2.6K
14 สิงหาคม 2549
"ถอดรหัส "แฟรนไชส์" โกอินเตอร์ " 
 
 

ไม่ใช่แฟรนไชส์ตามกระแส หรือวูบวาบ แต่เป็นแฟรนไชส์ ที่การันตีศักยภาพธุรกิจ และระบบจนสามารถโกอินเตอร์ได้ระยะหนึ่ง เปิดประสบการณ์ตรง 3 แฟรนไชส์ สมาร์ทเบรน ยู-เมมโมรี่ และ พิซซ่า คอมปะนี ที่ปักธง (ธุรกิจ) ในต่างแดน
 
แฟรนไชส์ไทยตกม้าตายมานักต่อนัก ส่วนหนึ่งเพราะ "ใจเร็ว ด่วนได้" ขาดความเป็นมืออาชีพในการสร้าง "ระบบ" ทำให้ธุรกิจไปได้ไม่ไกล ขณะที่สมาร์ทเบรน ยู-เมมโมรี่ และ พิซซ่า คอมปะนี 3 ธุรกิจ กว่าจะโกอินเตอร์ พวกเขาสร้างฐานธุรกิจอย่างมั่นคง จนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
 
"สวาสดิ์ มิตรอารี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทเบรน จำกัด แฟรนไชส์ "สมาร์ท เบรน" หลักสูตร "คิดเร็ว" ที่โด่งดังและมีแฟรนไชซีมากถึง 140 สาขา จนดึงดูดชาวต่างชาติให้ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วถึง 12 ประเทศ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เขาได้ไปเห็นหลักสูตรนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2539 ที่ประเทศมาเลเซีย เลยสนใจนำมาเปิดที่ประเทศไทย
 
"เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แฟรนไชส์ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่พอเราเอาเข้ามาเปิดที่ภาคใต้ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดี จากนั้น 1 ปี ก็ขยายสาขาเข้ามาเปิดในกรุงเทพฯได้ และสามารถขยายสาขาได้ถึง 70 สาขาทั่วประเทศ โดยแฟรนไชซีส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองที่เห็นว่าหลักสูตรนี้ทำให้ลูกเรียนดีขึ้นจริงๆ เลยซื้อไปเปิด" เขาเล่า 
 
เขาแนะนำว่า ผู้ประกอบการที่คิดจะโกอินเตอร์ส่งแฟรนไชส์ไปต่างประเทศนั้น ในระยะแรกควรสร้างฐานตลาดในประเทศให้เข้มแข็ง ก่อนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จากนั้นจึงมองหาลู่ทางออกนอกประเทศ
 
"อย่างสมาร์ทเบรนของผมบุกตลาดในประเทศอยู่ 4-5 ปี จากนั้นพอรู้ว่ามีตลาดต่างประเทศแน่ๆ ผมก็ลุยเลย ใช้วิธีส่งอีเมลไปตามองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่นกระทรวงศึกษา ผมส่งไปไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ สุดท้ายก็มีตอบกลับมาหนึ่งที่" เขายิ้ม ก่อนที่จะเผยว่า ประเทศที่ตอบกลับมาคือ "คูเวต" ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีแห่งหนึ่ง 
 
"อุปสรรคด่านแรกเลยก็คือ ประเทศอื่นๆ ก็เชื่อว่าระบบการศึกษาของเขาดีอยู่แล้ว แล้วพอบอกว่าสมาร์ทเบรนมาจากไทยแลนด์ เขาก็ไม่ค่อยเชื่อมาตรฐานเราเท่าไหร่ อันนี้พูดตรงๆ" เขาบอก "แต่เราก็พยายามพิสูจน์ให้เขาเห็น พาเด็กของเราไปโรดโชว์ คิดกันสดๆ ให้เขาเห็น ทางคูเวตก็เลยตกลงเซ็นสัญญากับเรา"
 
ต่อมา สมาร์ทเบรนสามารถไปเปิดสาขาในต่างแดนได้อีกถึง 12 ประเทศ คือ ประเทศอินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา โอมาน อาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และล่าสุดคือประเทศจีน ซึ่งเขาเผยเคล็ดลับการ "ลดจุดอ่อน" จากการที่ต่างประเทศยังไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนของไทยว่า เขาใช้วิธีให้ "มาสเตอร์แฟรนไชส์" ของเขาจากประเทศอื่น เข้าไปเจาะตลาด 
 
"อย่างประเทศ อินเดีย เวียดนาม เขาจะเชื่อถือสิงคโปร์มากกว่าเรา เราก็ให้มาสเตอร์แฟรนไชส์ของเราในสิงคโปร์เข้าไปขยายสาขา ก็ได้ผล"
 
ไม่เพียงแต่แฟรนไชส์การศึกษาเท่านั้นที่สามารถโกอินเตอร์ได้ ทางด้าน "จักรพงษ์ คงปัญญา" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็กซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ "ยู-เมมโมรี่" เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพลงบนวัสดุทุกชนิดรูปแบบใหม่ ก็ได้ขยายแฟรนไชส์ไปหลายประเทศแล้วเช่นกัน 
 
โดยปัจจุบันมีผู้ซื้อสิทธิไลเซ่นซิ่งของ "ยู-เมมโมรี่" จากหลายประเทศ ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น จีน กัมพูชา พม่า อินเดีย อิหร่าน ลาว ที่ซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตไป และล่าสุดประเทศสิงคโปร์และบาห์เรนลงทุนซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดแล้วเช่นกัน 
 
"ผมมองเห็นเทรนด์ด้านการพิมพ์ภาพดิจิทัลมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่มาเริ่มทำยูเมมโมรี่เมื่อปี 2545 ซึ่งตอนนั้นเป็นสินค้าที่ใหม่มาก กว่าจะเกิดได้ก็ค่อนข้างเหนื่อย เพราะเริ่มทำธุรกิจในช่วงฟองสบู่แตกพอดี ก็มีปัญหามีสต็อกเหลือเยอะมาก 30-40 ล้านบาท ก็คิดว่าจะทำยังไงให้รอด ก็เลยต้องพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด" เขาเล่า
 
พร้อมกับขยายความต่อว่า แค่หาตลาดยังไม่พอ หากคิดจะเติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีการสร้างแบรนด์ด้วย และนั่นทำให้ชื่อของ "ยู-เมมโมรี่" เริ่มเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น 
 
"เราไม่ได้ขายแฟรนไชส์ แต่ขายเทคโนโลยีการพิมพ์ เป็นเครื่องจักร วัสดุ และโนว์ฮาวต่างๆ รวมถึงใบอนุญาตจดสิทธิบัตร จนปัจจุบันก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งในและต่างประเทศ เพราะเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ภาพของเราไม่ซับซ้อน แต่ใช้งานได้มาก"
 
บริษัทของ "จักรพงษ์" ไม่เพียงแต่จะขายไลเซ่นได้เท่านั้น เพราะแม้แต่หน่วยงานรัฐบาลอย่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมยังเข้ามาร่วมทุนในปีที่ผ่านมาอีกด้วย 
 
"ถ้าถามว่าทำแฟรนไชส์อย่างไรถึงประสบความสำเร็จ ผมว่าแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรตายตัว อย่างผมเรียนมาทางด้านวิศวะ ก็ขายไม่เป็น ทำเป็นอย่างเดียว คิดแต่ว่าจะทำยังไงให้คุณภาพดี โดยไม่สนเรื่องการขาย พอได้ร่วมทุนกับรัฐบาล ก็เลยเริ่มมีฝ่ายขาย เริ่มขยายแฟรนไชส์ได้มากขึ้น"
 
เขาให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการไปต่างประเทศว่า ก่อนอื่นต้องเตรียมความพร้อมด้าน "ภาษา" ก่อน เพราะเป็นปราการด่านแรกที่จะทำให้พูดคุยกันรู้เรื่อง ต่อมาคือพยายาม "เซฟ" ต้นทุนในการไปให้มากที่สุด ด้วยการพึ่งพาหน่วยงานรัฐบาลในการไปโรดโชว์ในต่างแดน 
 
"ที่กรมส่งเสริมการส่งออกมีงบสนับสนุนผู้ประกอบการ ไปออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ อย่างไปออกบูธ Thailand Pavillion กับกรมส่งออก ค่าใช้จ่ายจะถูกมาก เพราะกรม ช่วยเงินสมทบเกือบครึ่งหนึ่ง อย่างไปออกบูธอาจจะเสียค่าใช้จ่ายแค่ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ส่วนค่าออกบูธทางกรม ออกให้หมด อย่างผมนี่ไปมาหลายที่ บางครั้งผมไปออกงานต่างประเทศ เสียไปแค่ 20,000 กว่าบาทเท่านั้น คือผมจะไปให้เห็นว่าแต่ละที่ แต่ละประเทศเป็นอย่างไร แล้วก็กลับมาวางกลยุทธ์ " 
 
เขาเล่าย้อนประสบการณ์การไปออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศ เป็นครั้งแรกให้ฟังว่า ครั้งนั้นไปงาน Global Franchise&License ที่สิงคโปร์ ซึ่งบูธของเขาได้รับความสนใจอย่างมาก ได้นามบัตรกลับมา 300-400 ใบ ปีต่อมาก็ไปอีก เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์อันดี 
 
"จักรพงษ์" ขยายความต่อไปในเรื่องการลดต้นทุนว่า ในการลดต้นทุนที่ได้ผลนั้นควรคำนึงถึง 4M ด้วยกัน ได้แก่ Man หรือคน, Machine หรือเครื่องจักร, Material หรือวัตถุดิบที่ใช้ และ Money หรือเงินทุน ซึ่งหากพยายามลดให้ได้ทั้ง 4 ด้านแล้ว 
 
"เราต้องดูว่าจะลดต้นทุนเรื่องคนได้อย่างไร ดูว่าแต่ละคนผลิตงานออกมาได้เท่าไหร่ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้หรือไม่ เครื่องจักรก็ดูว่าทำงานได้เต็มกำลังการผลิตหรือยัง วัตถุดิบสามารถใช้อย่างอื่นที่คุณภาพใกล้เคียงกันแต่ราคาถูกกว่าได้หรือไม่ และสุดท้ายคือเรื่องเงิน ก็ดูว่าเราจะขยายธุรกิจได้อย่างไรโดยใช้เงินน้อยที่สุด ในที่นี้ก็คือแฟรนไชส์ เพราะถ้าเราขายแฟรนไชส์ เราก็สามารถใช้เงินคนอื่น ช่วยขยายธุรกิจได้" 
 
หรืออย่างแฟรนไชส์ร้านอาหารก็ไม่น้อยหน้า เพราะสามารถไปต่างประเทศแล้วหลายรายด้วยกัน โดย "กุลวัฒน์ วิชัยลักษณ์" ผู้อำนวยการ ฝ่ายแฟรนไชส์ จาก "เดอะ พิซซ่า คอมปะนี" แห่งค่ายไมเนอร์ฟู๊ด กรุ๊ป ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า 
 
"สำหรับผู้ที่คิดจะทำแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าแฟรนไชส์คืออะไร" เขากล่าว พร้อมกับอธิบายว่า แฟรนไชส์คือสิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าระบบหรือแบรนด์นั้นๆ ประสบความสำเร็จ โดยต้องสื่อไปถึงผู้สนใจลงทุนให้ได้ 
 
"คุณวิลเลี่ยม อี. ไฮเนคกี้ ประธานไมเนอร์ฟู๊ด กรุ๊ป เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ Entreprenuer (เถ้าแก่มือใหม่) และชอบเอามาสอนพนักงานบ่อยๆ คือ ถ้าเราอยากเป็นเถ้าแก่มือโปร เราก็ต้องอาศัยคนบริเวณนั้นลงทุนให้ อย่างที่ไมเนอร์ฟู๊ด กรุ๊ปทำตอนนี้ คือขายแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ" 
 
"กุลวัฒน์" บอกว่า ข้อดีของการไปต่างประเทศคือ ทำให้เกิด Brand equity เพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างการรับรู้ในตราสินค้า รวมทั้งยังช่วยสร้างเอกลักษณ์ และสร้างจุดขาย" 
 
ส่วนการเตรียมตัวขายแฟรนไชส์ในต่างประเทศนั้น เขาบอกว่ามี 4-5 อย่างที่อยากให้ผู้ประกอบการตอบหาคำตอบให้ได้ก่อน ประการแรกคือ "วางแผนว่าจะไปที่ไหน" ด้วยการศึกษาข้อมูลประเทศนั้นๆ เช่น แฟรนไชส์พิซซ่าคอมปะนีเป็นธุรกิจร้านอาหาร เมื่อตั้งใจจะออกต่างแดนก็ต้องศึกษาว่าประเทศที่จะไปนั้นมีดีมานด์เป็นอย่างไร คู่แข่งมากน้อยแค่ไหน กฎหมายและภาษีเป็นอย่างไร 
 
ประการต่อมาคือ "หาเนื้อคู่ให้ถูกต้อง" (แฟรนไชซี) เพราะเงินอย่างเดียวไม่ได้การันตีว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องดูศักยภาพของแฟรนไชซีและทีมงานว่ามากน้อยเพียงใด 
 
ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ ต้องดูด้วยว่า "แฟรนไชซีรู้จริงเกี่ยวกับประเทศของเขาหรือไม่" มีข้อมูลการทำธุรกิจ แผนธุรกิจ ตลอดจนรู้ศักยภาพของประเทศตนเอง หรือพูดง่ายๆ คือต้องรู้จัก "ทำการบ้าน" มาก่อน เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการ 
 
"เราต้องศึกษาตลาดในประเทศนั้นๆ อย่างละเอียด รวมถึงตัวแฟรนไชซีเองก็ควรศึกษาด้วย" 
 
ผู้ประกอบการแฟรนไชส์รายใดที่คิดจะโกอินเตอร์ ก็ลองพิจารณาคำแนะนำของผู้มีประสบการณ์เหล่านี้ดู แล้วอาจจะได้พบตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจตามมาอีกมากมาย... 
 
 
 
 
 
อ้างอิงจาก : กรุงเทพธุรกิจ 
 
 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
3,572
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
1,623
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
839
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
714
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
570
โรบอท สเตชัน คลับ จัดโ..
548
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด