12K
5 กันยายน 2552

'อนุรัตน์ โค้วคาสัย'ขันอาสา ดัน'ยูเอฟพี'ผงาดโลก ลบภาพธุรกิจครอบครัว
 


 

เอ่ยถึงบริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด หรือในชื่อ "ยูเอฟพี" คนที่ไม่อยู่ในแวดวงส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งบางคนอาจไม่รู้จัก แต่หากบอกว่ายูเอฟพีเป็นบริษัทแม่ของบริษัท พรานทะเลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของร้านฟาสต์ฟูดอาหารทะเล จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งพร้อมรับประทาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ "คลิ๊ก"ผลิตภัณฑ์เติมคุณค่าให้กับอาหารจานด่วนแล้ว ทุกคนต้องอ๋อ และรู้จักกันดีทั่วเมือง


"อนุรัตน์ โค้วคาสัย" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และการตลาด ซึ่งถือเป็นลูกหม้อที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับค่ายยูเอฟพีมากว่า 20 ปี ทั้งยังเป็นคีย์แมนคนสำคัญของกลุ่มในปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า "ยูเอฟพี"มีจุดกำเนิดเมื่อ 28 ปีก่อนโดยธุรกิจได้ถูกบุกเบิกโดยไต้ก๋งเรือที่ชื่อ "ธงชัย ธาวนพงษ์" ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอคนปัจจุบัน โดยเริ่มแรกทำธุรกิจเรือจับปลาเป็นหลัก
 



28 ปีแตกหน่อ 6 บริษัท


จากวันนั้นถึงวันนี้ธุรกิจของยูเอฟพี เติบใหญ่ขึ้นตามลำดับ มีเรือจับปลาที่ทันสมัยขนาดใหญ่รวม 13 ลำ มีบริษัทในเครือรวม 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด(บจก.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทำธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง โดยสินค้าส่งออกสัดส่วน 70-80% เป็นสินค้ากุ้ง ที่เหลือเป็นปลา ปลาหมึก และอาหารทะเลแช่แข็งอื่นๆ มีตลาดหลักที่ อเมริกา(สหรัฐอเมริกา แคนาดา) สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นสัดส่วน 45% และ35% และ10% ตามลำดับ อีก 10% ที่เหลือจำหน่ายในประเทศ


ส่วนบริษัทลูกถือหุ้น 100% ประกอบด้วย บจก.ที.พี. อินเตอร์ฟิชเชอร์รี่ ทำธุรกิจเรือจับปลา ,บจก.ห้องเย็นพงษ์ทิพย์ ทำธุรกิจห้องเย็น ,บจก.ยู.เอฟ. โลจิสติกส์ ดูแลด้านโลจิสติกส์ของเครือ ,บจก.ไบรท์ซี ทำธุรกิจซื้อสินค้าจากบริษัทแม่เพื่อส่งออกไปบางตลาดในแบรนด์ที่ลูกค้าต้องการ


ขณะที่เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ยูเอฟพีได้ร่วมทุนกับบริษัทเคียวคูโย จากประเทศญี่ปุ่นสัดส่วน 50:50 ตั้งบจก.เค แอนด์ ยู เอ็นเตอร์ไพรส์ เพื่อผลิตซูชิแช่แข็งส่งออกไปญี่ปุ่น 80% และอีก 20% ส่งไปสหรัฐฯและยุโรป พนักงานและคนงานของกลุ่มล่าสุดมีประมาณ 7,000 คน


"ภาพรวมกลุ่มยูเอฟพีไม่รวม เค แอนด์ ยู เอ็นเตอร์ไพรส์ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ในปีที่ผ่านมามียอดขายรวมกันประมาณ 10,200 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้ายอดขายที่ 11,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ในจำนวนนี้จะมาจากยอดขายของบริษัทแม่คือยูเอฟพี ที่ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายรูปดอลลาร์สหรัฐฯไว้ที่ 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มียอดขาย 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนรายได้รูปเงินบาทขึ้นกับค่าเงิน จากปีที่แล้วยูเอฟพีมีรายได้รูปเงินบาท 7,800 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากยอดขายในประเทศของบริษัทพรานทะเลฯ ที่ตั้งเป้าปีนี้ 1,100 ล้านบาท จากปีที่แล้วมียอดขายประมาณ 900 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจอื่นๆ"

 

เล็งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ


"อนุรัตน์" กล่าวยอมรับว่า กลุ่มยูเอฟพีแม้จะเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารแช่แข็งรายใหญ่ติด 3 อันดับแรกของเมืองไทย แต่ภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองยังเป็นธุรกิจครอบครัวของคนในตระกูล "ธาวนพงษ์" และใช้ทุนของตระกูลในการขยายงานเป็นหลัก แม้ว่าเวลานี้ได้ดึงมืออาชีพเข้ามาร่วมงานมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามรถลบภาพลักษณ์ดังกล่าวได้ แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่งธุรกิจครอบครัวโตมาได้ขนาดนี้ต้องถือว่าเก่งมาก


อย่างไรก็ดีเพื่อปรับโครงสร้างของกลุ่มให้เป็นสากล และมีความแข็งแกร่งในทุกด้านเพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรง ทางกลุ่มมีแผนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเช่นเดียวกับค่ายอื่นๆในกลุ่มธุรกิจเดียวกันในอีก 3-5 ปีข้างหน้า รวมถึงมีเป้าหมายที่จะก้าวออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น


"การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งต้องเข้าทั้งกลุ่มเราต้องปรับโครงสร้างภายในอีกมาก เช่นบริษัทลูกจะต้องตัดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน กรรมการต้องไม่มีธุรกิจที่ไปทำการซื้อขายกับบริษัท การเตรียมความพร้อมด้านฐานการเงิน การปรับโครงสร้างผู้บริหาร เป็นต้น"
 


สยายปีกลงทุนนอก


ส่วนการรุกขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศ ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดเวลานี้คือการให้อิหร่านเช่าเรือเพื่อจับปลาป้อนโรงงานปลาป่นในอิหร่าน ส่วนหนึ่งส่งกลับวัตถุดิบมายังประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ส่งไปแล้ว 2 ลำ และในเร็วๆ นี้มีแผนจะส่งไปอีก 8 ลำ การร่วมทุนกับ บจก. ชามิ อัล-ฮัสซานิ แอนด์ ซันส์ จากซาอุดีอาระเบียเพื่อทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมประมงและธุรกิจต่อเนื่องในน่านน้ำทะเลแดง ขณะนี้อยู่ระหว่างขอไลเซนส์จับปลาจากรัฐบาลซาอุฯ


นอกจากนี้มีแผนขายแฟรนไชส์ร้านฟาสต์ฟูดพรานทะเล
และจำหน่ายสินค้าอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานในอินเดีย ซึ่งล่าสุดเจ้าของโรงแรมเรดิสันในอินเดียสนใจและอยู่ระหว่างการหาสถานที่เหมาะสม ขณะที่การบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 จะมีส่วนช่วยให้การขยายแฟรนไชส์ของพรานทะเลในอินเดียได้รับความสะดวก และจะขยายสาขาได้ในอนาคต


" 3-5 ปีจากนี้ไปเรากำลังวางรากฐานของยูเอฟพีให้เข้มแข็ง เป็นบริษัทที่สามารถก้าวออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาการเป็นธุรกิจครอบครัวทำให้เรามีข้อจำกัดในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการขอสินเชื่อธนาคาร การลงทุนต่างๆ แต่ถ้าเราสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นสากล โอเพนมากขึ้นในการร่วมทุน มีระบบการเงินที่เข้มแข็งเราจะไปได้ไกลมากกว่านี้อย่างแน่นอน


ทั้งหมดนี้คือแผนงานเบื้องต้นที่ทางกลุ่มยูเอฟพี จะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพื่อครองความเป็นผู้นำด้านอาหารทะเลแช่แข็งของประเทศ 

 
อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
3,331
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
1,538
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
798
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
714
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
561
โรบอท สเตชัน คลับ จัดโ..
547
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด