วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
1. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปีที่ 50
2. เพื่อลดการทำลายสภาพแวดล้อมทางทะเล และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย ให้กลับมีสภาพดีขึ้น และเป็นมรดกของชาติสืบไป
3. เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร และสภาพแวดล้อมในทะเล
4. เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยและผลผลิตของสัตว์ทะเล
ประวัติความเป็นมา
ในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยขาดการจัดการที่เหมาะสม จึงก่อให้เกิด ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และมีความพยายามที่จะอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่ดี ลดสภาพเสื่อมโทรม
เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นเวลานาน และเป็นมรดกแก่ลูกหลานสืบไปอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของระบบนิเวศวิทยาทางทะเล คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 4 มิ.ย.34 ให้กองทัพเรือ กรมป่าไม้ กรมประมง ดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนในการป้องกัน การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน การป้องกันการทำลายปะการัง และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร และสภาพแวดล้อมในทะเล
กองทัพเรือ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง และดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน โดยกองทัพเรือ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นรับผิดชอบเรียกว่า คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกองทัพเรือ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเล คณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่ง คณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล ศูนย์อนุรักษ์สภาพแวดล้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา และคณะกรรมการอุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ 36
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงครองราชย์ปีที่ 50 ใน พ.ศ.2539 และรัฐบาลมีนโยบาย ที่จะจัดให้มีโครงการเฉลิมพระเกียรติ ฯ จึงเป็นโอกาสดีที่จะเร่งรัด และเพิ่มระดับการปฏิบัติ ในการอนุรักษ์ ฯ ให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ไปพร้อม ๆ กับการประชาสัมพันธ์ให้ หน่วยงานภาคเอกชนและประชาชน ร่วมมือในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม เพราะประชาชนชาวไทย ซึ่งต่างมีความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โครงการนี้กองทัพเรือได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และองค์กรเอกชนอื่น ๆ ที่ดำเนินการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแบ่งการดำเนินการออกเป็น 5 งานดังนี้
1. การเก็บสิ่งปฏิกูลใต้น้ำและชายฝั่งทะเล
2. การปลูกปะการัง
3. การเพาะเลี้ยงเต่าทะเล
4. การเพาะเลี้ยงหอยนมสาว
5. การประชาสัมพันธ์