พ.ศ.2460 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี สนาบดีกระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นที่ บริเวณหอวังหรือบ้านสวนหสวงสระประทุมบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติในปัจจุบัน เรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง" จึงเป็นจุดเริ่มแรกของฐานความคิด และกิจกรรมของรัฐด้านให้การศึกษาแผนใหม่ทางการเกษตร
พ.ศ.2477 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ โดยรับนักเรียนจากผู้ที่สำเร็จมัธยมปีที่ 6 หลักสูตรกำหนดเวลาเรียน 2 ปี โดยมีพระช่วงเกษตรศิลปการ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ด้วย
พ.ศ. 2479 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้ง "โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคเหนือขึ้น" โดยใช้สถานที่ร่วมกับโรงเรียนฝึกหัดครู ประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือ โรงเรียนวิสามัญเกษตรกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มีหลักสูตรเวลาเรียน 4 ปี โดยรับจากผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 4 โรงเรียนสามัญ เมื่อเรียนจบแล้วกระทรวงธรรมการกำหนดให้มีวิทยฐานะเทียบเท่าชั้นมัธยมปี่ที่ 8
พ.ศ. 2481 กระทรวงธรรมการได้ยุบเลิกโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคใต้ ที่คอหงส์ จังหวัดสงขลา โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคกลาง บางกอกน้อย ธนบุรี และโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคอีสาน ที่โนนวัด จังหวัดนครราชสีมา และโอนกิจการทั้งหมดของโรงเรียนเหล่านั้นมารวมกันที่มัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคเหนือที่แม่โจ้เพียงแห่งเดียว ในปีเดียวกันนี้เอง ได้โอนกิจการจากกระทรวงธรรมการ ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตราธิการ และเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้โดยได้รับผู้ที่สำเร็จจากหลักสูตรมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม เพื่อเข้าศึกษาตามหลักสูตรอนุปริญญา เป็นเวลา 3 ปี ทางเกษตรศาสตร์ สหกรณ์และวนศาสตร์
พ.ศ. 2482 กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นที่เกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ และที่แม่โจ้ให้เตรียม เป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรเวลาเรียน 2 ปี โดยรับจากผู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 สำเร็จจึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนได้เลย
พ.ศ. 2486 เปลี่ยนเป็น "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ทั้งนี้เพราะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขน ได้รับการสถาปนาเป้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2491 กระทรวงเกษตราธิการได้โอนกิจการให้แก่กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและเปลี่ยนเป็น "โรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้" รับจากผู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 (ม. 3 ปัจจุบัน) เข้าศึกษาต่ออีก 3 ปี สำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตรอาชีวชั้นสูง แผนกเกษตรกรรม โยเริ่มดำเนินการรับนักเรียนประเภทนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา
พ.ศ. 2499 ได้รับการ "ยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่" และขยายหลักสูตรถึงประโยคครูมัธยมเกษตรกรรม (ปมก.)
พ.ศ. 2505 ย้ายกิจการฝึกหัดครูมัธยมเกษตรกรรม ไปเปิดดำเนินการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และ "เปิดหลักสูตรเทคนิคเกษตร" หรือ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงแผนกเกษตรกรรม" ขึ้นเป็นแห่งแรก
พ.ศ. 2518 ได้รับการสถาปนาเป็น "สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร" โดยพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร พ.ศ. 2518
พ.ศ. 2525 เปลี่ยนชื่อจากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร เป็น "สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้" ตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 4 เล่ม 99 ตอนที่ 15 ราชกิจจานุเบกษา 3 กุมภาพันธ์ 2525 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้คือ เนื่องจาก วิทยาลัยเกษตรกรรม เชียงใหม่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปทั้งประเทศ เนื่องจากมีนักศึกษาที่มาจากทุกภาคของประเทศได้เข้าไปศึกษา ณ สถาบันนี้ แต่เมื่อวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น "สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร" นามนี้จึงไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น