16K
15 กันยายน 2549
" 7-Eleven - King of Franchise "
 
 

ถ้าพูดถึงธุรกิจแฟรนไชส์แล้วดูเหมือนว่า 7-Eleven จะครองตลาดส่วนนี้อย่างไร้ข้อกังขาในฐานะเบอร์หนึ่ง ของร้านสะดวกซื้อที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากที่สุด
 
แม้จะมี Player ในตลาดหลายรายที่กระโจนเข้ามา ขณะที่คอนวีเนียนสโตร์หลายแบรนด์ถอนตัวออกไปในเวลาต่อมา แต่แบรนด์ที่อยู่ยงคงกระพันก็คือ 7-Eleven ที่วันนี้กลายเป็น Network ในการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาจน ปัจจุบันมีทั้งหมด 3,500 สาขา และกำลังขยายเพิ่มเป็น 5,000 สาขา ภายในปี 2552
 
7-Eleven ไม่ได้เป็นเพียงผู้นำร้านค้าปลีกรายย่อยในรูปแบบแฟรนไชส์เท่านั้น ทว่ายังเป็นผู้เปิดตำนาน "โชวห่วยติดแอร์" ที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินธุรกิจจนสามารถสร้างยอดขายมูลค่า 45,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท ในปีนี้ได้ไม่ยาก
 
The Pioneer
 
7-Eleven เริ่มดำเนินธุรกิจครั้งแรกในปี 2531 เมื่อกลุ่มซี.พี ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้าน 7-Eleven จากบริษัท เซ้าธ์แลนด์คอร์ปอเรชั่น เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย หลังจากนั้นไม่นานได้เปิดทำการสาขาแรกที่พัฒน์พงษ์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 สมัยนั้นถือได้ว่าซี.พี เป็นผู้เปิดตำนานคอนวีเนียนสโตร์ทั้งยังเป็นผู้สร้างค้าปลีกเซ็กเม้นต์นี้
 
ในเวลาไล่เลี่ยกัน "ร้านเอเอ็ม/พีเอ็ม" คอนวีเนียนสโตร์ยักษ์ใหญ่จากอเมริกาก็ทยอยเข้ามาเปิดภายใต้กลุ่มบ้านฉาง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ภายหลังถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของ กลุ่มยูคอมแต่ต้องถอนตัวจากตลาดเปลี่ยนร้านที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นร้าน "รักบ้านเกิด" เช่นเดียวกับร้านเซ็นทรัล มินิมาร์ท ของกลุ่มเซ็นทรัลรีเทลที่ต้องปิดตัวลงไปหลังจาก ดำเนินธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ได้ไม่นาน
 
 
 
ขณะที่ 7-Eleven สามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดทั้งเป็นผู้นำด้านโมเดล ทางธุรกิจใหม่ๆออกสู่ตลาดมาจากจุดเริ่มต้นตรงที่ ซี.พี. ตัดสินใจเลือกซื้อแบรนด์ 7-Eleven เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยตั้งแต่แรก 
 
เพราะ ซี.พี. มีปรัชญาการขยายธุรกิจว่าไม่ทำธุรกิจที่มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว และธุรกิจที่ ซี.พี เลือกทำนั้นจะต้องมีศักยภาพสามารถพัฒนา จนเป็นผู้นำตลาดได้และถ้าต้องอาศัยโนว์ฮาวจากต่างประเทศ ซี.พี จะต้องใช้เทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวที่ดีที่สุด
 
ดังนั้น เหตุผลสำคัญที่ ซี.พี. ซื้อแฟรนไชส์ 7-Eleven เพราะ 7-Eleven มีสุดยอดโนว์ฮาวในการบริหารงานคอนวีเนียนสโตร์ นอกจากนี้แล้วยังอาศัยความได้เปรียบจากประสบการณ์ 7-Eleven ที่มีอยู่ทั่วโลกแล้วเพื่อ "เรียนทางลัด" กับองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งต่อมาภายหลัง ซี.พี สามารถต่อยอดทางธุรกิจจากร้าน 7-Eleven ได้มากมายไม่ว่าจะใช้เป็นเครือข่ายในการวางจำหน่ายสินค้าและบริการในเครือซี.พี หรือเป็น Marketing Arms ที่มีประสิทธิภาพต่อธุรกิจใหม่ๆอะไรก็ตามโดยใช้ 7-Eleven เป็นฐานสร้าง Value Added ให้กับธุรกิจนั้นๆอย่างไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เหตุผลนี้ทำให้ ซี.พี หันมาทุ่มเททั้งเงินทุนและขุนพลเพื่อปั้นให้ 7-Eleven เป็นผู้นำร้านสะดวกซื้อ 
 
โดยคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็นขุนพลที่ ซี.พี วางตัวไว้ให้กุมบังเหียน และไม่เป็นที่ผิดหวัง เพราะหลังจากเปิดตัวสาขาแรกไปได้ไม่ถึง 10 ปี 7-Eleven ก็ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 
 
 
 
แต่กว่าจะขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ได้นั้น ซี.พี. ต้องฝ่าฟันปัญหามานานัปการ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดพลิกผันให้ 7-Eleven กลายเป็นเจ้าตลาดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ 
 
ในช่วง 2 ปีแรกนั้น 7-Eleven ไม่สามารถขยายสาขาได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ประกอบ กับประสบภาวะขาดทุนสะสมเนื่องมาจาก การลงทุนซื้ออาคารแทนการเช่าซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ซี.พี กอบกู้สถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนวิธีบริหารมาเป็นเช่าอาคาร ทำให้การขยายสาขาเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้
 
เพื่อเปิดสาขาได้ทันตามเป้า ซี.พี ได้นำวิธีการขยายแบบแฟรนไชส์เข้ามาช่วยในการขยายสาขา นอกจากมีแฟรนไชส์รายย่อยแล้วยังเปิดให้มี Sub Area License ดูแลรับผิดชอบในเขตพื้นที่ตามภาคต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มลึกลงในระดับตำบลในต่างจังหวัด 
 
ต่อมาในปี 2538 เริ่มดำเนินกลยุทธ์สู่ร้านโชวห่วยติดแอร์ที่เป็นเครือข่ายบริการทีดี่ที่สุด ของเมืองไทยโดยให้บริการรับชำระค่าบริการสาธารณะต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รวมถึงเป็นจุดรับจองบัตรคอนเสิร์ตและการแสดงผ่าน "เคาน์ เตอร์เซอร์วิส" นอกจาก 7-Eleven จะได้ค่าบริการบิลละ 10-15 บาท แล้วยังถือว่าดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย 
 
ปี 2544 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกช่วงหนึ่ง เพราะได้นำแนวคิดการบริหารงานใหม่เข้าสู่ยุค Digital Economy โดย Renovate รูปแบบร้านให้ดูทันสมัย สะอาด สะดวกในการหาสินค้า การบริการที่รวดเร็วรวมถึงเพิ่มสินค้าที่เป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เช่น มุมหนังสือ เทป ซีดี และเครื่องสำอางเข้าไปในร้านเพื่อมัดใจลูกค้า 
 
พร้อมกันนี้ได้ ปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ร้านให้เป็น คอนวีเนียน ฟู้ด เพื่อรองรับการแข่งขันที่ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ที่เริ่มรุกล้ำเข้ามากินตลาดคอนวีเนียนสโตร์ ลบข้อจำกัดในเรื่องราคาสินค้าต่อหน่วยถ้าเทียบกับ ราคาต่อหน่วยของดิสเคาน์สโตร์ทำให้ 7-Eleven หันมาปรับเพิ่มไลน์ Food Product เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองทำให้สัดส่วนระหว่าง Food product และ Dry Grocery เพิ่มเป็น 70:30 จาก 80:20 และยังเพิ่มเมนูอาหารบรรจุกล่องเข้าไปด้วย
 
 
  
ที่มา : นิตยสาร BrandAge 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
อากิโกะที เปิด 2 สาขาใ..
5,834
สเต็กเด็กแนว สร้างรายไ..
2,704
ซอห์น ฟู้ด จัดโปรแรง! ..
1,184
ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส ..
779
“THE GRAND MALL” ทำเลด..
638
ธงไชย ผัดไทย ร่วมกับคน..
617
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด