ดาวเด่นแฟรนไชส์    จาก Hot Pot ถึง Daidomon จุดเริ่มต้น 2 ตำนานที่ปราศจากคำว่าทำไ...
11K
25 มกราคม 2556
จาก Hot Pot ถึง Daidomon จุดเริ่มต้น 2 ตำนานที่ปราศจากคำว่าทำไม่ได้!!

 
 
หากพูดถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีให้เลือกกันหลากหลายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น อาหารญี่ปุ่น สุกี้ ปิ้งย่าง พิซซ่า ฯลฯ ซึ่งแต่ละอย่างแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแบรนด์เดียวที่เป็นเจ้าตลาด หากแต่ทุกธุรกิจต้องมีการแข่งขันและสร้างความแตกต่างเพื่อความโดดเด่น และเป็นที่จดจำของผู้บริโภคให้มากที่สุด

วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ Success Story ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารสาวสวยเจ้าของร้านอาหารสุกี้สไตล์อินเตอร์บุฟเฟ่ต์อย่าง "Hot Pot" นั่นคือ "สกุณา บ่ายเจริญ" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) และผู้คิดค้นน้ำจิ้มรสแซบของ Hot Pot ซึ่งจะมาเล่าจุดเริ่มต้นและการฟื้นคืนชีพอีกครั้งของแบรนด์ปิ้งย่างอมตะอย่าง "ไดโดมอน"

จุดเริ่มต้นของ Hot Pot
 
เริ่มต้นจากตัวเอง ซึ่งหลังจากเรียนจบปริญญาโท ก็รู้สึกว่าอยากทำธุรกิจและมองว่าธุรกิจไม่น่าจะยาก ประกอบกับด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบกินสุกี้ ก็เลยมองว่าถ้าทำร้านสุกี้และเราทำรสชาติน้ำจิ้มให้อร่อยก็น่าที่จะอยู่ได้ จึงเริ่มต้นเปิดสาขาแรกเมื่อปี 2538 ที่ห้างตะวันออกคอมเพล็กซ์ ฉะเชิงเทรา ซึ่งหลังจากเปิดสาขาแรกก็ประสบความสำเร็จด้วยดี หลังจากนั้นก็ได้ใจคิดว่าไม่น่าจะยากก็เลยขยายสาขาไปเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงแรกสาขาที่ทยอยเปิดใหม่จะเป็นห้างที่ต่างจังหวัด ค่าใช้จ่ายจะไม่ค่อยสูงมากและเราก็ค่อยๆ เรียนรู้การบริหารจัดการไปเรื่อยๆ ก็เปิดสาขาแบบนี้ไปเรื่อยๆ

จน 10 ปีให้หลังประมาณปี 2548 ซึ่งตอนนั้นพวกโมเดิร์นเทรดก็เริ่มโตขึ้น เริ่มขยายไปต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น มีโลตัสก็มีร้านสุกี้ชื่อดังไป มีบิ๊กซีไปก็มีร้านสุกี้ชื่อดังไป เราเคยมีความสุขของเราอยู่ตอนนั้นก็ทำให้ยอดขายเราเริ่มลดลงบ้าง และการที่เราจะมาขยายสาขาในกรุงเทพฯ พอบอกเป็นสุกี้เหมือนเจ้าตลาดที่มีอยู่ หรือผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ก็ทำให้เราได้พื้นที่ค่อนข้างยาก เราเลยคิดว่าถ้ายังทำธุรกิจในแบบเดิมคือทำสุกี้ตามสั่งไปเรื่อยๆ คงโตยาก เลยคิดกันว่าจะทำอย่างไรดี ประกอบกับช่วงนั้นยังไม่มีใครทำสุกี้ที่เป็นบุฟเฟ่ต์
 

 
เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นทำเป็นบุฟเฟ่ต์ดีหรือไม่ แต่ถ้าเป็นบุฟเฟ่ต์ที่เป็นสุกี้อย่างเดียวก็อาจติดปัญหาอีก ถึงแม้จะเป็นบุฟเฟ่ต์แต่ก็เป็นสุกี้อยู่ดี ไม่หลุดสักที เลยคิดใหม่ว่าเราจะทำให้คอนเซปต์เราเป็นอินเตอร์บุฟเฟ่ต์ดีมั้ย คือนอกจากจะมีสุกี้แล้วก็ยังมีอาหารอื่นที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น จะได้แยกแนวคิดออกไปว่าเราไม่ได้เป็นสุกี้บุฟเฟ่ต์นะ แต่เราเป็นอินเตอร์บุฟเฟ่ต์ ก็เพิ่มไลน์ของอาหาร มีอาหารญี่ปุ่น จะเป็นพวกซูชิ ยากิโซบะ เทปันยากิ สเต๊กญี่ปุ่น และก็มีอาหารจีน ก็เป็นติ่มซำ มีพวกสลัดบาร์ มีขนมหวาน เครื่องดื่มครบถ้วน

และก็เปลี่ยนคอนเซปต์เป็น All you can eat คือสั่งครั้งเดียวก็อิ่มและเลือกกินได้ตามใจชอบ ก็เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลพระราม 2 ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เราเลยคิดว่านี่คงเป็นฟ้าลิขิต เราเลยเปิดสาขาต่อเนื่องมา ก็เปิดเป็นบุฟเฟ่ต์อย่างเดียว ไม่ได้กลับไปเปิดเป็นสุกี้ชาบูอีกเลย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ส่วนสาขาที่เป็นสุกี้ชาบู 20 กว่าสาขาก่อนหน้านั้นก็ปรับมาเป็นบุฟเฟ่ต์เกือบทั้งหมด ประมาณว่าเราจะเป็นเจ้าแห่งบุฟเฟ่ต์ คือหากนึกถึงบุฟเฟ่ต์ต้องนึกถึง Hot Pot
 
การปั้นแบรนด์ตามแบบฉบับ Hot Pot
 
ช่วงแรกก็ค่อนข้างลำบากเพราะคนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นแบรนด์ต่างจังหวัด สาขาส่วนใหญ่ก็เป็นสาขาต่างจังหวัด และเราก็ไม่ได้มีเงินเยอะมากที่จะไปทำกิจกรรมทางตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ทางทีวี ช่วงแรกๆ ก็จะเป็นการทำการตลาดแบบปากต่อปาก ทำกิจกรรมหน้าร้านบ้าง มีลงโฆษณาในทีวีแต่จะเป็นเหมือนพวกสปอนเซอร์เล็กๆ ในรายการทีวีนิดๆ หน่อยๆ พอให้ลูกค้าได้เห็น มีเงินแทนที่เราจะมาทำกิจกรรมทางการตลาดเราก็นำไปขยายสาขาก่อนดีกว่า เพราะเรามองว่าถ้าสาขาเรายังไม่ครอบคลุม เวลาที่เรานำเงินไปทำกิจกรรมทางการตลาดก็ไม่คุ้ม เพราะเราไม่มีสาขาที่จะรองรับลูกค้า เราเลยใช้วิธีขยายสาขาก่อนและเน้นเรื่องการให้บริการและอาหารให้ลูกค้าบอกกันปากต่อปาก
  
ซึ่งต้องเป็นการบอกที่ดีว่ามาร้านนี้อร่อย มาร้านนี้บริการใช้ได้ไม่ต้องถึงกับดี คุ้มค่าที่จะเข้ามารับประทานแล้วก็ค่อยๆ ขยายสาขาขึ้น ตอนที่เริ่มทำโฆษณาก็มีสาขาประมาณ 70 สาขาแล้ว แต่ถ้าโฆษณาจริงๆ จังๆ ก็ประมาณ 3 ปีที่แล้ว และก่อนโฆษณาก็ต้องเตรียมความพร้อมในร้าน ซึ่งจะบอกกับเด็กเสมอเลยว่าถ้าการโฆษณาคือการเรียกลูกค้าเข้ามา ในเมื่อเราเรียกลูกค้าเข้ามาแล้ว เราก็ต้องให้ลูกค้าประทับใจออกไป ไม่ใช่ว่าเสียเงินโฆษณาแล้ว และลูกค้าบอกว่าไม่น่ามาเลย เชื่อโฆษณามาได้ยังไงไม่เห็นอร่อยเลยก็ใช้เวลาเป็นปีในการปรับและเตรียมมาตรฐานความพร้อม มาตรฐานการทำงาน เครื่องมืออุปกรณ์พร้อมหรือไม่ พนักงานให้บริการเป็นอย่างไรบ้าง พนักงานพร้อมที่จะให้บริการลูกค้าครบถ้วนหรือไม่จำนวนพนักงานเพียงพอหรือเปล่า

พอออกโฆษณาวันที่ 1 ต.ค.2552 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ อาจจะเป็นด้วยลูกค้าที่ไม่รู้จักเราก็รู้จักเยอะขึ้น ก็เข้ามาใช้บริการเยอะขึ้น และด้วยความที่เราเตรียมตัวมาค่อนข้างดีช่วงที่โฆษณาก็ทำให้มันพีคขึ้นไป พอเราเริ่มลดโฆษณามันก็ไม่ได้ทำให้เราลดลงมาจุดเดิมมันก็ลดลงมาบ้าง
 
ลด 25% กลยุทธ์ขั้นเทพของฮอท พอท
 
เริ่มทำเมื่อ 2-3 ปีแล้ว ตอนที่ทำไม่ได้ทำทุกสาขา เริ่มทำแค่ไม่กี่สาขา แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี อาจจะเป็นเพราะว่าคือส่วนหนึ่งเราก็ได้ข้อมูลมาว่าลูกค้าเคยเห็นร้านเราแต่ไม่กินด้วยเหตุผลไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือไม่ ไม่รู้ว่าจะอร่อยหรือเปล่า แต่พอทำส่วนลด 25% คำว่าส่วนลด 25% ตัวใหญ่ๆ หน้าร้าน มันดึงดูดสายตาลูกค้ามากเลย ประมาณว่าแบบไม่อร่อยก็ขอลองดู ไม่รู้จักก็ขอลองสักหน่อย ลดตั้ง 25% ยังไงก็น่าจะคุ้มก็เลยได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ซึ่งดีมากๆ ก็เลยปูพรมทำเหมือนกันทุกสาขา

ก็เลยถือว่าอันนี้แทบจะเป็นซิกเนเจอร์ของฮอต พอตไปเลย
และจะเห็นว่าถ้าไปตามห้างสรรพสินค้าที่มีร้านเราอยู่ด้วย วันพุธจะเป็นมหกรรมบางสาขาลูกค้าเหมือนงานเลี้ยงเลย เต็มหน้าร้าน ร้านอื่นแบบเงียบเหงาไปตามๆ กัน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นวันพุธ เพราะมันเป็นกลางสัปดาห์ ปกติคนจะไม่ค่อยออกไปไหน
 
 
 
แผนการโกอินเตอร์
 
คิดไว้แต่คงยังไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะตอนนี้อยากจะใช้เวลากับพลังงานในเมืองไทยที่ยังมีที่ทางให้เราทำกินอยู่ได้ ก็อยากจะใช้พลังงานไปกับการขยายสาขาในประเทศให้ครบถ้วน เพราะทุกวันนี้ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ยังขาดอีกหลายจังหวัดเหมือนกัน เพราะใต้ เรามีแค่ที่ชุมพร สุราษฎ์ฯ หาดใหญ่ ภูเก็ต ตรัง ไม่เยอะมาก ก็ยังมีที่ให้เราเปิดได้ตามห้างอื่นๆ ทั่วๆ ไปที่เขาเปิดก็ยังศึกษากันอยู่ เพราะหากเราไปเปิดต่างประเทศเราก็ต้องไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค

เราต้องไปคำนึงถึงวัตถุดิบว่าเราจะส่งไปอย่างไร ส่วนที่เราส่งไม่ได้ ผัก ผลไม้ จิปาถะจะหาซื้อจากใคร เราจะควบคุมอย่างไร ขนาดกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมมติเรายังไม่มีเวลาดูแลให้ดีเลย แล้วเราจะไปกรุงเทพฯ เวียดนาม แล้วเราจะไปทำอย่างไร ขนาดเด็กไทยยังพูดกันไม่รู้เรื่องเลย จะให้ไปสื่อสารกับพนักงานที่เป็นคนเวียดนามและลูกค้าที่เป็นเวียดนาม มันใช้พลังงานเยอะ เราต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว
 
ปัญหาและอุปสรรค
 
ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคน ยิ่งช่วงนี้ร้านอาหารเปิดขึ้นเยอะมาก ถ้าไปตามห้างสรรพสินค้าจะเห็นเลย โซนของร้านอาหารถ้าเปรียบเทียบกับห้างสมัยก่อน โซนร้านอาหารจะไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่ห้างสมัยนี้โซนร้านอาหารเยอะถึงเยอะมาก 30-40 แบรนด์ และมีแบรนด์เกิดใหม่ทั้งผู้ประกอบการเก่า ซื้อแฟรนไชน์เข้ามา หรือพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง คนใหม่ก็อยากเข้ามาเล่นตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น การแข่งขันมันค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นในแง่ของพนักงานที่จะทำอยู่ในธุรกิจบริการแบบนี้ก็ชิงกันไปชิงกันมาแล้วพอเป็นธุรกิจบริการ ยิ่งต้องกลับข้างกับชีวิตคนทั่วๆ ไป เพราะส่วนใหญ่เราต้องการให้คนมาบริการเรา แต่พนักงานบริการเหล่านี้ต้องกลับข้างไปบริการคนอื่นก็ต้องกลับชีวิต
 
ซึ่งเราบอกกับพนักงานเราว่าการทำงานร้านอาหาร คุณเป็นคนพิเศษมากเลยนะ คุณชอบดูหนังละครทีวีคุณก็ไม่ได้ดูเพราะ 2 ทุ่มคุณยังอยู่ที่ร้านเลย คุณชอบเล่นสงกรานต์ คุณทำงานร้านอาหารไม่ได้ เพราะสงกรานต์คุณจะไม่ได้เล่นน้ำ คุณจะต้องอยู่ที่ร้านและคุณจะต้องเหนื่อยมากๆ เพราะมันเป็นช่วงเทศกาล อันนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานในภาคธุรกิจการให้บริการค่อนข้างจะลำบากมากด้วยเหมือนกัน เพราะนิสัยคนไทยจริงๆไม่ค่อยชอบให้บริการเท่าไหร่นะ เพราะคนที่มาทำงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กๆ วุฒิภาวะก็ไม่มาก บางทีผู้บริหารร้านสาขา ผู้จัดการร้านบ่นบ้าง ก็อุ๊ยไม่เอา ฉันออกไปอยู่ร้านโน้นก็ได้ ร้านนี้ก็ได้เพราะเขามีทางเลือกค่อนข้างเยอะ
 
แนวทางแก้ปัญหา
 
เรื่องค่าแรง เรื่องสวัสดิการก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ต้องสมดุลกันให้ได้ เพราะถ้าเราขึ้นค่าแรงมาก็เป็นค่าใช้จ่ายของเรา ซึ่งก็จะทำให้กำไรเราหดหายลงไป แต่เราไม่เพิ่มก็ไม่ได้เพราะถ้าไม่เพิ่มก็จะส่งผลกระทบต่อลูกค้า ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มแต่ยอดขายลงเพราะไม่สามารถบริการลูกค้าได้ดี ดังนั้นก็ต้องสร้างสมดุลกันในแง่ของเพิ่มอัตราค่าแรงให้จูงใจพนักงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้ค่าใช้จ่ายของเราสูงจนกระทั่งไปกินยอดกำไรของเราไปจนหมด

สิ่งที่ทำได้อีกอย่างคือการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ก็ต้องไปเน้นในเรื่องของการเทรนนิ่ง จากพนักงานสาขานี้มีสัก 20 คน ถ้าเราต้องเพิ่มเงินเดือน เราเลือกสัก 18 คนได้หรือไม่ ให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ให้คนๆ หนึ่งทำงานได้เยอะขึ้น คือไปเน้นในเรื่องนั้นมากกว่าถึงจะพอทำให้เราสมดุลได้ดีขึ้น ก็ต้องไปเน้นหนักในเรื่องการฝึกอบรมต่างๆ

รวมถึงการทำให้เขาเห็นช่องทางการเจริญเติบโตในการทำงาน พอคุณเข้ามาเป็นพนักงานเสิร์ฟ ก็ไม่ใช่ว่าคุณต้องเสิร์ฟไปชั่วชีวิตนะ มันก็ต้องวางการเติบโตให้เขาเห็น ถ้าคุณเข้ามา 6 เดือน เราจะมีสอบจากนี้คุณจะเติบโตไปเป็นอะไร ไปเป็นซุปเปอร์จากซุปเปอร์แล้วไปไหนต่อ คุณทำงานที่นี่กี่ปี 2 ปี 3 ปี คุณมีโอกาสโตไปเป็นระดับบริหารร้านสาขา อีกกี่ปีมีโอกาสโตไปเป็นผู้จัดการเราก็ต้องฉายภาพให้เขาเห็น มันก็มีคนเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง อันนี้ก็แล้วแต่

 
 
 
ถึงวันที่ฮอท พอท แตกไลน์ธุรกิจ 
 
ปลายปีที่แล้วช่วงวันที่ 15 ธ.ค.54 เราได้รับโอนไดโดมอนเข้ามา หลังจากเราตัดสินใจซื้อกิจการ ซึ่งถือเป็นการขยายไลน์จากบุฟเฟ่ต์ประเภทต้ม ไปเป็นบุฟเฟ่ต์ประเภทปิ้งย่างเพิ่มขึ้น ก็ทำให้โอกาสการขยายสาขาของเรามีเพิ่มขึ้น เช่น ห้างเปิดใหม่ปกติเราก็ขยายได้ 1 สาขา แต่ตอนนี้เราก็จะได้กลายเป็น 2 สาขา คือ บุฟเฟ่ต์ต้มและปิ้งย่าง คือมีไปทั้งฮอทพอทและไดโดมอน การขยายสาขามันก็จะขยายได้เร็วขึ้นดีขึ้น และเราพูดถึงไดโดมอนคนรู้จักเยอะแต่จะดีไม่ดีไม่รู้ แต่ว่าพอพูดถึงไดโดมอนปุ๊บทุกคนรู้จักว่าไดโดมอนคืออะไร ซึ่งบางคนอาจจะยี้ บางคนก็เออไดโดมอน ซึ่งมันน่าจะง่ายกว่าการสร้างแบรนด์ใหม่

สมมติบอกว่าฮอตกริว บายฮอท พอท มันคืออะไรคนก็อาจจะยังงง ยังสงสัยอยู่ แต่ถ้าไดโดมอนปุ๊บคนรู้แล้วว่าไดโดมอนคืออะไร เราก็คิดว่าการที่ได้แบรนด์มาแล้ว เรานำมารีเฟรซแบรนด์ใหม่ไม่น่าจะยาก เพราะคนวัยทำงานส่วนใหญ่เออเฮ้ย ฉันจำได้ไดโดมอน ฉันเคยไปกินสมัยยังวัยรุ่น ยังเป็นนักศึกษา บางคนก็บอกว่าอยากให้ปรับปรุงเร็วๆ อยากไปลองกินดูว่าไดโดมอนปรับโฉมใหม่จะเหมือนกับที่เคยกินสมัยวัยรุ่นหรือเปล่า
  
ซึ่งคาดว่าหากไดโดมอนเปิดตัวร้านก็จะต้องอยู่ใกล้กันกับฮอทพอทเพราะจะง่ายต่อการบริหารจัดการ เราสามารถแชร์แอเรียส่วนกลางได้ แต่ถ้าเป็นลูกค้าจะเห็นมองจากข้างนอก ฮอทพอทกับไดโดมอนจะไม่เหมือนกันนะ เป็นคนละอันกันชัดเจน อย่างบอกว่าฮอทพอทเน้นสีเขียว แต่ไดโดมอนจะเน้นสีส้มคนละแบรนด์เลย แต่ส่วนของครัวกลางในร้านอาจจะแชร์กันได้ เช่น ครัวล้าง และถ้าเราบอกว่าไดโดมอนก็มีซูชิ ฮอทพอทก็มีซูชิ ดังนั้นก็มีครัวซูชิที่แชร์กัน อย่างพ่อครัวที่อยู่หลังร้านก็อาจจะต้องทำเสิร์ฟทั้ง 2 ร้าน มันก็ทำให้เราควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ผู้บริหารสาขาก็อาจจะมีผู้จัดการสักคนหนึ่งดูทั้งสองสาขา และก็มีพวกผู้ช่วยอะไรกันไป
 
โฉมใหม่ไดโดมอน ไฉไลกว่าเดิมแน่นอน
 
สิ่งที่แพลนไว้สำหรับไดโดมอนคือปรับปรุงอาหารเล็กๆ น้อยๆ กับปรับร้านบางส่วนให้แมตช์กับอาหารที่เราเพิ่มเข้าไป เช่น มีซูชิเพิ่มขึ้น และช่วงนี้อยู่ในขั้นที่ 2 คือทยอยปิดร้านสาขาเพื่อปรับปรุงใหม่ ปรับโฉมของไดโดมอนเป็นโฉมใหม่เลย ในขณะเดียวกันก็มีไดโดมอนที่เราเปิดใหม่ที่เป็นโฉมใหม่ที่เราอยากได้พอดี เพราะมีห้างใหม่ติดต่อเข้ามา เราก็เลยเปิดไดโดมอนโฉมใหม่อันนี้ด้วย ซึ่งก็ถือว่าดี เช่นที่เซ็นทรัลเชียงราย และล่าสุดที่เพิ่งเปิดก็คือเซ็นทรัลสุราษฎร์ฯ ก็มีทั้งฮอทพอทและไดโดมอน

ในส่วนของตัวไดโดมอนที่ซื้อมา ประมาณ 20 กว่าสาขาก็ค่อยๆ ทยอยปิดตามแผนก็คือประมาณไตรมาส 2-3 ปีหน้าตามแพลนที่จะเริ่มทยอยปิดและปรับปรุงใหม่ได้ทุกสาขา ซึ่งคาดว่าประมาณไตรมาส 4 ปี 2556 เราจะได้เห็นไดโดมอนในรูปแบบใหม่และครบ และอาจจะเริ่มทำกิจกรรมทางการตลาด
 
ฝากถึงผู้อ่าน
 
ถ้าจะทำอะไรมันจะต้องไม่เริ่มจากคำว่าทำไม่ได้ ถ้าจะทำอะไรหรือคุณได้รับมอบหมายมา อย่าเริ่มคิดจากคำว่าทำไม่ได้ เพราะถ้าเริ่มคิดจากคำว่าทำไม่ได้ มันจะมีเหตุผล 108 ที่จะมาซัพพอร์ตว่าทำไม่ได้เพราะ 1 2 3 4 แต่ถ้าเราคิดว่าฉันจะทำให้ได้ ถ้าคุณตั้งธงว่าจะทำให้ได้เดี๋ยวคุณจะหาวิธีทำให้มันได้ เราไม่ได้บอกว่า คำว่าทำได้ของเราทำได้ดีหรือไม่ดีนะ อาจจะทำมาแล้วไม่ได้ดีก็ได้ แต่เราตั้งใจแล้วว่าเราจะทำให้ได้ มันเป็นความท้าทายตัวเรา

สำหรับทำงานพอเราไปตั้งธงแบบนั้นแล้วเราจะมีความมุ่งมั่นความพยายาม ความทุ่มเท มันจะต้องตามมาเพราะเราจะคิดว่าเราจะต้องทำให้ได้ ถ้าถามว่าเป็นคติพจน์ของตัวเองในการทำธุรกิจหรือไม่ เราก็คิดอย่างนั้นมาตลอด ปัญหาอะไรเข้ามามันต้องแก้ไขได้มันไม่มีปัญหาอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แก้ได้ดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ต้องค่อยๆ แก้ไปทีละเรื่อง

อ้างอิงจาก ไทยรัฐ
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
157,522
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,645
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,650
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,807
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,558
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
55,082
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด