่ พร้อมกับ “กลิ่น” ที่เป็นเครื่องมือเรียกลูกค้า ก่อกระแส “ปากต่อปาก” ปลุกธุรกิจตื่นตัวมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ เล็ก จากทั้งในและต่างประเทศ ลงทุนเปิดหน้าร้านขายบันเป็นจำนวนมาก แต่เพียงปีเศษ แม็กซิกัน บัน ก็ซบเซาตัวลง จากธุรกิจ Cash cow เป็นดาวที่ริบหรี่ภายในพริบตา

“หากวิเคราะห์ในแง่พฤติกรรมการบริโภคคนไทยไม่นิยมอาหารหรือสินค้าประเภทเดียวในร้านนั้นๆ แต่ต้องการความหลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการรับประทานของคนไทยได้ นอกจากธุรกิจต้องปรับตัว” อนุสรณ์ ตันยากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัน จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านเบเกอรี่ขนมปังอบ “มิสเตอร์บัน” กล่าวว่า ในปัจจุบันจะเห็นว่า “เคเอฟซี” ยังต้องมีเมนูอื่นๆ มากมาย ขณะที่ ไก่ทอดสูตรดั้งเดิมขายได้น้อยกว่าไก่สูตรอื่น

ทั้งนี้ ในปี 2550 กลุ่มนักลงทุนใหม่ ประกอบด้วย อนุสรณ์ ตันยากุล, ฮีโร ตัน ชาวมาเลเซีย เจ้าของโรตีบอย ประเทศไทย และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ร่วมกันซื้อกิจการ “มิสเตอร์บัน” จากเจ้าของเดิมชาวสิงคโปร์ ที่เปิดธุรกิจในไทยช่วง 4 ปีก่อนหน้านี้ โดยมี อนุสรณ์ รับบทบาทผู้กุมบังเหียนธุรกิจครั้งใหม่
 

ในฐานะผู้คลุกคลีในแวดวงอาหาร ฟาสต์ฟู้ด เบเกอรี่ ผ่านประสบการณ์กับแบรนด์ต่างๆ อาทิ พิซซ่า ฮัท (สหรัฐอเมริกา) ฮาร์ดร็อค คาเฟ่ เคเอฟซี-พิซซ่าฮัท เอ็มเค อนุสรณ์เชื่อว่าตลาดมีโอกาสเติบโตสูง เพราะเทียบเคียงประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าเกาหลี ร้านแม็กซิกัน บัน มีการขยายสาขาเฉลี่ย 50 แห่งต่อปี ปัจจุบันมีร้านประเภทนี้ในเกาหลีกว่า 100 แห่ง อินโดนีเซีย 40 แห่ง

“มิสเตอร์บัน ต้องมีการเปลี่ยนแปลง 360 องศา เริ่มจากภายในองค์กรมีการปรับทัศนคติ วางเป้าหมาย ไปในทางเดียวกัน ก่อนนำมาสู่ความสำเร็จภายนอกจากองค์กร คือ ลูกค้า เราใช้เวลากว่า 1 ปี วางโมเดลธุรกิจใหม่ทั้งหมด รีแบรนด์ดิ้งมิสเตอร์บันให้สามารถเติบโตต่อไปได้” ผู้บริหารมิสเตอร์บันกล่าว

การรีแบรนด์ดิ้งมิสเตอร์บันในครั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงใน 5 ส่วนหลัก ได้แก่ โลโก้ มีการสร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่นชัดเจน, รูปแบบร้านและการบริการ มี 3 รูปแบบด้วยกัน ประกอบด้วย ร้านเอ็กซ์เพรส ขนาด 6 ตร.ม. ลงทุนเฉลี่ย 6 แสนบาท ร้านเอ็กซ์ไซต์ ขนาด 40 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท และร้านเอ็กซ์ตรีม ขนาด 40 ตร.ม. ลงทุน 1.5 ล้านบาท โดยบริษัทเน้นการขยายสาขาในรูปแบบของเอ็กซ์ไซต์ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างร้านเอ็กซ์เพรส และมีที่นั่งรับประทานเล็กน้อย สามารถหาทำเล และสอดรับพฤติกรรมบริโภคคนรุ่นใหม่
 

ประการสำคัญ มิสเตอร์บันได้กำจัดอุปสรรคการเติบโตของแม็กซิกัน บัน ด้วยการสร้างนวัตกรรมสินค้าใหม่ให้มีความหลากหลาย เป็นมิตรต่อสุขภาพ ช่วง 1 ปีของการปรับสูตรได้มีการทดสอบ สินค้ากว่า 700 ชนิด ก่อนจะมีเมนูใหม่ออกสู่ตลาดกว่า 30 รายการ จากจุดขายเดิมที่มีเพียง “แม็กซิกัน บัน” ลดสัดส่วนเหลือเพียง 25% ของยอดขาย

หลังองค์ประกอบทุกอย่างลงตัว มิสเตอร์บันจึงเริ่มขยับขยายสาขา โดยตั้งแต่เดือน พ.ค.2551 เป็นต้นมา มิสเตอร์บัน เปิดสาขาแล้วทั้งสิ้น 32 แห่ง ปัจจุบันมีสาขารวม 54 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 75 แห่งในสิ้นปีนี้

โมเดลใหม่ของมิสเตอร์บัน เบื้องต้นพบว่า 70% ของสาขาคืนทุนภายใน 9 เดือน เรียกว่า “คุ้มทุนเร็ว” ลดความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจถดถอยในระดับหนึ่ง ผนวกการตอบรับของลูกค้าจากกลยุทธ์ “ราคา” คุ้มค่าเริ่มต้นตั้งแต่ 5 บาท คาดว่าจะมียอด 400-500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามียอดขายเพียง 150 ล้านบาท

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 3 ปีจากนี้ มิสเตอร์บัน จัดสรรงบประมาณ 250-300 ล้านบาท ในการขยายสาขาใหม่ และลงทุนทางด้านศูนย์ผลิตสินค้าในภูมิภาคต่างๆ

ในสเต็ป 1 ปีจากนี้ มิสเตอร์บันยังมุ่งพัฒนาระบบแฟรนไชส์รองรับแผนการขยายเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันให้มิสเตอร์บันก้าวสู่โกลบอลแบรนด์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินเดีย สนใจขยายธุรกิจมิสเตอร์บัน คาดว่าจะมีความพร้อมในการสยายปีกด้วยระบบแฟรนไชส์ในปลายปีหน้า



อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ

 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
5,821
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
2,696
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
1,184
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
779
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
638
ธงไชย ผัดไทย ร่วมกับคน..
616
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด