"สวอท์ช" รุกแฟรนไชส์เต็มตัว ลุยหัวเมืองแหล่งท่องเที่ยว
ตั้งเป้า 1 จังหวัด 1 สาขา
ศิริวรรณ พงศ์กิจวรสิน Brand Manager บริษัท เดอะ สวอท์ช กรุ๊ป เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สวอท์ชในเมืองไทยเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์เมื่อปีที่ 2547 สาเหตุที่เราทำเป็นแฟรนไชส์เพราะมองว่าสินค้านาฬิกาเริ่มกลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์แล้วไม่ใช่แค่สินค้าแฟชั่นหรือว่าฟังก์ชั่นที่มองเวลาอย่างเดียว และจากการที่ผู้บริโภคมีมุมมองที่เปลี่ยนไปคือคนเราสามารถมีนาฬิกาในครอบครองได้มากกว่า 1-2 เรือนเพื่อใส่ให้เข้ากับเสื้อผ้าซึ่งตรงนี้ทำให้ตลาดจะกว้างขึ้น
นอกจากนี้ ในตลาดต่างจังหวัดมีผู้บริโภคที่ถามหาแบรนด์สวอท์ชค่อนข้างมาก แต่บริษัทไม่สามารถไปเปิดตลาดในต่างจังหวัดด้วยตัวเองได้ เพราะเป็นสิ่งที่ยากในแง่เรื่องของการจัดการชอปที่มีคุณภาพ หรือการทำชอปที่ให้มีหน้าตาแบบสวอท์ชมากๆ แต่ในขณะที่การขยายสาขาในกรุงเทพฯ ของสวอท์ชถือว่าครอบคลุมดีแล้ว เพราะมีชอป 4 สาขา คือที่เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลปิ่นเกล้า สยามเซ็นเตอร์ และเกษรพลาซ่า ซึ่งเป็นของบริษัทแม่ทั้งหมดและยังมีมุมจำหน่ายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าอีก 20 แห่ง แต่สิ่งที่สาขาในกรุงเทพฯ จะต้องปรับปรุง คือเรื่องของคุณภาพและการบริการที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ การที่จะเลือกเปิดสาขาชอปให้เป็นรูปแบบแฟรนไชส์หรือเป็นสาขาของบริษัทขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ และการเก็บค่ารอโยตี้ฟีแต่ละประเทศจะเก็บหรือไม่เก็บก็ได้ แต่ที่บริษัทไม่เก็บค่ารอโยตี้ฟี เพราะต้องการให้แฟรนไชซีลงทุนในเรื่องของการซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งร้านจากสวอท์ชมากกว่าเพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ของความเป็นสวอท์ช บริษัทจึงเริ่มเปิดแฟรนไชส์สาขาแรกเมื่อปลายปีที่ 2547 ที่ Walking Street พัทยาใต้ หลังจากนั้นก็เปิดสาขาที่เกาะสมุย และห้างเซ็นทรัลที่พัทยาเหนืออีกแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทจะให้แฟรนไชซีเพียง 1 รายมีสิทธิในการเปิดสาขาใน 1 จังหวัด นอกจากนี้ ไม่จำเป็นว่า 1 จังหวัดจะต้องมีสาขามากกว่า 1 ชอป เนื่องจากบริษัทต้องการร้านที่คุณภาพ และเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาดกัน
สำหรับการเปิดสาขาแฟรนไชส์ปีแรกในต่างจังหวัดถือว่าได้ผลดีเพราะมีทั้งกลุ่มลูกค้าสนใจอยากซื้อสินค้าและที่ต้องการเป็นแฟรนไชซีติดต่อเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจาก 1.สวอท์ชเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว และ 2.ราคาสินค้าที่สวอท์ชถือว่าถูกกว่าราคาสวอท์ชในหลายๆ ประเทศ คาดว่าใน 3 ปีต่อจากนี้จะสามารถเปิดร้านสวอท์ชในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองได้ 1 จังหวัด 1 สาขา อย่าง พัทยา เชียงใหม่ สมุย ขอนแก่น อุดรธานี หาดใหญ่ และภูเก็ตฯลฯ และในอนาคตจะเปิดให้ครบทั้ง 4 ภาค
บริษัทเชื่อว่าการขยายสาขาไปต่างจังหวัดจะทำแบรนด์สวอท์ชเป็นที่รู้จักมากขึ้นและยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในแบรนด์ให้กับกลุ่มลูกค้าซึ่งก็ส่งผลดีต่อร้านดีลเลอร์หรือร้านทั่วไปด้วย ส่วนการขยายแฟรนไชส์ในกรุงเทพฯ บริษัทคาดว่าจะขยายสาขาเองเกือบหมดแต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นนักลงทุน
ชี้โอกาสทางธุรกิจน่าลงทุน
ด้านโอกาสในการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์สวอท์ชนั้น ศิริวรรณ มองว่ามีแนวโน้มว่าน่าจะไปได้ดีและโอกาสในการลงทุนค่อนข้างสูงเห็นได้จากการเปิดสาขาพัทยา สาขาสมุย และสาขาแฟรนไชส์ของสวอท์ชในต่างประเทศ นอกจากนี้ การที่นโยบายบริษัทไม่ได้ต้องการที่จะเปิดสาขาแบบเป็นดอกเห็ดทำให้ธุรกิจนี้น่าจะดี และแบรนด์สวอท์ชเป็นแบรนด์อินเตอร์ที่ลูกค้าค่อนข้างรู้จักแต่ในช่วงการเปิด 3 เดือนแรกแฟรนไชซีอาจจะต้องเหนื่อยในการเรียนรู้กลุ่มลูกค้าก่อน และกำไรต่อชิ้นของนาฬิกาในร้านแฟรนไชส์จะสูงกว่าร้านดีลเลอร์
"จริงๆ ธุรกิจนาฬิกาควรเป็นแฟรนไชส์แล้ว เพราะนาฬิกากลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น ฉะนั้นรูปแบบของชอปก็ควรอยู่ในรูปแบบไลฟ์สไตล์ชอปมากกว่าชอปที่เดินเข้าไปแล้วมีนาฬิกาวางอยู่หลายแบรนด์ คือต่อไปจำนวนแบรนด์ที่ขายในร้านนาฬิกาควรจะลดลงไป แต่มีการแบ่งเป็นเซ็กเม้นต์หรือแบ่งเป็นกลุ่มมากขึ้น"
สำหรับความแตกต่างของการเปิดร้านแฟรนไชส์สวอท์ชกับดีลเลอร์นาฬิกาสวอท์ช คือ 1.การจัดเรียงสินค้า ด้วยดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ผู้ซื้อสามารถหยิบมาลองสวมใส่ได้ทันที 2.รูปแบบนาฬิกาของดีลเลอร์จะสู้รูปแบบของนาฬิการ้านสวอท์ชไม่ได้ในเรื่องของความหลากหลาย เพราะดีลเลอร์ต้องมีสต๊อกนาฬิกาหลายแบรนด์ และ 3.ทั้งร้านแฟรนไชซีและร้านของบริษัทจะมีการจัดมาร์เก็ตติ้งซัพพอร์ทในแคมเปญเดียวกัน
โดยร้านสวอท์ช 1 ร้านจะมีนาฬิกาจำหน่าย 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคอเลคชั่นใหม่ล่าสุด 2.กลุ่มนาฬิกาที่ขายดี และ 3.กลุ่มแคลี่โอเวอร์หรือนาฬิกาที่ถูกผลิตมาเมื่อ 3-5 ปีที่แล้วแต่ยังมีกลุ่มผู้ซื้อถามถึง ซึ่งการเปิดสาขาช่วงแรกบริษัทคงจะนำสินค้าทุกกลุ่มเข้ามาจำหน่ายก่อนเพื่อศึกษากลุ่มลูกค้า นอกจากนี้แฟรนไชส์ยังสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องประดับ เช่น สร้อย จี้ห้อยคอ ของสวอท์ชได้ด้วย
ปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในการตกแต่งร้านมีด้วย 3 ชุดหลัก คือ 1.Coastline ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ใช้ในร้านสวอท์ชมาแล้ว 4-5 ปี 2.Atlantis เป็นเฟอร์นิเจอร์ชุดใหม่ที่นำเข้ามาซึ่งใช้อยู่ที่ร้าน Loft หรืออิเซตัน 3. Jelly Fish เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในชอปเพียงอย่างเดียวเนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ชุดนี้การลงทุนสูงถึง 5 ล้านบาทปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวใช้อยู่ที่เกษรพลาซ่าแห่งเดียว โดยเฟอร์นิเจอร์ทั้ง 3 แบบนำเข้าจากสวิสเซอร์แลนด์ทำให้มีราคาสูงซึ่งการตกแต่งชอปให้เป็นรูปแบบใดขึ้นอยู่กับงบประมาณในการลงทุนของแฟรนไชซีด้วย
ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนตลาดโต
ศิริวรรณ กล่าวต่อว่า ด้านตลาดนาฬิกาปีนี้ถือว่าค่อนข้างดีและโตมากทั้งตลาดรวมและสวอท์ช เนื่องจากตลาดนาฬิกาแฟชั่นผู้ซื้อไม่ได้ใส่เพราะมองเรื่องการใช้งานเพียงอย่างเดียวแต่ใส่เป็นสไตล์และแฟชั่นมากขึ้น ซึ่งในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ผู้บริโภคต่อคนมีการซื้อนาฬิกาไว้ใส่มากกว่า 1 เรือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนาฬิกาแฟชั่นราคาไม่ได้สูง
นอกจากนี้บางแบรนด์ยังมีระบบการผ่อนชำระและลดราคาทำให้ลูกค้าซื้อเยอะขึ้น ในขณะที่สวอท์ชจะไม่มีนโยบายลดราคา แต่เน้นขายความเป็นสวอท์ชและบริการหลังการขาย โดยจุดเด่นของสวอท์ช คือเรื่องของดีไซน์ที่แตกต่างจากนาฬิกาทั่วไป
ด้านการแข่งขันสวอท์ชจะเน้นการแข่งขันกับตัวเองทั้งเรื่องของการพัฒนา การบริการ การจัดการ การบริหารสต๊อก ฯลฯ เพราะสวอท์ชจับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่และยังเป็นแบรนด์แฟชั่นที่แข็งแกร่งจนสามารถขายสินค้าแบรนด์เดียวในชอปได้ในขณะที่แบรนด์อื่นจะจับกลุ่มลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว โดยร้านแฟรนไชส์นาฬิกาในตลาดคาดว่ามีสวอท์ชเพียงแบรนด์เดียว
ใคร? ที่เหมาะเป็นแฟรนไชซี
โดยหลักในการเลือกเปิดสาขาแฟรนไชส์จะต้องดูเรื่อง 1.โลเกชั่นจะต้องเป็นแหล่งที่มีลูกค้าที่ตรงกลุ่มและต้องเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่จำเป็นต้องอยู่บนห้างสรรพสินค้าก็ได้ อย่างพัทยาอยู่ที่ Walking Street หรือที่สมุยก็อยู่ใกล้ๆ กับหาดฉวาง และ 2.ดูจำนวนคนเดินผ่าน เพราะสวอท์ชเป็นนาฬิกาที่มีราคาจำหน่ายที่ไม่แพงเหมาะทั้งการซื้อให้ตัวเองและเป็นของขวัญให้กับผู้อื่น
สำหรับคุณสมบัติของแฟรนไชซีที่มองไว้ คือ 1.ควรเป็นคนในพื้นที่เพราะจะได้เข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าในพื้นที่เป็นใคร 2.ต้องรักในการบริหารสินค้าที่เป็นแฟชั่นและก็รักในการบริการ เพราะการขายสวอท์ชไม่ใช่แค่การขายนาฬิกาแต่ต้องขายความเป็นสวอท์ช และขายเรื่องบริการหลังการขายคุณภาพ และ 3.หากแฟรนไชซีมีคาแรกเตอร์ของความเป็นสวอท์ชอยู่แล้วถือว่าดี อย่างแฟรนไชซีที่พัทยาเป็นนักสะสมสวอท์ชมาก่อน เพราะจะมีความรู้เกี่ยวกับตัวสินค้ามาระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ บริษัทก็ไม่ได้ปิดกั้นสำหรับร้านที่จำหน่ายนาฬิกาหลายๆ แบรนด์หากจะปรับตัวเป็นแฟรนไชส์ของสวอท์ชก็สามารถทำได้ แต่ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่เปิดร้านแบบนี้จะชินกับการขายสินค้าหลายๆ แบรนด์มากกว่า
สำหรับกลุ่มลูกค้าของสวอท์ชมีตั้งแต่ 4 ขวบถึง 60 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะสวอท์ชมีนาฬิกาที่เหมาะกับทั้งกลุ่มเด็กเล็กจนไปถึงผู้ใหญ่ โดยกลุ่มลูกค้าของแต่ละร้านก็แตกต่างกันไป อย่างสาขาพัทยากลุ่มลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยว ในขณะที่สาขาในกรุงเทพฯ อย่างสยามจะเป็นกลุ่มนักเรียนวัยรุ่น สาขาเกษรพลาซ่า 50% ก็จะเป็นนักท่องเที่ยว สาขาลาดพร้าวจะเป็นนักศึกษา และสาขาปิ่นเกล้าจะเป็นครอบครัว
เปิดแฟรนไชส์สวอท์ชลงทุนเท่าไหร่?
1. งบประมาณในการลงทุนร้านสวอท์ชขึ้นอยู่กับขนาดและโลเกชั่น
2. บริษัทไม่มีการเก็บค่าแฟรนไชส์และค่ารอโยตี้ฟี
3. พื้นที่การเปิดเริ่มตั้งแต่ 10-60 ตารางเมตร
4. ประมาณการณ์ลงทุน หากเปิดอยู่ในพื้นที่ 30 ตารางเมตรในห้างสรรพสินค้า 1 เดือนเสียค่าเช่า 60,000-80,000 บาท, ค่าพนักงาน 20,000-30,000 บาท, ค่าน้ำค่าไฟ 2,000 บาท, ค่าสต๊อกสินค้า 500,000-1,000,000 บาท, ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งร้านประมาณ 500,000 บาท
6. ประมาณการณ์คืนทุน 1-2 ปี
7. บริษัทมีการเทรนนิ่งพนักงานให้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
ขอขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/swatchthailand