2.2K
3 กรกฎาคม 2557
กระเทาะเปลือก.. ทุนใหญ่แห่ลงทุน 'ริมแม่น้ำ'



ทุนค้าปลีก-อสังหาฯ แข่งปั้น "แลนด์มาร์ค"  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผุดโครงการร่วมทุนยักษ์มูลค่า3.5หมื่นล้าน


นับจากประกาศแผนลงทุนร่วมกันพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ มูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท บนที่ดินย่านเจริญนคร ขนาด 40 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ระหว่างโรงแรมเพนนินซูล่า กับ มิลเลนเนียม ฮิลตัน) เมื่อเดือน มี.ค.2555 ระหว่างผู้ประกอบการไทย 3 รายใหญ่ ประกอบด้วย สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ร่วมกับแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ที่มี ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ลูกสาวสุดท้องของเจ้าสัวซีพี "ธนินท์ เจียรวนนท์" นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) กลุ่มบริษัทชั้นนำของไทยที่มีการลงทุนทั่วโลก เตรียม “เปิดชื่อ” และ “รายละเอียด” อย่างเป็นทางการครั้งแรก วันที่ 1 ก.ค. นี้

โครงการดังกล่าว ยังถูกระบุว่าเป็นการร่วมลงทุน "ครั้งใหญ่ที่สุด" ของภาคเอกชนไทย พัฒนาในลักษณะ “เวิลด์คลาส เดสทิเนชั่น” ประกอบด้วย พื้นที่ค้าปลีก ที่อยู่อาศัย ศูนย์ประชุม ฯลฯ ในระดับมาสเตอร์พีช เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เทียบชั้นมหานครโลก ด้วยการผสมผสานศิลปะ วัฒนธรรมไทย ไลฟ์สไตล์ นวัตกรรม และโกลเบิลเทรนด์ ภายใต้จุดขาย ทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย

ดีเดย์เปิดปีหน้ารับเออีซี


แหล่งข่าวในธุรกิจค้าปลีก กล่าวว่า โครงการริมแม่น้ำมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท คาดเปิดบริการตามกำหนดการเดิม ปี 2558 ซึ่งเป็นปีแห่งการเริ่มต้นเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และยังบอกด้วยว่าในวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ (1 ก.ค.) อาจจะมีเซอร์ไพร์สจากการปรับตัวเลขมูลค่าลงทุนใหม่ให้ "สูงกว่า" ที่เคยระบุไว้ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท

“การเปิดตัวโครงการเป็นหนึ่งในเครื่องมือฟื้นความเชื่อมั่นต่างชาติ ตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และชอปปิงของไทยในภูมิภาค สะท้อนความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจที่พร้อมแข่งขันในเวทีโลก”

ทั้งนี้ บริเวณโครงการมีป้ายข้อความประชาสัมพันธ์สื่อถึงแนวคิดเมกะโปรเจคแห่งนี้ที่เป็น A MAGNIFICENT LANDMARK ดังนั้น แนวคิดในการพัฒนาจึงไม่ต่างจากสัญลักษณ์ทางสถานที่ของเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในหลายประเทศทั่วโลก โดยหลอมรวมและสื่อถึงศิลปวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ เช่น ปารีส ลอนดอน ซิดนีย์ หรือเซี่ยงไฮ้

สำหรับ การพัฒนาโครงการดังกล่าว วางสัดส่วนการลงทุน ประกอบด้วย บริษัท สยามพิวรรธน์ โฮลดิ้ง จำกัด 50% บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 25% และเครือเจริญโภคภัณฑ์ 25% จัดตั้ง 3 บริษัทใหม่ดำเนินการ ได้แก่ บริษัท แกรนด์ ริเวอร์ เพลส คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท แกรนด์ ริเวอร์ พาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท แกรนด์ ริเวอร์ ฟรอนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยนับเป็นการรุกธุรกิจค้าปลีกลักชัวรี่ ครั้งแรกของซี.พี. ในนามบริษัทร่วมทุน

จ่อผุด 7 โปรเจคริมแม่น้ำ 6 หมื่นล้าน



จะเห็นได้ว่า บริเวณพื้นที่ริมเจ้าพระยากำลังถูกพลิกโฉมครั้งสำคัญภายใต้การรุกลงทุนของผู้ประกอบการค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อพัฒนาโครงการระดับไฮเอนด์ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ที่พักอาศัย ฯลฯ จำนวนมาก

ข้อมูลฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง กลับมาคึกคักอีกครั้งและมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก โดยขณะนี้มีการประกาศลงทุนใหม่ 7 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท นอกจากโครงการขนาดใหญ่ มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท ดังกล่าวแล้ว

ยังมีโครงการที่พักอาศัยเดอะเพนนินซูล่า เรสซิเดนท์ ภายใต้แบรนด์พนนินซูล่าแห่งแรกของโลก โครงการโรงแรมอมานี ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ของกลุ่มไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป บนพื้นที่ติดกับโรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา

โครงการ แลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟรอนท์ อยู่ติดกับโรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ ของกลุ่มคันทรี่ กรุ๊ป ผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วน โครงการ เดอะ แคเปลล่า กรุงเทพฯ ที่มีทั้งโรงแรมหรู คอนโดมิเนียม และวิลล่าริมน้ำ หรือโครงการ จูเมราห์ โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์

นอกจากนี้ มีโครงการแม่น้ำ เรสซิเดนท์ มูลค่า 3,000 ล้านบาท ของกลุ่มโรงแรมแม่น้ำ โครงการแคลพสัน เดอะริเวอร์ เรสซิเดนท์ ของบริษัท ไรมอนแลนด์ และโครงการ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ 2 ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

“พื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ไม่เพียงเป็นที่พักอาศัยระดับไฮเอนด์ แต่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นที่ตั้งของโรงแรม 5-6 ดาวชื่อดัง รวมถึงศูนย์การค้าแนวราบริมน้ำที่กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ”

ในย่านนี้ ยังมีการพัฒนาคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นจำนวนนมาก มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันยังมีคอนโดมิเนียมเหลือขายในย่านนี้ ประมาณ 300 ยูนิต

"ทีซีซี-แลนด์แอนด์เฮ้าส์" ไม่ตกขบวน

ขณะที่กลุ่มทีซีซีแลนด์ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของมอลล์ริมน้ำเจ้าพระยา เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เจริญกรุง ยังเตรียมขยายการลงทุนเอเชียทีค 2 (แผนเดิมตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ย่านเจริญนคร แต่ล่าสุดอาจเลือกขยายโครงการเฟส2ในพื้นที่ใกล้เคียงเฟสแรก) มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทซึ่งเดิมจะมีการลงทุนในปีนี้ แต่ตัดสินใจชะลอโครงการพร้อมทบทวนคอนเซปต์และแนวคิดในการพัฒนาอีกครั้ง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ของ อนันต์ อัศวโภคิน ที่สนใจลงทุนโครงการชอปปิงมอลล์ริมแม่น้ำด้วยเช่นกัน บนเนื้อที่ 11-12 ไร่ ย่านบางโพ รองรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในอนาคต

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ชวนชิม&ช้อปแฟรนไชส์น่าลงทุน เสิร..
486
งาน Chinese Eatery
433
งาน Rainbow Market
425
งาน SSO MARKET 2024
424
งาน มหกรรมของดีกลุ่มเขตกรุงธนใต้..
419
งาน Westville Art Toys Fest 2024
405
ข่าวทำเลค้าขายมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด