สสว.ชู 12 โมเดลธุรกิจชุมชน ตั้งเป้าพัฒนาสุดยอดนักธุรกิจต้นแบบระดับจังหวัด
สสว.โชว์ผลงาน 12 โมเดลผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัดที่ผ่านโครงการประชารัฐฯ เน้นโมเดลเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับชุมชนให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาด และสร้างทักษะการเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจในยุค 4.0 ตั้งเป้าพัฒนาสุดยอดนักธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีปิดโครงการและพร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (SMEs & OTOP Transformation) ปฏิบัติการพลิกธุรกิจสู่ยุค 4.0 ว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2562
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาดได้ เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงความต้องการ และการส่งต่อ แก้ปัญหาผู้ประกอบการ ทำให้มีข้อมูลองค์ความรู้ที่สร้างสรรค์ ถูกต้องชัดเจน สร้างทักษะการเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจ ในยุคที่การตลาดเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 โดยผู้ประกอบการต้องสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับนำไปสร้างเครือข่ายต้นแบบระดับจังหวัดเพื่อเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฯ นี้มีผู้ประกอบการ OTOP SME ทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,344 ราย และคัดเลือกจนเหลือจำนวน 141 ราย เพื่อเข้ารับการพัฒนาโมเดลธุรกิจด้วยกิจกรรมค่ายสร้างสรรค์รวมทั้งทดสอบความสำเร็จทางการตลาดหรือ Market Test 4 จังหวัด 4 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่ สงขลา เชียงใหม่ นครราชสีมา กรุงเทพฯ รวมทั้งการทดสอบตลาดออนไลน์บน Platform เทพช็อป และผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะต้องผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย คือ การเข้าร่วมแคมป์เพื่อสร้างสรรค์ และนำเสนอแผนการสร้าง New Business Model ที่สามารถทำได้จริง ซึ่งเพิ่งจัดเมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยมีผู้ประกอบการที่เข้ารอบทั้งหมดเพียง 12 ราย เพื่อคัดเลือกโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุดเพียง 1 รายเท่านั้น โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โมเดล Travelers Souvenir AR โดยคุณเกศกนก แก้วกระจ่าง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ซึ่งนอกจากจะได้รับการสานต่อเพื่อพัฒนาโมเดลเพิ่มเติมจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED แล้ว ยังได้รับโอกาสเข้าสู่ เทพช็อป Platform online ชื่อดังอีกด้วย
นอกจากการรับสมัครผู้ประกอบการเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว สสว.ยังมีการจัดประกวดการเขียนโมเดลธุรกิจสำหรับประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษาที่สนใจแสดงฝีมือจากทั่วประเทศ ซึ่งถูกคัดเหลือเพียง 12 รายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในการสร้างสรรค์แผนโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุด โดย สสว.ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มีโอกาสร่วมกันพัฒนาธุรกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันได้ด้วยองค์ความรู้และมีทิศทางที่ชัดเจน สามารถก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจในยุค 4.0 อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน ซึ่งมีผู้รับรางวัลไอเดียธุรกิจดีเด่นของระดับนักศึกษา และประชาชนทั่วไปอีก 3 ผลงาน ได้แก่
- นางสาวสาวิตรี บำรุง จากโมเดล juice up
- นางสาวสุรนุช บุญจันทร์ จากโมเดล เกษตรอินทรีย์คลองตัน และ
- นางสาวสายพิล ทะวะดี จากโมเดล เกาะยอ 2 Day trip
ภายในงานยังมีการเสวนาพิเศษหัวข้อ “การต่อยอดสุดยอดผู้ประกอบการ สู่สุดยอดชุมชนที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ที่เข้มแข็งและยั่งยืน สสว.จึงได้จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “การต่อยอดผู้ประกอบการ สู่สุดยอดชุมชนที่ยั่งยืน” โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายอยุทธ์ เตชะสุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) นายพิชิต มิทราวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสรับผิดชอบสายงานการตลาดและนโยบายภาครัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMED BANK) และนางสาวเมธปรียา คำนวณวุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลเอ็นดับเบิลยู จำกัด หรือ เทพช็อป มาร่วมเปิดเผยที่มาของความสำเร็จจนเกิดโมเดลธุรกิจใหม่จากความร่วมมือของหลายภาคส่วนจนได้สุดยอดผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อยอดโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการเข้าถึงทั้งแหล่งเงินทุนและช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ที่พร้อมตอบสนองผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
12 โมเดลธุรกิจชุมชนต้นแบบ
- โมเดล Travelers Souvenir AR ผลงานสินค้าที่ระลึกที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นพาเที่ยวนวัตวิถี โดยใช้ระบบ AR และ Web Block เชื่อมโยงกับสินค้าของที่ระลึกชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้านักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนมากขึ้น และยังสามารถเชื่อมต่อไปยัง Google map ที่สามารถพานักท่องเที่ยวไปยังจุดท่องเที่ยวในชุมชนได้อีกด้วย จากบริษัท สเก็ตเชอร์ โบ จำกัด จ.สงขลา
- โมเดล สินค้าปลอกหมอนทอจากไหมอีรี่ อัจฉริยะเพื่อการหลับลึก และแก้ปัญหาความเครียดของผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ โดยการคิดค้นการใช้โปรตีนไหมเคลือบผิวปลอกหมอนและสอดไส้ด้วยปุยไหมอีรี่ที่เพิ่มความนุ่มพิเศษ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับการหลับ การกดทับระหว่างการนอน โดยจะส่งการประมวลผลผ่าน App Eri Pillow ที่สามารถใช้บลูทูธลิงก์กับสมาร์ทโฟน หรือเว็บไซต์ bondonlcha.com เจ้าของผลงานคือ ร้านคุ้มสุขโข จ.ขอนแก่น
- โมเดล Nawati การใช้แปรรูปกล้วยน้ำว้า ผลิตภัณฑ์เด่นเฉพาะจากชุมชน เป็นกล้วยเส้นทรงเครื่อง แบรนด์ Nawati เป็นการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยส่งเสริมการปลูกกล้วยในเชิงพาณิชย์ และสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดจำหน่ายสู่ตลาด โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงโดยการบรรจุ QR code ที่บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้ซื้อ และนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการสแกนเพื่อหาข้อมูล จุดเด่นในการผลิตโดยชุมชน เพื่อชุมชน หรือแม้แต่การสั่งซื้อพันธุ์กล้วยได้อีกด้วย ผลงานจาก บริษัท บ้านกล้วย (2017) จำกัด จ.ปัตตานี
- โมเดล ระบบจัดการซื้อขายจิ้งหรีดล่วงหน้า โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ผ่านเว็บไซต์ www.จิ้งหรีดล่วงหน้า.com เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในการวางแผนการเลี้ยง ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อ และป้องกันปัญหาจิ้งหรีดล้นตลาด ผลงานจากฟาร์มจิ้งหรีด ออลบั๊กส์ จ.ชัยภูมิ
- โมเดล การแปรรูปจมูกข้าวสารและธัญพืชเพื่อสุขภาพ แบรนด์ GABA BITES ธัญพืชผสมกาบาจากจมูกข้าว สูตร Gluten Free, Organic, Low sugar เป็นการนำวัตถุดิบจากท้องถิ่น จมูกข้าวสาร จากชุมชนสาวะดี จ.ขอนแก่น ที่มีปริมาณกาบาสูงมาแปรรูปโดยผสมผสานธัญพืช เป็นสแน็กเพื่อสุขภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถตรวจเช็กการผลิต และเรื่องราวจากท้องถิ่นผู้ผลิตผ่าน QR code ผลงานจาก หจก.ไทยรอยัล ฟู้ด จ.ขอนแก่น
- โมเดล Bromedent การเพิ่มมูลค่าให้กับสับปะรด โดยใช้ทุกส่วน (Zero waste) ในการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าชุมชน โดยเพิ่มสารสกัดเอนไซม์สับปะรดจากผลที่ตกขนาด นำนวัตกรรมการสกัดเอนไซม์โปรมิเลนช่วยย่อยสลายโปรตีน “ไบรโอฟิล์ม” ทำให้จุลินทรีย์ภายในปากอ่อนแอ และหลุดออก ช่วยลดปัญหาเหงือกอักเสบ ลดคราบพลัค และกลิ่นปาก โดยใช้ระบบ QR code เพื่อการหาข้อมูลการผลิตโดยละเอียด ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนฟาร์ม มาร์เก็ตติ้ง ปลูกสับปะรด และแปรรูปสับปะรด จ.ราชบุรี
- โมเดล มหัศจรรย์แห่งสมุนไพร สู่ โผงเผง Facial ครีมบำรุงผิวสกัดจากโผงเผงพืชหลักของชุมชน โดยนำสารสกัดจากโผงเผง สมุนไพรป่าที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเอนไซม์ และเมลานินสีผิวที่เปลี่ยนไปทำให้ผิวขาวขึ้น เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนผู้ปลูกต้นโผงเผง ต.มะเขือแจ้ จ.ลำพูน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าในการเข้าดูศึกษาข้อมูลการผลิต ผ่าน QR code บนบรรจุภัณฑ์ ผลงานจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศึกษาพัฒนาเกษตรกรครบวงจร จ.ลำพูน
- โมเดล ข้าวนพเก้า ข้าว 9 พลัง ผลิตจากข้าวกล้องจาก 5 สายพันธุ์ของดีชนเผ่า ได้แก่ 1. ข้าวกล้องหอมมะลิ 2. ข้าวกล้องลืมผัว-ม้ง 3. ข้าวกล้องบือบอ-ปกาเกอะญอ 4. ข้าวกล้องเหล้าทูหยา-ไทใหญ่ 5. ข้าวกล้องเงาะเลอทีมู-ลัวะ โดยตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของ 4 ชาติพันธุ์แห่งภาคเหนือ และนำผลผลิตข้าวมาส่งเสริมให้เกิดคุณภาพ ผลผลิต และนำความเป็นเกษตรอินทรีย์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และสร้างรายได้มากขึ้นให้แก่เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ จนได้เป็นข้าวกล้อง 5 ชาติพันธุ์ ผสมกับธัญพืช 8 ชนิด สร้างจุดขายเพื่อสุขภาพ และพัฒนาสูตรสินค้าให้มีความหลากหลาย พร้อมเผยแพร่สินค้าผ่านสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าในช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.noppakaow-999.com และจัดทำ QR code ที่กล่องบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบอย่างสวยงาม ผลงานจาก บริษัท เยี่ยมเมธากร จ.เชียงใหม่
- โมเดล นวดตัวด้วยน้ำหนักตัวเอง สินค้าเครื่องนอนยางพารา ที่มีการผสานภูมิปัญญาสร้างสรรค์กับนวัตกรรมโครงสร้างยางพาราแบบแยกชิ้น หลักการเดียวกับเตียงตะปูโยคี คือ การกระจายน้ำหนักลดการกดทับได้จริง มีสันนูนเปรียบเสมือนปุ่มนวดที่สะท้อนกลับเหมือนนวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง และใช้เทคโนโลยี “โยคีดิจิทัล” คือ Healthy Community ที่ช่วยปรับสรีระของผู้ใช้ให้ห่างไกลจากโรค Office syndrome และเป็นการผลิตภายในชุมชนจังหวัดกำแพงเพชรเพื่อลดอัตราการไปทำงานต่างถิ่น ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริส จ.กำแพงเพชร
- โมเดล Linkshipper เป็น Platform Community Auto Dropship สำหรับสินค้า Halal โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตสินค้าฮาลาลกับคนในชุมชนที่ต้องการเปิดร้านค้าออนไลน์แบบ Automatic เพียงแค่สมัครก็จะมีเว็บไซต์พร้อมสินค้าให้ขายแบบฟรี โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการแต่งภาพ หรือ การทำเว็บไซต์เลย โดยจะเป็นสื่อกลางในการประสานชุมชนมุสลิม 200 ชุมชน ชุมชนละ 50 ร้านค้าทั่วกรุงเทพฯ ตั้งเป้าร้านค้าฮาลาลในระบบ 10,000 ร้านค้า โดยสินค้าจะถูกคัดกรองโดยระบบอัลกอริทึมของ Linkshipper เพื่อนำสินค้าขายดีจากรายการทั้งหมดไปขึ้นในระบบของแต่ละร้านค้า เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายให้มากขึ้น คาดว่าร้านค้าที่ Active จะมีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ถ้า 500 ร้านค้าคิดเป็นยอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาทต่อเดือน ผลงานจาก บจก.วันบีลิฟ กรุงเทพฯ
- โมเดล No Locking No Lost เป็นการนำหัตถกรรมกระจูดที่มีคุณสมบัติทอจากเส้นใยกระจูดที่มีความเหนียวแตกต่างจากพืชจักสานชนิดอื่น ทนต่อการขีดข่วน สามารถใช้งานหนักได้ ผสานเทคโนโลยี GPS Tracking เพื่อติดตามค้นหาจากตำแหน่งที่ระบุได้ และจะมีสัญญาณเตือนหากกระเป๋าอยู่ห่างจากตัวเกิน 10 เมตร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และไม่จำเป็นต้องผลิตเป็นจำนวนมาก ก็สามารถทำให้ราคาต้นทุนลดลงได้ ผลงานจาก วนิดากระจูด จ.สงขลา
- โมเดล เห็ดโคนน้อย คอยใหญ่ การนำเห็ดโคนน้อยที่มีสรรพคุณทางการรักษาดียิ่งกว่าเห็ดหลินจือ หรือเห็ดถั่งเช่า เพราะเห็ดโคนน้อยมีสารโพลีซัคคาไลน์สูง ผสมกับเบตากลูเต็น และสารอิลิยาดีนิน ช่วยละลายไขมันในเลือด เห็ดชนิดนี้ปลูกกันมากที่ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น จึงมีการนำ Know How ในการเพาะเห็ดชนิดนี้ด้วยมาตรฐาน GMP และสัญลักษณ์คุณภาพ Q รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร โดยการจำหน่ายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ในการเพาะเห็ดเกือบทุกชนิด ผลงานของ หจก.บ้านเห็ดอุตรดิตถ์ไบโอเทค
อ้างอิงจาก : MGROnline.com