ดาวเด่นแฟรนไชส์    ปัง จ๊ะ จ๋า โกอินเตอร์ สยายปีกในกลุ่มอินโดจีน
8.6K
20 พฤศจิกายน 2556
ปัง จ๊ะ จ๋า โกอินเตอร์ สยายปีกในกลุ่มอินโดจีน

 
ผ่านไปถนนสรงประภา แถวๆ โรงเรียนสีกัน เขตดอนเมือง เห็นป้ายขนมปังใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม “ปัง จ๊ะ จ๋า” มีผู้คนแวะเวียนจอดรถซื้ออยู่ตลอดตั้งแต่เช้าจนค่ำ เลยลองแวะไปซื้อบ้าง ชิ้นละ 20 บาท มีหลากหลายไส้ให้เลือก ตัดสินใจไม่ถูก สุดท้ายเลือกไส้มะพร้าว ปรากฏว่ารสชาติถูกปากคนในบ้าน ดังนั้น จึงโทรนัดหมายกับเจ้าของร้าน ซึ่งโชคดีวันนั้น “คุณกัญญาชญา พรหมมา” เธอแวะเวียนมาที่ร้านสาขานี้พอดี
 
โตเร็ว แค่ 2 ปี เปิดในไทย 6 สาขา
 
คุณกัญญาชญา เล่าความเป็นมาของธุรกิจเบเกอรี่ว่า พอเรียนจบระดับปริญญาตรี คณะบริหารจัดการทั่วไป เอกบริหารงานบุคคล ที่สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไปทำงานอยู่ที่ซิตี้แบงก์ 5 ปี แล้วหันมาทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่างก่อนจะจบที่การทำขนมปัง ไม่ว่าจะเป็นขายเสื้อผ้า ขายส่งน้ำหอม ซึ่งก็เวิร์กเหมือนกัน แต่เสื้อผ้าซื้อมาขายไปก็ต้องพึ่งคนอื่น หรือขายน้ำหอมก็ต้องผ่านบริษัทอีกที แล้วหาตัวแทนจำหน่าย เหมือนกับยืมจมูกคนอื่นหายใจอยู่ เมื่อปี 2554 มีโอกาสได้ศึกษาธุรกิจขนมปัง เห็นว่าขนมปังเป็นอาหารการกินที่ผู้คนนิยมกินกันอยู่แล้ว เป็นของกินที่กินกันได้ง่ายๆ
 
แม้ขนมปังของเธอจะมีคู่แข่งจำนวนมาก และส่วนใหญ่สินค้าก็จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่คุณกัญญาชญาก็ไม่หวั่น พร้อมตอบว่า “แค่หน้าตามันเหมือนเพราะมันเป็นบล็อกแบบเดียวกันเท่านั้นเอง แต่เรื่องรสชาติต่างกันเลย กินแล้วจะรู้ว่าของที่นี่ ซึ่งไม่เหมือนของคนอื่น ลูกค้าที่เคยกิน ปัง จ๊ะ จ๋า จะรู้ว่าอันไหนของที่ร้าน เพราะ ปัง จ๊ะ จ๋า จะมีจุดเด่นคือเนื้อขนมปัง เพราะเรามีสูตรเฉพาะของเราเอง ไม่ได้ทำตามสูตรที่สอนกันทั่วไป เรามีทั้งหมด 22 ไส้ ไส้ที่ขายดีที่สุดคือไส้มะพร้าวน้ำหอม และพวกฝอยทอง”
 
ตอนนี้ในบ้านเรามี 6 สาขาแล้ว ไม่รวมที่กรุงพนมเปญ และที่ย่างกุ้ง โดยที่พนมเปญใช้ชื่อ “ ASUN BAKERY”   สาเหตุที่ไม่ใช้ชื่อ ปัง จ๊ะ จ๋า เหมือนที่เมืองไทยนั้น คุณกัญญาชญา อธิบายว่า ที่กัมพูชาใช้ภาษาอังกฤษกัน ถ้าใช้ชื่อจ๊ะจ๋า คนพนมเปญคงไม่เข้าใจ จึงตั้งชื่อ ASUN BAKERYเพราะตัวเองชอบ และดูในเรื่องโหราศาสตร์มาด้วย


 
ทีมงานปังจ๊ะจ๋า ซึ่งล้วนเป็นเครือญาติของคุณกัญญาชญา พรหมมา(ที่3 จากซ้าย)
 
สำหรับ 6 สาขาของ ปัง จ๊ะ จ๋า นั้น สาขาแรกตั้งอยู่ที่ นครปฐม เพราะเป็นจังหวัดที่ตัวเองคุ้นเคยและเจ้าตัวเคยเปิดร้านขายเสื้อผ้ามาก่อน ด้วยความคุ้นเคยเลยลองตั้งร้านที่นั่นดูก่อน จากนั้นจึงเข้ากรุงเทพฯ เปิดร้านที่แถวเสนานิคม 1 แล้วมาที่ดอนเมือง ถนนสรงประภา ตามด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นบ้านเกิดของเธอเอง สาขาไอทีสแควร์ ล่าสุดเป็นสาขาติวานนท์แยกสามัคคี
 
รับประกันสดใหม่ทุกวัน
 
ใน 6 สาขานี้ ใช้สูตรเดียวกันหมด และมีผู้จัดการทั้งหมด สาขาที่ขายดีที่สุดตอนนี้คือที่สาขาไอทีสแควร์ เพราะอยู่ในห้าง ผู้คนหมุนเวียนเยอะ ส่วนที่ดอนเมือง ถนนสรงประภาก็ขายดีเช่นกัน เพราะอยู่ติดถนนใหญ่ จอดรถง่าย ซึ่งแต่ละสาขาจะผลิตไส้กันเอง โดยผู้จัดการร้านต้องดูว่าช่วงนี้ไส้อะไรขายดี
 
สำหรับไส้ยอดนิยมตลอดกาลก็คือ มะพร้าว เนยสด สังขยา และมาแรงสุดๆ ตอนนี้ ซึ่งคุณกัญญาชญา บอกว่า ต้องยกให้ไส้พิซซ่า ส่วนไส้มะพร้าวก็ได้วัตถุดิบมาจากสวนมะพร้าวที่อัมพวาที่เดียว แม้จะมีบางช่วงแพงถึงลูกละ 20-30 บาทก็ตาม สาเหตุที่ไม่ใช้ของสวนที่อื่นเพราะเนื้อมะพร้าวไม่หอมและไม่อร่อยเหมือนสวนที่อัมพวา


 
ในเรื่องราคานั้น อย่างที่บอกไปแต่ต้น ปัง จ๊ะ จ๋า ขายชิ้นละ 20 บาท  ซึ่งราคาก็พอๆ กับเจ้าอื่นๆ
 
“ถ้าเทียบเรื่องปริมาณ ปัง จ๊ะ จ๋า ก็พอๆ กับคนอื่น แต่ถ้าเรื่องคุณภาพไม่ด้อยกว่าคนอื่น สามารถรับประกันได้ว่าขนมปังของร้านใหม่ สด ทุกวัน ไม่มีขนมปังค้าง แต่ละสาขาจะผลิตวันละ 500-600 ก้อน โดยมีคนทำ 5 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไร เพราะทุกอย่างจะเข้าเป็นสูตรหมดเลย ตรวจเช็กได้ ซึ่งดิฉันเองจะเป็นคนเลือกวัตถุดิบเข้ามาเองทั้งหมด ส่วนเรื่องคุมการผลิตก็เป็นหน้าที่ของผู้จัดการแต่ละร้าน”
 
ว่าไปแล้วธุรกิจเบเกอรี่ในบ้านเราก็มีคู่แข่งหลายเจ้า แต่น่าสังเกตว่า ปัง จ๊ะ จ๋า ของคุณกัญญาชญา ถือได้ว่าเติบโตเร็วมาก เพราะในช่วงแค่ 2 ปี มีทั้งสาขาในเมืองไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน
 
“ถ้าเทียบกับคนอื่นที่มีเกิด มีดับ รายวัน ของเราเรียกว่า โตเร็ว เพราะเราอยู่ได้ด้วยคุณภาพและราคา อย่างเนยสดเราก็คัดเลือกคุณภาพของเนยที่นำมาใช้นะ เช็กได้เลย ทุกอย่างมีแบรนด์ มี อย. รองรับ เพราะเรากินเอง ลูกค้าก็กินด้วย ไม่มีสารกันบูดแน่นอน ทำสดๆ อยู่ได้กี่วันก็ต้องแล้วแต่ไส้ ถ้าเป็นไส้มะพร้าวได้แค่วันเดียว ซึ่งเราต้องบอกลูกค้าเลย แต่ถ้าพวกไส้วานิลลา บลูเบอร์รี่ อยู่ได้ 3 วัน ถ้าไว้นอกตู้เย็น แต่ถ้าเข้าตู้เย็นจะอยู่ได้ 5 วัน อย่างไส้เผือก จะต้มแล้วมากวน สังขยาก็กวนสด แต่ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะอยู่ได้เป็นเดือน ทางร้านใช้กลุ่มแม่บ้านทำไส้ให้ แต่ถ้าไปต่างประเทศ จะส่งไส้พวกนี้ไปในลักษณะแช่แข็งไปเลย”

ในพนมเปญลงทุนเอง 100%
 
ในแง่การขยายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น คุณกัญญาชญา บอกอย่างภาคภูมิใจว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
 
“ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะไม่เช่นนั้นจะไปเปิดต่างประเทศไม่ได้ ลูกค้าที่เลือกเราไปเปิดต่างประเทศ เชื่อว่า เขาต้องสรรหามาหลายที่แล้ว แต่สุดท้ายเจาะจงมาที่เรา อย่างการไปเปิดร้านที่กัมพูชานั้น เริ่มต้นมาจากมีคนกัมพูชา เขามากินที่สาขาดอนเมือง แล้วเขาชอบ ติดใจ เลยชวนเราไปลงทุน แต่ด้วยความที่เราไม่ชอบหุ้นกับใคร จึงขอลงทุนเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนกัมพูชาคิดเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่ อย่างไรก็ตาม เรื่องวัตถุดิบก็เอาไปจากไทยหมดเลย เปิดไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา”
 
ในการเปิดร้านที่กัมพูชานั้น มีแค่ 8 ไส้ มี ฝอยทอง เนยสด สังขยา เผือก ผลไม้รวม ฯลฯ สาเหตุที่มีแค่ 8 ไส้นั้น คุณกัญญาชญา แจกแจงว่า เพราะว่าลูกค้าชาวกัมพูชายังไม่รู้จักขนมปังชนิดนี้มาก่อนเลย ด้วยพื้นฐานของชาวกัมพูชาจะคุ้นเคยกับขนมปังแบบฝรั่งเศส แข็งๆ ยังไม่เคยเจอขนมปังเนื้อนิ่มแบบนี้ และด้วยความที่ภาษายังไม่เก่ง การที่จะให้อธิบาย 20 กว่าไส้เป็นเรื่องยากมาก อย่าง ฝอยทอง คนกัมพูชาก็ไม่รู้จัก กว่าจะสื่อสารกันเข้าใจก็ต้องใช้เวลา


 
 
ร้านที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดโอลิมปิก อันอยู่ในย่านธุรกิจนั้น เปิดขายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเธอขายก้อนละ 1 เหรียญยูเอสดอลลาร์ เป็นเงินไทยตก 30 บาท เงินกัมพูชา 4,000 เรียล
 
ในราคาที่ว่านี้ คุณกัญญาชญา ระบุว่า ถือเป็นขนมปังที่ราคาแพง ถ้าเทียบกับขนมปังที่นั่น ซึ่งเป็นขนมปังแบบไม่มีไส้ เป็นขนมปังเปล่า แข็งๆ ลูกค้าของเธอนั้นส่วนใหญ่เป็นคนกัมพูชารุ่นใหม่ อายุไม่ถึง 30 แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่าจะติดกับวัฒนธรรมเดิมๆ ยังไม่คุ้นกับขนมปังรูปแบบนี้ ซึ่งคนกัมพูชามักชอบซื้อไส้สังขยา ฝอยทอง เพราะว่าไม่เคยกินมาก่อน พอกินแล้วก็ชอบ แต่ถ้าเป็นพวก แฮม ชีส ไส้กรอก ที่เป็นแบบฝรั่ง จะไม่ชอบ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกดีเหมือนกัน
 
ในการบริหารจัดการร้านที่กรุงพนมเปญนั้น เจ้าของ ปัง จ๊ะ จ๋า ให้ข้อมูลว่า เริ่มแรกได้ไปลงมือทำเองพร้อมกับลูกน้องคนไทย 3 คนไปๆ มาๆ ไม่ได้ส่งคนไปอยู่ประจำ แล้วรับสมัครคนที่พนมเปญมาฝึกงาน ปัจจุบันมีพนักงานคนกัมพูชาสามารถทำเองได้แล้ว ทุกวันนี้ จะไปเช็กคุณภาพ ตรวจสต๊อก ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง โดยปัจจุบันมียอดขายวันละประมาณ 400-500 ก้อน เพราะถือว่ายังเป็นของใหม่


 
ขายแฟรนไชส์เปิดที่ย่างกุ้ง
 
ส่วนที่จะไปเปิดร้านที่ย่างกุ้งนั้น เพราะเธอเจอลูกค้าสาขาเสนานิคม 1 แล้วสนใจอยากจะเปิด เลยตัดสินใจขายแฟรนไชส์ให้ไปเลย ใช้ชื่อ “ปัง จ๊ะ จ๋า” โดยมีเงื่อนไขว่าทางคุณกัญญาชญาต้องเดินทางตรวจสอบคุณภาพเอง ซึ่งที่พม่านั้นเจ้าตัวบอก ไม่น่าห่วง ทางร้านมีประสบการณ์จากกรุงพนมเปญแล้ว แต่คงยังต้องขนวัตถุดิบจากไทยไปหมดในช่วงแรกเลย หากซื้อวัตถุดิบที่นั่นได้ก็จะซื้อ
 
ในการทำไส้นั้น คุณกัญญาชญา แจงว่า ที่พม่ามีผลไม้สดเยอะ เช่น มะม่วง องุ่น แอปเปิ้ล คิดว่าจะทำเป็นไส้สดๆ เหมือนกล้วยกวน คิดว่า วัตถุดิบที่พม่าจะถูก และหาง่าย เหมือนทุกวันนี้วัตถุดิบบางอย่างเป็นผลไม้ ที่ใช้ก็นำเข้ามาจากจีน เวียดนาม
 
นอกจากที่กรุงพนมเปญและที่ย่างกุ้งแล้วก็ยังมีลูกค้าต่างชาติสนใจจะให้ไปเปิดอีกหลายที่ อาทิ โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ลูกค้ามาชิมแล้วชอบ ซึ่งรายนี้อยู่ระหว่างการเจรจากัน เห็นการเติบโตของ ปัง จ๊ะ จ๋า แล้ว เชื่อว่าคงมีผู้สนใจจำนวนไม่น้อยที่อยากจะซื้อแฟรนไชส์ ประเด็นนี้ คุณกัญญาชญา ตอบว่า “ยังไม่ได้คิดว่าจะเน้นขายแฟรนไชส์ในตอนนี้ ส่วนในอนาคตคิดว่าต้องรอให้เราแข็งกว่านี้ก่อน”
 
ถามถึงการขยายสาขาในปีนี้ที่เมืองไทย คุณกัญญาชญายอมรับว่า ปัจจุบันค่อนข้างยาก เนื่องจากมีคู่แข่งเยอะแต่ในปีนี้ก็วางแผนจะเปิดอีก 1 สาขา อยู่ระหว่างการหาสถานที่ ขณะที่ในต่างประเทศน่าสนใจกว่าเพราะได้ประสบการณ์ใหม่และยังได้เที่ยวไปในตัวด้วย

 
เน้นคุณภาพ-ยอดขาย
 
คุณกัญญาชญาเปรียบเทียบความแตกต่างในการทำธุรกิจในประเทศกับต่างประเทศว่า “ความยากง่ายในเรื่องของงานไม่ต่างกัน แต่ว่าเรื่องภาษา เรื่องวัฒนธรรม ต้องไปศึกษา อย่างเมืองไทยเราโตที่นี่เราก็จะรู้ว่าเป็นยังไง แต่ที่นั่นเราไม่เคยไปก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไง เพราะฉะนั้น ต้องไปศึกษาวัฒนธรรม พฤติกรรมของคนที่นั่น”
 
เธอแจกแจงถึงหลักการทำธุรกิจว่า “เน้นคุณภาพอย่างเดียวเลย ดิฉันถือว่าถ้าเรากินได้ คนอื่นก็กินได้ ไม่ใช่ว่าเน้นขายอย่างเดียวแล้วเราไม่กิน ก็ไม่ใช่ ที่ผ่านมาการขายในราคาก้อนละ 20 บาท คือ ต้องเน้นยอดขายจริงๆ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะตอนนี้วัตถุดิบแพงทุกอย่างเลย แต่ก็ยังไม่คิดจะขึ้นราคา คือได้น้อยหน่อย แต่ต้องขยันมากขึ้น จุดขายคือ ถ้าขายปริมาณเยอะก็จะมาเป็นถัวเฉลี่ยได้”
 
นับเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่อีกคนที่มีอนาคตสดใส เชื่อว่าอีกไม่นานเราๆ ท่านๆ คงจะได้เห็นสาขาของร้าน ปัง จ๊ะ จ๋า ในกลุ่มอาเซียนอีกหลายประเทศ
 
หากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจในธุรกิจ หรือต้องการคำแนะนำ สามารถติดต่อปรึกษาได้ที่ คุณกัญญาชญา พรหมมา ได้ที่ E-mail : kanyachaya@hotmail.com หรือ โทรศัพท์ (087) 773-0643

อ้างอิงจาก มติชน เส้นทางเศรษฐี
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
157,362
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,578
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,521
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,718
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,530
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
54,901
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด