มหาวิทยาลัยราชภัฏ เดิมเป็นโรงเรียนอาชีพประจำจังหวัด ตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2477 ที่หมู่บ้านมลายูบางกอก ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเป็นผู้จัดตั้งโดยใช้เงินศึกษาพลี (เงินศึกษาพลีเป็นเงินที่รัฐเก็บจากชายไทยอายุ 18-60 ปี เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการจัดการศึกษา) เป็นค่าก่อสร้างสถานที่ จำนวนเงิน 2,000 บาท ดำรงโรงเรียนตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2464 สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และประโยคประถมบริบูรณ์ คือ ชั้นประถมปีที่ 6 ในสมัยนั้น วันที่ 17 พฤษภาคม 2478 ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ข้างวัดพุทธภูมิ คือ ส่วนของบริเวณโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลาในปัจจุบัน ซึ่งการย้ายโรงเรียนในครั้งนี้ ด้วยสาเหตุที่ว่าที่ตั้งโรงเรียนเดิม คือ ที่มลายูบางกอกเป็นเนินสูงไม่เหมาะแก่การฝึกหัดภาคปฏิบัติ คือ การทำสวนปลูกผัก ในสมัยนั้นพระภูมิพิชัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีพัฒนาการมากว่า 80 ปี (นับถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2557) เริ่มจากการต่อตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ตั้งปี พ.ศ. 2477 จนถึงในปัจจุบันยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัย ราชภัฏยะลา" สามารถแบ่งยุคของการพัฒนาองค์กรตามลำดับได้ 4 ระยะ ดังนี้
- โรงเรียนฝึกหัดครู (พ.ศ. 2447 -2505)
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 เริ่มก่อตั้งเป็นโรงเรียนอาชีพประจำจังหวัด ตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ที่หมู่บ้านมลายูบางกอก ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเป็นผู้ตั้ง ใช้เงินศึกษาพลี (เงินศึกษาพลี เป็นเงินที่รัฐเก็บจากชายไทยอายุ 18-60 ปี เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการจัดการศึกษา) เป็นค่าก่อสร้างสถานที่เป็นเงิน 2,000 บาท ดำรงโรงเรียนตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาพุทธศักราช 2464 เปิดสอนในระดับสอนชั้นประถมปีที่ 4 และประโยคประถมบริบูรณ์ คือชั้นประถมปีที่ 6 ในสมัยนั้น
17 พฤษภาคม 2478 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ข้างวัดพุทธภูมิ คือ ส่วนของบริเวณที่เป็นโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงจังหวัดยะลาในปัจจุบันนี้ การย้ายโรงเรียนครั้งนี้ ด้วยสาเหตุ คือ ที่ตั้งโรงเรียนเดิม คือที่มลายูบางกอกเป็นเนินสูง ไม่เหมาะแก่การฝึกหัดภาคปฏิบัติ คือการทำสวนปลูกผักในสมัยนั้น ซึ่งมีพระภูมิพิชัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
พ.ศ. 2477 จัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นต้นปีที่ 1-2
พ.ศ. 2478 จัดเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร 2 ชั้น คือ ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 นักเรียนสอบไล่ได้ ป.5 เป็นนักเรียนปีที่ 1 นักเรียนที่สอบไล่ได้ ป. 6 เป็นนักเรียนปีที่ 2 และมี ประถม เกษตรกรรมปีที่ 1,2 รวมอยู่ด้วย
22 สิงหาคม 2480 ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่โรงเรียนอนุบาลซึ่งได้ปลูกสร้างสถานที่ขึ้นใหม่ (โรงเรียนอนุบาลสมัยนั้นอยู่บริเวณที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิคยะลาในปัจจุบัน)
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2481 โอนชั้นประถมเกษตรกรรมไปขึ้นกับเทศบาลเมืองยะลายังคงเหลือแต่ชั้นฝึกหัดครู ปีการศึกษา 2482 ไม่มีนักศึกษามาสมัครเรียนเลย โรงเรียนต้องปิดตลอดปีการศึกษา 2482 วันที่ 17 พฤษภาคม 2483 เริ่มเปิดทำการสอนใหม่เป็นมัธยมพิเศษ เริ่มสอนปีที่ 1 แล้วปีต่อมาคือปี พ.ศ. 2484 ขยายถึงชั้นปีที่ 3
พ.ศ. 2486 เปลี่ยนเรียกชื่อ ม.1-2-3 พิเศษ เป็นชั้นฝึกหัดครูประชาบาล (ป.ป.)ปีที่ 1-2-3 วันที่ 15 ธันวาคม 2486 ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่สะเตง ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเดิม โดยกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงคมนาคม โอนเงินชดใช้ 10,000 บาท ให้แก่แผนกมหาดไทย ทางแผนกมหาดไทยโอนกรรมสิทธิ์อาคารต่าง ๆ ให้แก่โรงเรียนฝึกหัดครู คือ
- ที่ทำการอำเภอเมืองยะลา 1 หลัง
- ศาลากลางจังหวัด 1 หลัง (หอธรรมศักดิ์มนตรี)
- ที่ทำการแผนกศึกษาธิการ 1 หลัง
- สโมสรเสือป่า 1 หลัง
- จวนข้าหลวงประจำจังหวัด 1 หลัง
- ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข 1 หลัง
พ.ศ. 2493 เปิดชั้นฝึกหัดครูมูล รับนักเรียนที่สอบไล่ได้ ม.6 เข้าเรียนตามหลักสูตร 1 ปี และยุบเลิกชั้น ป.ป. ปีที่ 1
พ.ศ. 2494 เปิดชั้นฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดปีที่ 1 ยุบเลิกชั้น ป.ป. ปีที่ 2
พ.ศ. 2498 ยุบเลิกชั้นประถมประโยคครูมูล เปิดชั้นฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาปีที่ 1 ยุบเลิกชั้น ว. ปีที่ 1
พ.ศ. 2499 เปิดชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาปีที่ 2 ยุบเลิกชั้นประโยคครูมูลและเปิดสอนชั้นประกาศนียบัตรวิชาการเรื่อยมา
พ.ศ. 2504 โรงเรียนฝึกหัดครูยะลา ได้ย้ายมาจากศาลากลางเก่าที่สะเตง มาอยู่ที่ปัจจุบันได้ก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง หอนอน 1 หลัง และโรงอาหารชั่วคราว 1 หลัง และยังใช้สถานที่เดิมอยู่ด้วยเพราะสถานที่สร้างใหม่ไม่เพียงพอ ที่สถานที่ปัจจุบันนี้ ฯ พณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแผนผังของสถาบันราชภัฏไว้ไห้ ตั้งแต่เมื่อแรกที่ได้ที่ดินมาดำเนินการก่อสร้าง
- วิทยาลัยครู (พ.ศ. 2505-2538)
พ.ศ. 2505 กรมการฝึกหัดครู ประกาศยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูยะลาเป็นวิทยาลัยครูยะลาและในปีการศึกษา 2506 ได้เปิดชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงเป็นรุ่นแรก และขยายการเปิดสอนชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ปกศ.) ชั้นสูง วิชาเอกต่าง ๆ
พ.ศ. 2509 วิทยาลัยครูยะลาได้รับเงินงบประมาณดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ ทำให้เป็นสถานศึกษาสมบูรณ์ มีอาคารสถานที่พร้อมทั้งอาคารเรียน หอนอนหญิง หอนอนชาย หอประชุม บ้านพักครู โรงครัว ตลอดจนการสาธารณูปโภคภายในวิทยาลัย
พ.ศ. 2518 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอน 48 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 ฉบับพิเศษ เรื่อง "พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518" มีผลทำให้วิทยาลัยครูทั่วประเทศ สามารถเปิดสอนถึงระดับปริญญา วิทยาลัยครูยะลาได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีรุ่นแรก สาขาวิชาบังคับเอกภาษาอังกฤษและวิชาโทภาษาไทย และได้ทำการเปิดสอนมาตามลำดับ ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนหลายวิชาเอกและวิชาโท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2527 ในขณะนั้น
พ.ศ. 2528 ได้ขยายหลักสูตรเปิดสอนวิชาการในสาขาต่าง ๆ ตามความต้องการของท้องถิ่น เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาศิลปศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ วิชาเอกวารสารและการประชาสัมพันธ์ สาขาศิลปกรรมและศิลปประยุกต์ วิชาเอกออกแบบประยุกต์ศิลป หลักสูตรอนุปริญญาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ วิชาเอกการอาหาร
พ.ศ. 2529 ขยายหลักสูตรอนุปริญญาศิลปศาสตร์ เปิดสอนสาขาวิชาดนตรีและ ศิลปการแสดง วิชาเอกนาฎศิลป์และการศิลปะการแสดง
พ.ศ. 2530 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน
พ.ศ. 2531 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาการจัดการทั่วไป
พ.ศ. 2532 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (วท.บ) โปรแกรมวิชา สุขศึกษา
พ.ศ. 2534 เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (อ.วท.) โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์
พ.ศ. 2535 เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิทยาศาสตร์ (อ.วท.) โปรแกรมวิชาเคมีปฏิบัติ และเปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญา สาขาศิลปศาสตร์ (อ.ศศ.) โปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ โปรแกรมวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว
- สถาบันราชภัฏยะลา (พ.ศ.2538-2547)
14 กุมภาพันธ์ 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถาบันว่า "สถาบันราชภัฏ" แทนวิทยาลัยครู จึงถือเอาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันราชภัฏ" สืบต่อมา โดยใน วันที่ 24 มกราคม 2538 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 4 ก. "พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ" พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูยะลา จึงมีนามใหม่ว่า "สถาบันราชภัฏยะลา" ซึ่งมีผลทำให้สถาบันสามารถเปิดสอนในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีได้
พ.ศ. 2538 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาการบริหารธุรกิจ
พ.ศ. 2539 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาศิลปกรรม
พ.ศ. 2540 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต)
พ.ศ. 2541 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชา รัฐประศาสนศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์
พ.ศ. 2542 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาภาษาไทยและเปิดสอนโครงการการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ศูนย์แม่ลาน รุ่นที่ 3
พ.ศ. 2543 เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 1
พ.ศ. 2544 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษาโครงการ การศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น(กศ.พท.) รุนที่ 4 และนักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 16 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2544
พ.ศ. 2545 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.พท. รุ่นที่ 5 นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 17 และนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 2
พ.ศ. 2546 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.พท. รุ่นที่ 6 นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 18 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2546
พ.ศ. 2547 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 19 รับนักศึกษาหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 3 และเปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร มหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 1
- มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (15 มิถุนายน 2547-ปัจจุบัน)
15 มิถุนายน 2547 สถาบันราชภัฏยะลา ยกฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 โดยกำหนดปรัชญาและวัตถุประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 41 แห่ง ตามพระราชบัญญัติใน “มาตรา 7 ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”
พ.ศ. 2547 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 19 รับนักศึกษาหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 3 และเปิดสอนหลักสูตร ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 1
พ.ศ. 2548 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 20 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2548
พ.ศ. 2549 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 21 รับนักศึกษาหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 4 และนักศึกษาหลักสูตร ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 2
พ.ศ. 2550 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 22 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2550
พ.ศ. 2551 รับนักศึกษาภาคปกติ เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2551 นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 23 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2551
พ.ศ. 2552 รับนักศึกษาภาคปกติ เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2552 รับนักศึกษา นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 3 และเปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาภาคปกติและภาคพิเศษ ในระดับปริญญาตรี ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท รวมทั้งสิ้น 39 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี 26 หลักสูตร ปริญญาตรี 5 ปี 6 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร และปริญญาโท 5 หลักสูตร และมีจำนวนนักศึกษาทุกระดับ ทั้งภาคปกติและภาคพิเศษทั้งหมด 7,600 คน จำแนกเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ 2,590 คน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 1,424 คน คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร 2,187 คน และคณะวิทยาการจัดการ 1,399 คน
พ.ศ. 2554 ทุกหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรใหม่หรือปรับปรุงหลักสูตรเดิมที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีในทุกหลักสูตรให้เข้าตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2552 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับใช้จัดการศึกษาใน ปีการศึกษา 2555 ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
พ.ศ. 2555 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรใหม่เพื่อรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2555 ในระดับปริญญาตรี จำนวน 26 หลักสูตร จากทั้ง 4 คณะ คือคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยแยกเป็น
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ได้แก่ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ จุลชีววิทยา ชีววิทยา เคมี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร วิทยการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ได้แก่ สาขาวิชาภาษาจีน ภาษาไทย ภาษามลายู การพัฒนาชุมชน ภาษาอังกฤษ
- หลักสูตรศิลปบัณฑิต (ศ.บ.) ได้แก่ สาขาออกแบบนวัตกรรมทัศนศิลป์
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) ได้แก่ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ การจัดการทั่วไป การตลาด การบัญชี
- หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา การศึกษาปฐมวัย
สำหรับในปีการศึกษา 2555 นี้ เป็นปีที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เข้าตรวจประเมินคุณภาพศึกษาของมหาวิทยาลัยและคณะ รอบ 3 ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2555 และมหาวิทยาลัยและทุกคณะได้รับการรับรองคุณภาพ
พ.ศ. 2556 รับสมัครนักศึกษาภาคปกติ เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคการเรียนที่ 1/2556 และรับนักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 27 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคการเรียนที่ 1/2556 และเปิดสอนระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประถมศึกษา สาขาวิชาพลศึกษาและ สุขศึกษา และสาขาวิชาการสอนอิสลามศึกษา และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชา การจัดการธุรกิจท่องเที่ยว และสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารเป็นการบริหารเชิงรุก ภายใต้การสร้างภาพลักษณ์องค์กรสู่ “มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ (University of WISDOM Bank)” ภายใต้การนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี และทีมคณะผู้บริหารซึ่งมีวาระ 4 ปี โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2556 เป็นต้นมา มีเป้าหมายเพื่อเปิดมหาวิทยาลัยต้อนรับชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้เป็น "สถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" อย่างแท้จริงต่อไป กิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2557 ได้แก่ การขยายการศึกษาเปิดรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 ของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา