ดาวเด่นแฟรนไชส์    Bake@Home ครบเครื่องเบเกอรี่ ว่าที่แฟรนไชส์สานฝันคนอยากเปิดร้าน
16K
20 ตุลาคม 2553

Bake@Home ครบเครื่องเบเกอรี่ ว่าที่แฟรนไชส์สานฝันคนอยากเปิดร้าน 
 
 

 

       ธุรกิจร้านเบเกอรี่เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในฝันของใครหลายคน ทว่า การเปิดร้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยทั้งฝีมือ อุปกรณ์ และระบบจัดการที่พร้อมสมบูรณ์ จุดนี้เอง ทำให้แฟรนไชส์รายเก๋าเครืออโรม่า เข้ามาคว้าโอกาส เสนอทางเลือกขายแฟรนไชส์ Bake@Home ร้านเบเกอรี่ครบวงจรที่เปิดได้ง่ายๆ มีจุดขายจากเมนูกว่า 80 รายการ สามารถตอบความต้องการของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยนำร่องเปิดร้านต้นแบบ เพื่อปูทางขายแฟรนไชส์จริงในช่วงปลายปีนี้
   

 

        นงนภา วงศ์วารี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร อโรม่า กรุ๊ป ผู้บริหาร บริษัท อโรม่า ไฟน์ ฟู้ด จำกัด เผยว่า เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟ “94 Coffee” ที่มีสาขากว่า 40 แห่ง โดยมีการผลิตเค้กส่งขายในร้านกาแฟอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างดี อีกทั้งมองอนาคตธุรกิจร้านเบเกอรี่ นับวันจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประเมินความพร้อมของบริษัท ทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการผลิต และประสบการณ์ในการขายแฟรนไชส์ บริษัทจึงแตกไลน์ธุรกิจเปิดขายแฟรนไชส์ร้านเบเกอรี่ Bake@Home
 

 

              นงนภา ระบุจุดขายของ Bake@Home จะเป็นร้านเบเกอรี่ขนาดเล็ก แต่บรรยากาศอบอุ่น ให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับลูกค้า ขณะที่สินค้า ตอบความต้องการของสมาชิกครอบครัวได้ทุกคน มีให้เลือกกว่า 80 รายการ ตั้งแต่เมนูขนมปัง เค้ก และพาย อีกทั้ง เพิ่มค่าด้วยการแต่งหน้าสวยงาม และไส้ต่างๆ ให้เลือกมากมาย
 
        “ธุรกิจเบเกอรี่เจ้าดังที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน แต่ละรายจะเน้นเมนูเด่นต่างกันไป เช่น บางแบรนด์เน้นขนมเค้ก ส่วนขนมปังมีไม่มาก ขณะที่อีกแบรนด์เน้นขนมปังไม่เน้นเค้ก แต่สำหรับ Bake@Home มีทั้งเบเกอรี่และเค้กในอัตราใกล้เคียง ประมาณ 60% ต่อ 40% เพื่อให้ใครก็ตามที่เข้าร้าน น่าจะมีขนมสักอย่างที่ถูกใจ ดังนั้น สินค้าของ Bake@Home ถ้าแยกแต่ละตัวอาจไม่โดดเด่น แต่เมื่อวางรวมกัน จะมีความหลากหลายสูง สามารถตอบโจทย์ได้ทุกคน” เจ้าของธุรกิจ อธิบายเสริม

ทั้งนี้ วางลูกค้าเป้าหมายไว้ระดับกลางบนขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคตลาดกว้าง และมีศักยภาพการซื้อพร้อม ราคาขาย ตั้งไว้ที่ชิ้นละ 22-65 บาท
 

 

       เพื่อเตรียมพร้อมเปิดขายแฟรนไชส์ Bake@Home บริษัทได้เปิดร้านต้นแบบของตัวเองแห่งแรกที่โกลเด้นเพลส สาขาสะพานสูง เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนไปกว่า 7 แสนบาทเป็นค่าตกแต่งร้าน ค่าอุปกรณ์ และการวางระบบต่างๆ
 
       นงนภา ระบุว่า จะใช้ร้านนี้เป็นต้นแบบ เพื่อเรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมถึง วางระบบบริหารจัดการให้พร้อมที่สุดก่อนจะขายแฟรนไชส์จริงในช่วงปลายปีนี้ อีกทั้ง ภายในกลางปีนี้ (2552) เตรียมขยายสาขาเพิ่มด้วยตัวเองอีก รวมเป็น 4 แห่ง เช่น โลตัสศรีนครินทร์ อินทราสแควร์ และโกลเด้นเพลส พระราม 9 เป็นต้น แต่ละสาขาจะมีรูปแบบร้านและกลุ่มลูกค้าแตกต่างกันไป
        นอกจากนั้น กำลังก่อสร้างโรงงานผลิตเบเกอรี่ ด้วยทุนกว่า 10-15 ล้านบาท เพื่อรองรับการผลิตสินค้าขายในช่องทางตลาดต่างๆ ในเครือของบริษัท ตั้งแต่ แฟรนไชส์ Bake@Home ร้านกาแฟ 94 Coffee และรับจ้างผลิตให้ร้านเบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น
 

 

       สำหรับรูปแบบแฟรนไชส์ Bake@Home ที่จะเปิดขายปลายปีนี้ ทางบริษัทซึ่งเป็นแฟรนไชซอร์จะเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ร่วมธุรกิจทุกด้าน ตั้งแต่สินค้า วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น การอบรมความรู้ และระบบบริหารจัดการร้าน โดยเงินลงทุนธุรกิจ ตั้งไว้ประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้านบาท มีให้เลือกทั้งแบบร้านเต็มรูปแบบ ร้านพ่วงกับร้านกาแฟ และแบบร้าน Corner คาดการคืนเงินลงทุนได้ภายใน 2 ปี ซึ่งยอดขายที่ผ่านมาของร้านต้นแบบโกลเด้นเพลส สาขาสะพานสูง มีรายได้สามารถคืนทุนได้ตามเป้าที่วางไว้

        “ธุรกิจร้านเบเกอรี่เป็นอีกธุรกิจในฝันของหลายคน ซึ่งดิฉันเชื่อว่า โอกาสของตลาดยังมีอีกมาก ดูได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปัจจุบันหันมากินขนมปังแทนอาหารเช้าแล้ว ดังนั้น ความสำเร็จของการเปิดร้านเบเกอรี่ ขึ้นอยู่กับค้นหาความต้องการของผู้บริโภคให้เจอ แล้วนำจุดนั้น มาสร้างสรรค์เป็นจุดเด่นของธุรกิจ ซึ่งทางบริษัท จะใช้ร้านที่เปิดด้วยตัวเองเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างโมเดลร้านที่เชื่อว่า จะช่วยให้คนที่อยากมีธุรกิจร้านเบเกอรี่ของตัวเอง สามารถเปิดร้านได้ง่ายๆ” นงนภา ระบุ

 

 เปิดกลยุทธ์ร้าน Bake@Home
       
       ในส่วนการผลิตของ Bake@Home เป็นลักษณะกึ่งโฮมเมด ผลิตจากส่วนกลางแล้วส่งไปที่สาขา โดยจะทำสดใหม่ทุกวัน ไม่ใส่สารกันบูดใดๆ ทั้งสิ้น และที่สำคัญมีข้อกำหนดว่า ถ้าขายเหลือจะต้องทิ้งทั้งหมด ไม่มีการนำสินค้าใกล้หมดอายุมาขายลดราคาช่วงเย็นอย่างเด็ดขาด

ทว่า เนื่องจากมีเมนูกว่า 80 รายการ ความยากที่สุด คือ บริหารต้นทุนและผลิตให้เหมาะสม มีสินค้าเหลือทิ้งต่อวันน้อยที่สุด
 

 

        “ส่วนตัวแล้ว ดิฉันเชื่อว่า การลดราคาจะเป็นการทำร้ายธุรกิจ เพราะลูกค้าจะไปคอยซื้อตอนลดราคา ทำให้แบรนด์ด้อยคุณค่าลง แต่ขณะเดียวกัน หากมีสินค้าเหลือทิ้งมาก ก็เป็นต้นทุนเสียเปล่า มูลค่าสูงมาก ปัญหานี้ เป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ที่ผ่านมา ธุรกิจเบเกอรี่ยังไม่สามารถขยายเป็นแฟรนไชส์ได้มากนัก” นงนภา เผย

        อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาของร้าน Bake@Home พยายามเก็บสถิติความนิยม และยอดขายของแต่ละรายการ เพื่อผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า อีกทั้ง ปรับรายการตามความเหมาะสม เช่น วันธรรมดาจะเหลือเฉพาะเมนูยอดฮิตและประจำ ประมาณ 50 รายการ ส่วนวันหยุด เสาร์และอาทิตย์ จึงกลับมาผลิตเต็มทุกเมนูอีกครั้ง รวมถึง อบรมพนักงานให้กระตือรือร้นในการขาย นอกจากนั้น มีการหมุนเวียนเมนูพิเศษตามเทศกาล เพื่อกระตุ้นยอดขาย เป็นต้น

ท่านใดสนใจ โทร.0-2539-5206, 0-2538-5674

 


อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์

ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
157,522
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,645
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,650
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,808
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,558
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
55,082
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด