ดาวเด่นแฟรนไชส์    Business Concept ต่อชะตาคาร์แคร์ไทยหลัง AEC
7.3K
2 พฤศจิกายน 2556
Business Concept ต่อชะตาคาร์แคร์ไทยหลัง AEC



 
แรงงานหาย รายได้หด ต้นทุนพุ่งกระฉูด ขณะที่แบรนด์เพื่อนบ้านก็เตรียมกระโจนเข้าใส่ตลาดไทยนี่คือโจทย์หนักของคาร์แคร์พันธุ์ไทยหลังเปิดม่าน AEC
 
ไม่ง่ายที่จะสู้รบในตลาดคาร์แคร์ในอีก 2 ปี ข้างหน้า แม้แต่ชะตากรรมที่เอสเอ็มอีต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ก็เรียกว่าสาหัสสากรรจ์ และส่งสัญญาณชัดว่า “ไม่มีอะไรหวานหมู” ในตลาดคนรักรถ ตั้งแต่ ต้นทุนค่าแรงพุ่งจากนโยบาย 300 บาท ปัญหาแรงงานขาดตลาด ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดึงกำลังซื้อคนลดลง และการเพิ่มขึ้นของคาร์แคร์ทันสมัย ยิ่งทำให้คาร์แคร์บ้านๆ ไม่มีแบรนด์ ไม่มีระบบ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60% ในตลาด จะสู้กันแบบ “หืดขึ้นคอ”
 
แต่โจทย์หนักไม่ได้หยุดเล่นงานผู้ประกอบการเพียงแค่นี้ เมื่ออีกสองปีข้างหน้า หลังประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เปิดกว้างขึ้น สนามธุรกิจคาร์แคร์ไทยจะมีแบรนด์เพื่อนบ้าน เข้ามาปักธงแย่งชิงพื้นที่เค้ก เหยียบซ้ำรายเล็กให้เจ็บหนักเข้าไปอีก และเชื่อว่ามีผู้ประกอบการเกือบครึ่งที่ต้องอำลาวงการนี้
 
“นับจากนี้อีกสองปี แบรนด์คาร์แคร์ในเออีซีที่มีความชำนาญ มีระบบ ทันสมัย และมีจำนวนสาขามากกว่าร้อยสาขา อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะเข้ามาปักธงในประเทศไทย การทำธุรกิจในไทยนับจากนี้จะยากขึ้น ถึงตอนนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ธุรกิจคาร์แคร์ที่ไม่มีแบรนด์ ไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีของบ้านเรา จะปิดตัวไปไม่น้อยกว่า 40%”
 
“กฤษฏ์ กาญจนบัตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์แลค (ไทย-เยอรมัน) จำกัด เจ้าของแบรนด์ “โมลีแคร์” ธุรกิจแฟรนไชส์คาร์แคร์สายพันธุ์ไทย ประกาศฟันธง! ชะตากรรมคาร์แคร์ไทยในอีกสองปีข้างหน้า จากการเข้ามาของธุรกิจคาร์แคร์เพื่อนบ้าน ซึ่งมีเครือข่าย มีระบบ มีรูปแบบธุรกิจที่ดี ที่สำคัญมีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ผลักดันเอสเอ็มอีบ้านเขาได้เติบใหญ่ใน “เออีซี”
 
“อย่างมาเลเซียเขามีงบสนับสนุนเอสเอ็มอี ปีละไม่ต่ำกว่าพันล้านเหรียญริงกิต ผลักดันให้เอสเอ็มอีแข็งแรงในประเทศแล้วมาสู่เออีซีได้ เขาไม่กลัว ขณะที่ของไทยเรามีงบไม่ถึงสิบล้านบาท ปีหนึ่งสนับสนุนเอสเอ็มอีได้แค่ 30 ราย ซึ่งใน 30 รายนั้น เกิดขึ้นแค่ 5 รายก็นับว่าเก่งแล้ว ดังนั้นการจะไปบุกต่างประเทศสำหรับเราเป็นเรื่องยากมาก”
  
เงินน้อย ทุนสนับสนุนไม่มี ขณะที่ประเทศอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องแฟรนไชส์ที่เข้มแข็งมาก ใครจะไปแจ้งเกิดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ตรงข้ามกับบ้านเรา ที่ไม่มีเกราะป้องกันเหล่านี้ไว้ นั่นทำให้ผู้คนมากมายแห่มาทำแฟรนไชส์ในไทย คนไม่มีความรู้ก็หลงเข้าไปลงทุนซื้อแฟรนไชส์ สุดท้ายก็ล้มเป็นโดมิโน เพราะบริษัทแม่ปิดกิจการหนีไปแล้ว
 
กลัวเจ็บไม่พอ ตามต่อด้วยวิกฤติแรงงานขาด โดยเฉพาะแรงงานหลักของไทยอย่าง “พม่า” ซึ่งเขาบอกว่าทั้งที่ขึ้นทะเบียนและแรงงานแอบแฝงน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ซึ่งหลังเปิดเออีซี เมื่อประเทศพม่าบรรยากาศสดใสขึ้น และการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เถ้าแก่ไทยเตรียมใจได้เลยว่า แรงงานพม่าจะแพคกระเป๋ากลับประเทศไปกว่าครึ่ง จะรักกันแค่ไหน ก็ซื้อใจไว้ไม่ได้ นั่นเองที่จะทำให้ธุรกิจคาร์แคร์ต้องกลับมาใช้เครื่องจักร ใช้ระบบออโตเมติกมากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานคน
 
วิกฤติแรงงานเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้รายเล็ก ทุนน้อย สายป่านสั้น “อยู่ไม่ได้ ไปต่อไม่ไหว”
 
การเข้ามาของแบรนด์นอก ไม่ได้มีเพียงแค่รูปแบบของสาขาแฟรนไชส์ เขาบอกว่าหลังน้ำท่วมปี 2554 มีผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สำหรับคาร์แคร์ เข้ามาเปิดตัวในประเทศไทยมากขึ้น มีโชว์รูมขนาดใหญ่ ลงทุนหลักสิบล้านบาท ภาพลักษณ์ใหญ่โต แต่เขากลับบอกว่าแบบนี้เรียก “เฟค” เพราะข้างในกลวงเปล่า จากการขาดระบบบริหารจัดการที่ดี สำหรับเขาใครที่คิดแค่ว่ามีสินค้าหนึ่งตัว แล้วเชื่อว่านี่จะเป็นจุดสำเร็จของธุรกิจคาร์แคร์ ขอบอกว่า “คิดผิดมหันต์”
 
“ต่อให้คุณมีหูฉลามที่ดีที่สุดในโลก แต่ถ้าคนปรุงน้ำซุปหูฉลามทำไม่เป็น ทานไม่ได้ มันก็จบ” เขาสะท้อนความคิด และนั่นคือคำตอบที่ว่าทำไมกุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจคาร์แคร์ จึงไม่ได้อยู่ที่ “แบรนด์” หรือการมีสินค้าที่เพอร์เฟคที่สุด แต่คืออาวุธที่ชื่อ “Business Concept” แนวคิดธุรกิจและการมีรูปแบบธุรกิจที่ดี คือ หัวใจของธุรกิจนี้
 
“เอสเอ็มอีบ้านเราไม่ได้ขายเพียงแค่แบรนด์ แต่เราขาย Business Concept ก็เหมือนกับเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ทำไมถึงประสบความสำเร็จ และขยายเอาๆ เขาไม่ได้เน้นเรื่องโพรดักส์นะ คุณจะเอาอะไรไปขายก็ขายได้หมด แต่ที่คนยอมซื้อ โดยที่ไม่สนใจเรื่องราคาด้วยซ้ำ เพราะเขาพอใจกับความมีมาตรฐาน และรู้สึกว่า สะดวกสบาย”
 
 
 
 
นั่นคือเหตุผลที่เขาย้ำว่า ธุรกิจคาร์แคร์ต้องสร้างรูปแบบธุรกิจที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำกับธุรกิจตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา โดยการ “คิดนอกกรอบ” มาพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดี มีมาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง เน้นเพิ่มมูลค่าในการให้บริการ เพื่อให้แม้ลูกค้ามาใช้น้อยแต่จ่ายเงินมากขึ้น ด้วยบริการที่พิเศษขึ้น มีการฝึกอบรม ให้ความรู้กับแฟรนไชซี มีโมเดลสร้างคนรับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน อย่างเช่น การพัฒนาหลักสูตรสอนคนพม่าในเวอร์ชั่นภาษาพม่าขนานแท้ เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา
 
พร้อมวางแผนรับความเสี่ยงหลังพม่าถอนทัพ โดยการกลับมาพัฒนาแรงงานกัมพูชาและลาว ทดแทนแรงงานพม่าในอนาคต
 
การปรับตัวที่รวดเร็วนี้เองที่ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น มีรายได้รวมอยู่ที่หลักร้อยล้านบาทต่อปี สามารถเป็นแฟรนไชส์คาร์แคร์ไทยรายแรก ที่ออกไปสยายปีกในเออีซีได้สำเร็จ โดยปัจจุบันแฟรนไชส์ “โมลีแคร์” มีสาขาในไทย 54 สาขา ขณะที่อาเซียน มีในลาว 3 สาขา ใน พม่า และกัมพูชา อย่างละ 1 สาขา พร้อมแผนที่จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยเขาบอกว่า แม้ไปได้ยาก แต่ประเทศเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพ
 
ขณะที่ตั้งเป้าว่าจะขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเป็น 100 ภายใน 2 ปีนี้ โดยยังเชื่อมั่นว่า จุดแข็งที่สร้างไว้จะทำให้สามารถต่อกรกับคู่แข่งได้สบาย ในยุคที่หลายรายอาจต้อง “ชีช้ำ”
 
สำหรับภาพรวมธุรกิจคาร์แคร์ในประเทศไทย เขาบอกว่ามีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันล้านบาท มีผู้เล่นที่เป็นรายใหญ่อยู่ประมาณ 4-5 ราย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มตลาด คือ กลุ่มเอ ที่จับตลาดบนเป็น Niche Market ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 10% และมีอยู่ไม่มากนัก ส่วนกลุ่มบี กินส่วนแบ่งตลาด 40% ขณะที่เหลือเป็นกลุ่มซี ซึ่งมีจำนวนเยอะที่สุด แต่มักอยู่ได้ไม่นาน โดยกลุ่มนี้เองที่เชื่อว่าจะปิดตัวไปถึง 40% ในอีกสองปีข้างหน้า
 
“เออีซี ก้าวเข้ามาแล้ว นับวันยิ่งเร็วขึ้น เหมือนกับหายใจรดต้นคอ วันนี้เอสเอ็มอีเรา ถ้ายังอยู่ในบ้านแบบสบายๆ ผมว่า เหนื่อยแน่นอน..ไม่รอดแน่ๆ
 
วันนี้มันเป็นโอกาสของเราที่จะไปอยู่ในตลาดต่างประเทศ เพราะประเทศไทยเราเก่ง เอสเอ็มอีเราเก่ง แต่เราไม่กล้าออกไป ส่วนหนึ่งเพราะขาดเงินทุน ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ดังนั้นสำคัญที่สุดคือ เอกชนต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เรามีให้ได้ และปรับตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้”
 
เขาฝากข้อคิด ในฐานะคนที่อยู่ในสนาม และจับตาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกบ้านมาอย่างใกล้ชิด เพื่อฉุดมือเอสเอ็มอีไทย ให้กลับมายืนหยัดได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่านี้ในอนาคต

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
157,522
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,645
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,650
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,810
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,558
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
55,082
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด