ดาวเด่นแฟรนไชส์    มีวนา กาแฟรักษ์ป่า ขยายธุรกิจ ผ่านโมเดล Social Franchise
7.4K
19 กรกฎาคม 2556
มีวนา กาแฟรักษ์ป่า ขยายธุรกิจ ผ่านโมเดล Social Franchise




 
"มีวนา" กาแฟอินทรีย์รักษาป่า ผลิตภัณฑ์ชั้นยอดจากกิจการเพื่อสังคม“กรีนเนท เอสอี” ถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการอนุรักษ์ป่าไม้ และสร้างเงินให้กับชุมชน
 
เรามาที่นี่ตามคำเชื้อเชิญของ “ธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด กิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ ซึ่งก่อตั้งโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท ผู้บุกเบิกส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรมมานานกว่า 20 ปี พวกเขาคือเจ้าของรางวัลแผนธุรกิจเพื่อสังคมดีเด่น จากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) และรางวัล Best Quality Award จากการประกวดกาแฟคุณภาพ ในงาน Thailand Coffee, Tea and Drink 2013 ที่ผ่านมา
 
ความโดดเด่นของแผนธุรกิจและชัดเจนในประเด็นเพื่อสังคม ทำให้ กรีนเนท เอสอี ได้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการสังคม ที่ขึ้นเวทีเสวนา "กิจการเพื่อสังคมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร" ในงาน "สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่" ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
 
“นี่คือกาแฟอินทรีย์รักษาป่า”เจ้าบ้านแนะนำผลิตภัณฑ์แบรนด์ “มีวนา” (Mivana) ก่อนขยายความเป็นภาษาอังกฤษว่า “Organic forest coffee” ซึ่งอาจแปลกหูไปบ้างจากชนิดของกาแฟ “พื้นๆ” ที่ใครหลายคนเคยคุ้น ที่น่าสนใจไปกว่าชื่อ คือกาแฟที่ว่านี้ถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการอนุรักษ์ป่าไม้ และสร้างเงินให้กับชุมชนได้อย่างเยี่ยมยอด
 
“เวลาเพียง 50 ปี พื้นที่ป่าไม้ในเมืองไทยลดลงกว่าครึ่ง จากประมาณ 171 ล้านไร่ ในปี 2504 คงเหลืออยู่เพียง 73 ล้านไร่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน และวิถีเกษตรแผนใหม่ยังใช้สารเคมีรุนแรง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ”
 
นั่นคือที่มาของการศึกษาหาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา จนพบว่ากาแฟซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชั้นยอด เป็นพืชที่ต้องการร่มเงาสูง และสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ใต้ร่มไม้ นั่นทำให้สามารถเพาะปลูกในป่าได้โดยที่ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า และกาแฟอินทรีย์ที่ปลูกในป่านี้ยังให้คุณภาพชนิดดีเลิศ มีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่ากาแฟกลางแจ้ง ซึ่งผู้ผลิตกระหน่ำใช้สารเคมีด้วยซ้ำ
 
พวกเขาจึงได้เริ่ม โครงการส่งเสริมกาแฟอินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืนขึ้น ที่ชุมชนต้นนํ้าแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2553 ก่อนขยายพื้นที่ไปยังป่าต้นนํ้าแม่กรณ์ ตำบลวาวี จังหวัด เชียงราย รวมเกษตรกรทั้งหมด 11 กลุ่ม มีสมาชิกกว่า 300 ครอบครัว นับถึงวันนี้รวมพื้นที่ส่งเสริมกาแฟอินทรีย์รักษาป่าไปแล้ว 9,000 ไร่ โดยตั้งเป้าจะขยายเป็น 15,000 ไร่ ภายใน 5 ปี และ 20,000 ไร่ ภายใน 10 ปี
 
 
 
วิธีการทำงานของทีมกาแฟรักษาป่า เริ่มจากให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกัน จากนั้นก็จัดอบรมการทำกาแฟอินทรีย์ อบรมและจัดทำระบบมาตรฐานกาแฟอินทรีย์ จนไปสู่การแปรรูป การบริหาร และการจัดการธุรกิจชุมชน มีระบบการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) ที่ช่วยให้เกษตรกรได้รับราคาที่เป็นธรรมในการขายผลผลิต และยังมีเงินพรีเมี่ยม (Fair Trade Premium) ที่มีข้อกำหนดในการคืนสู่ชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การสร้างห้องสมุด สนามเด็กเล่น การพัฒนากลุ่มหรือชุมชน เหล่านี้เป็นต้น
 
จากนั้นก็ได้ก่อตั้ง “บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด” ขึ้น ทำหน้าที่ส่งเสริม พัฒนา การผลิต และจัดจำหน่ายผลผลิตจากโครงการฯ เพื่อให้เป็นกิจการที่ทำงานได้อย่างคล่องตัว ก้าวหน้า และยั่งยืน กว่ารูปแบบมูลนิธิหรือสหกรณ์อย่างในอดีต ตลอดการทำงานไม่มีอะไรง่าย และสิ่งที่ท้าทายพวกเขา คือทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมา มีคุณภาพเป็นต่อคู่แข่งในตลาดได้ เป็นสินค้าที่คนเลือกซื้อ เพราะอยากซื้อ เพราะพอใจในคุณภาพ ไม่ใช่จำใจซื้อเพราะ “ความสงสาร”
 
“สินค้าที่นำเสนอออกมานั้น ต้องมีจุดแข็งและผ่านการคิดนอกกรอบมาแล้ว และต้องเป็นของที่มีแก่น มีคุณภาพจริงๆ เราต้องตั้งเป้าในแง่นี้ให้ได้ เพราะสมมติถ้าของออกมาไม่ดี ไม่นานมันก็ตาย ดังนั้นเริ่มต้นเลยคือผลิตภัณฑ์ต้องดี เสร็จแล้วสิ่งที่ตามมาคือ แผนธุรกิจ แผนการตลาด ก็ต้องดีด้วย ต้องเอาวิธีการในโลกทุนนิยม มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจของเรา”
 
เขาบอกผลึกความคิดก่อนขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมน้องใหม่ ที่มาของความพยายามหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ส่งเกษตรกรไปเรียนรู้การปลูกกาแฟในต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสังคมที่มีอยู่ทั่วโลก ไปเรียนรู้ทักษะในการประกอบธุรกิจจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนสร้างคนในองค์กรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านกาแฟ แม้วันนี้ กรีนเนท เอสอี จะมีพนักงาน เพียง 11 คน แต่ก็รวบรวมเอาคนเก่งๆ ไว้รอบด้าน ทั้งนักเรียนนอก นักชิมกาแฟ และนักคั่วกาแฟที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมาจากสถาบันระดับโลกก็มีรวมตัวอยู่ที่นี่
 
มีผลิตภัณฑ์ดี มีจุดแข็งและจุดต่างในตลาด ซึ่งเขาย้ำว่า ไม่ใช่แค่ “กาแฟอินทรีย์ และ fair trade” แค่สองจุดแข็งนี้ “ไม่พอ” เพราะตลาดโลก มีผู้ผลิตกาแฟอินทรีย์ และ fair trade เจ้าใหญ่อยู่ที่ อเมริกาใต้ และแอฟริกา ดังนั้น “มีวนา” จึงต้องโดดไปไกลกว่าจุดนั้น นั่นคือ การเป็นกาแฟที่แก้ปัญหาของเกษตรกร และเป็นการรักษาป่าไม้ไปพร้อมกัน
 
บนสโลแกน Better taste, Better life, Better earth จากนั้นก็ต้องวางแผนด้านการตลาด เพื่อให้สินค้าที่ดี และแตกต่าง สามารถ “ขายได้จริง”
 
นอกจากความพยายามในการผลักดันสินค้าเข้าสู่ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) การส่งไปยังโรงแรม ร้านกาแฟรายใหญ่ พวกเขายังมองถึงการทำ “ร้านกาแฟสดมีวนา” เป็นช่องทางในการขยายธุรกิจ ผ่านโมเดล “Social Franchise”
 
 
 
“ตอนนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่อยากเปิดธุรกิจของตัวเองกันเยอะมาก และธุรกิจนั้นก็ต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมด้วย เราจึงศึกษาโมเดลแฟรนไชส์ร้านกาแฟ เพื่อดึงผู้สนใจมาร่วมกับเรา ที่คิดไว้คือจะไม่มีค่าแฟรนไชส์อะไร ขอแค่สั่งสินค้าจากเราเท่านั้น โดยจะเริ่มจากการทำร้านกาแฟต้นแบบ พัฒนาระบบ การบริหารจัดการที่ดี เพื่อนำเสนอให้กับผู้สนใจต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จได้ภายใน 5 เดือนจากนี้” เขาบอกแผนธุรกิจกาแฟรักษ์ป่า พร้อมประกาศหา “คนใจดี” มาร่วมระดมทุนเพื่อซื้อผลผลิตให้ได้เพิ่มขึ้นในปีนี้
 
เริ่มต้นจากกาแฟ แต่ กรีนเนท เอสอี ก็ไม่ได้มีแค่กาแฟ คนเล่าเรื่องบอกเราว่า
 
“กรีนเนท เอสอี เน้นผลผลิตจากการอนุรักษ์และรักษาป่า”
 
นั่นทำให้ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากที่จะเดินออกจากป่า สู่มือผู้คนในสังคม อย่างเช่น สมุนไพรจากป่า ที่จะพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจำหน่ายให้ผู้สนใจต่อไป
 
เป็นพลพรรคสินค้าจากป่า ที่จะมาตอบโจทย์ “เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม” ให้กับพวกเราอย่างแท้จริง
 
ชีวิตหลังเกษียณ โชคชะตานำพา “ธีรสิทธิ์” เข้าสู่ถนนผู้ประกอบการเพื่อสังคมแบบเต็มตัว เขาบอกว่า ตลอดการทำงาน มีความประทับใจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการได้ลงไปทำงานใกล้ชิดกับชุมชน แล้วได้รับความห่วงใย ดูแล จากชาวบ้านในชุมชน ที่เขาบอกว่า “มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้เสมอ” ก็ยิ่งสร้างความปลาบปลื้มให้
 
เช่นเดียวกับเมื่อเผชิญกับปัญหาใหญ่ ถูกพ่อค้าคนกลางจากทั้งในและต่างประเทศ พยายามมากว้านซื้อผลผลิตจากชาวบ้าน ทั้งที่พวกเขาส่งเสริมและพัฒนากันมาเป็นปีๆ แต่ชาวบ้านกลับปฏิเสธเงินก้อนโตและยังยืนยันที่จะส่งผลผลิตให้กับพวกเขา สำหรับ “ธีรสิทธิ์” นั่นคือสิ่งสะท้อนความสำเร็จของการทำงานตลอดที่ผ่านมาแล้ว
 
ในวันนี้จึงมี “กาแฟอินทรีย์รักษาป่า” ที่ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ทั้งมีผลผลิตดีๆ ให้ผู้คนในสังคม ได้ดื่มด่ำความสุข ไปจากกาแฟแก้วนั้น

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
157,522
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,645
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,650
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,807
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,558
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
55,082
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด