ดาวเด่นแฟรนไชส์    เปิดแผนปั้มเงิน FSMART
2.0K
9 ตุลาคม 2560
เปิดแผนปั้มเงิน FSMART

 
( ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ )

“ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส” คิดยุทธศาสตร์หาตังค์ใหม่ เพื่อเป้าหมายรายได้ 2 พันล้านบาท ภายในปี 60 “สมชัย สูงสว่าง”

“พลิกขาดทุนตั้งแต่ปีแรก (2555) ที่นั่งทำงาน”

คือ ผลงานชิ้นโบว์แดงของ “สอง-สมชัย สูงสว่าง” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART ผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการชำระเงินออนไลน์ ผ่านเครื่องรับชาระเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “บุญเติม” เจ้าของสโลแกน “เติมง่าย เติมไว ใช้บุญเติม ตู้เติมเงินออนไลน์”

พูดเช่นนี้คงไม่ผิด เพราะตั้งแต่ FSMART ก่อตั้งเมื่อ 3 ธ.ค.2551 บริษัทต้องประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด โดยในปี 2553 มีผลขาดทุน 6.69 ล้านบาท ปี 2554 ขาดทุน 24.99 ล้านบาท หลังตู้เติมเงิน “บุญเติม” ที่ขณะนั้นมีอยู่ประมาณ 10,000 ตู้ มีระบบจัดการที่ผิดพลาด ทำให้มีตู้เติมเงินเสียหายรอการซ่อมแซมมากกว่า 1,000 ตู้ นอกจากนั้นพันธมิตรบางรายที่ซื้อแฟรนไชส์ตู้เติมเงินไปแล้วไม่ยอมส่งเงินที่อยู่ในตู้เติมเงินคืนบริษัท ขณะที่บางรายขายตู้เติมเงินให้กับคนอื่นโดยไม่แจ้งบริษัท
 
เดือน 7 ปี 2555 “สอง” ตบปากรับเก้าอี้เอ็มดี FSMART จาก “เต่า-“พงษ์ชัย อมตานนท์” หุ้นใหญ่ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น หรือ FORTH (FORTH ถือหุ้นอันดับหนึ่งใน FSMART สัดส่วน 45.75 เปอร์เซ็นต์) ที่เป็นคนลงมาสัมภาษณ์ด้วยตนเอง โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีปัญหาใหญ่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ “ชายวัย 48 ปี” ก็สามารถปลดล็อคเรื่องคาราคาซังนี้ได้ไม่ยากเย็น โดยเขาสามารถสร้างกำไรได้ในปี 2555 จำนวน 6.63 ล้านบาท ก่อนจะขยับมาเป็น 87.27 ล้านบาท ในปี 2556
 
ตลอดระยะเวลาปีกว่า “สมชัย” ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับโครงสร้างธุรกิจและระบบการบริหารตู้เติมเงิน “บุญเติม” ใหม่ยกแผง วิธีการ คือ หารายได้เสริมอื่นๆให้กับตู้เติมเงิน เนื่องจากตู้เติมเงินมีต้นทุนต่อตู้ประมาณ 30,000 บาท แต่บริษัทขายแฟรนไชส์ให้กับพันธมิตรเพียงตู้ละ 5,000 บาทเท่านั้น รายได้เสริมที่ว่า คือ การให้บริการซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ตในตู้เติมเงิน หรือให้บริการรับชำระเงินแบบอัตโนมัติสำหรับร้านค้า เป็นต้น

นอกจากนั้นบริษัทยังดำเนินการเรียกคืนตู้เติมเงินที่มีปัญหาจากพันธมิตร เพื่อนำกลับมาซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด โดยในปี 2555 บริษัทมีตู้เติมเงิน 23,167 ตู้ แบ่งเป็นตู้เติมเงินออนไลน์ 19,282 ล้านบาท,ตู้เติมเงินที่หยุดให้บริการ (Out of Service) ประมาณ 1,857 ตู้ และตู้ที่รอซ่อมแซ่ม,ตู้สูญหาย,ตู้อยู่ในคลังสินค้า เป็นต้น ประมาณ 2,028 ตู้

ในปี 2556 บริษัทมีตู้เติมเงิน 32,692 ตู้ แบ่งเป็นตู้เติมเงินออนไลน์ 29,874 ตู้ ,ตู้เติมเงินที่หยุดให้บริการ (Out of Service) ประมาณ 1,315 ตู้ และตู้ที่รอซ่อมแซ่ม,ตู้สูญหาย,ตู้อยู่ในคลังสินค้า เป็นต้น ประมาณ 1,503 ตู้


( ภาพจาก www.facebook.com/Boonterm.Forth )
 
ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีตู้เติมเงิน 37,311 ตู้ แบ่งเป็นตู้เติมเงินออนไลน์ 33,987 ตู้ ,ตู้เติมเงินที่หยุดให้บริการ (Out of Service) ประมาณ 1,148 ตู้ และตู้ที่รอซ่อมแซ่ม,ตู้สูญหาย,ตู้อยู่ในคลังสินค้า เป็นต้น ประมาณ 2,176 ตู้

“สมชัย สูงสว่าง” ถือโอกาสอัพเดทแผนธุรกิจในปี 2558 และในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2558-2560) ที่เพิ่งได้ข้อสรุปสดๆร้อนๆให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟังว่า ผู้นำช่องทางการชำระเงินที่มีเครือข่ายครอบคลุมมากที่สุดในประเทศไทย คือ เป้าหมายการทำธุรกิจของ FSMART จากนี้เราจะเร่งขยายเครือข่ายแบบเต็มสูบ (พูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง)

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักๆ 2 ขา คือ 1.รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการเติมเงินโทรศัพท์ระบบเติมเงินล่วงหน้าและบริการออนไลน์อื่นๆ 2.รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ ซึ่งในปี 2556 มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 36.36 และ 58.37 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนรายได้จากการการขายสินค้า รายได้จากค่าธรรมเนียมแรกเข้า และรายได้อื่นๆ ถือเป็นงานที่ทำเงินเข้าบริษัทเพียงเล็กน้อยประมาณ 1.53-1.45-2.92 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป โครงสร้างรายได้ของบริษัทจะมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไป โดยเราจะมี “รายได้ 5 ขา” โดย 3 ขาแรกจะตอบโจทย์เรื่องการชำระเงิน ซึ่งสัดส่วนรายได้ในปีหน้าของ 3 ขาแรกจะยืนระดับ 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราตั้งเป้าหมายยอดเติมเงินไว้ประมาณ 14,000 ล้านบาท จากนั้นจะเติบโตปีละ 30 เปอร์เซ็นต์

รายได้ 3 ขา ประกอบด้วย 1.รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการเติมเงินโทรศัพท์ระบบเติมเงินล่วงหน้า 2.รายได้ค่าธรรมเนียมจากการบริการอื่นๆ เช่น เกมส์ออนไลน์,บัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ,ดูดวง และขายประกันชีวิตของบมจ.ทูนประกันภัย หรือ TIPCL ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Tune Ins Holdings Berhad หรือ TIH เป็นต้น 3.รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น ซึ่งเราจะให้บริการผ่าน “ตู้บุญเติมเคาน์เตอร์เซอร์วิส”

ส่วน “รายได้ 2 ขาสุดท้าย” ถือเป็นงานใหม่ของเรา นั่นคือ 1.รายได้จากการขายโฆษณา 2.รายได้จากการขายสินค้าอื่นๆ และการหารายได้เพิ่มเติมจากระบบ Call Center ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งรายได้จากการขายโฆษณาในปีหน้าจะมีสัดส่วนประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรายได้จากการสินค้าอื่นๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างวางแผนงานอาจยังไม่สามารถกำหนดสัดส่วนได้

“สอง” แจกแจงรายละเอียดของแต่ละธุรกิจว่า “รายได้ 2 ขาแรก” จะเติบโตได้จากการเพิ่มจำนวนตู้เติมเงิน ล่าสุดเราวางแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (25558-2560) ไว้ว่า สิ้นปี 2558 ต้องมีตู้เติมเงิน 55,000 ตู้ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มี 40,000 ตู้ จากนั้นจะขยับเป็น 70,000 ตู้ ในปี 2559 และเพิ่มเป็น 85,000 ตู้ ในปี 2560 หากพิจารณาจากตัวเลขดังกล่าวเท่ากับว่า เราจะมีตู้เติมเงินเพิ่มขึ้นปีละ 15,000 ตู้
 
ส่วน “รายได้ขาที่ 3” จะขยายตัวได้ ด้วยการขายแฟรนไชส์ตู้บุญเติมเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยในปี 2558 ต้องมียอดขายตู้ 6,000 ตู้ ล่าสุดบริษัทเตรียมจับมือกับ บมจ.ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น หรือ TWZ เพื่อนำตู้บุญเติมเคาน์เตอร์เซอร์วิสไปตั้งตามเคาน์เตอร์สของTWZ และเหล่าพันธมิตรของ TWZ ที่มีอยู่ประมาณ 1,000 จุด คาดว่า TWZ และพันธมิตรจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2558

หากตู้บุญเติมเคาน์เตอร์เซอร์วิสสามารถตอบยุทธศาสตร์ของบริษัทได้ ภายในปี 2560 อาจมีตู้ดังกล่าวเพิ่มเป็นประมาณ 30,000 ตู้ ส่วนใหญ่ตู้บุญเติมเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะเน้นเจาะตลาดต่างจังหวัด โดยจะนำไปตั้งตามที่ทำการผู้ใหญ่,กำนัน สหกรณ์ และร้านขายของชำ เป็นต้น ส่วนตลาดในกรุงเทพฯอาจนำไปตั้งตามคอนโดมิเนียม และอพาร์ทเม้นท์ เดี๋ยวเราคงจะส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยกับนิติบุคคลตามตึกสูงต่างๆ

เขา เล่าว่า ตามสถิติลูกค้ามักนิยมเติมเงินครั้งละ 20 บาท มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งช่วงนี้ลูกค้าจะเติมในอัตราดังกล่าวถี่มากๆ นั่นเป็นเพราะต้องการลุ้นรับรางวัลใหญ่ เช่น iPhone6 และมอเตอร์ไซด์ฮอนด้า ซูมเมอร์เอ็กซ์ เป็นต้น


( ภาพจาก www.facebook.com/Boonterm.Forth )

เชื่อหรือไม่!! ตั้งแต่บริษัทจัดโปรโมชั่นดังกล่าวมีลูกค้ากดลุ้นรางวัลหน้าตู้เติมเงินเพิ่มขึ้นจาก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็น 60 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนคนใช้บริการเติมเงินทั่วประเทศ 1 ล้านคน ใจจริงอยากเห็นลูกค้ากดมากถึง “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ซึ่งเราคงต้องหาสินค้าเจ๋งๆมาร่วมรายการ ตอนนี้กำลังคิดอยู่คงได้เห็นต้นปีหน้า

ปัจจุบันบริษัทขายสินค้าผ่านตัวแทนประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 27 เปอร์เซ็นต์เป็นการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนอาจเปลี่ยนเป็น 80:20 หรือ 70:30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ตู้เติมเงินของเราจะอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ 24 เปอร์เซ็นต์ กรุงเทพและปริมณฑล 24 เปอร์เซ็นต์ ภาคตะวันออก 12 เปอร์เซ็นต์ ภาคเหนือ 12 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลาง 17 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ 11 เปอร์เซ็นต์

ส่วน “รายได้ขาที่ 4” ล่าสุดบริษัทเพิ่งจับมือกับ บมจ.แพลน บี มีเดีย หรือ PLANB เพื่อดำเนินธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม สัญญาเป็นลักษณะปีต่อปี เราคงจะมี “แพลน บี มีเดีย” เป็นเพื่อนเพียงคนเดียวในการร่วมกันทำธุรกิจโฆษณา หากทุกอย่างเดินไปได้ด้วยดี บริษัทคาดว่าต้นปี 2558 คงจะนำคอนเทนต์มาติดตั้งในตู้เติมเงินของบริษัท

สำหรับ “รายได้ขาที่ 5” เราจะขอดูยอดการสั่งซื้อกล่อง SET TOP BOX ทีวีดิจิทัลของ FORTH ที่ดำเนินการผ่าน Call Center ของ FSMART ก่อน คาดว่าจะเห็นทิศทางของธุรกิจนี้ได้ภายในสิ้นปี 2557 เท่าที่ตรวจสอบพบว่า มีลูกค้าสนใจสอบถามเรื่องกล่องทีวีดิจิทัลวันละประมาณ 50 สาย ซึ่งทาง FORTH ไม่ได้โฆษณาเรื่องกล่องทีวีดิจิทัลเลย เขายื่นรูปกล่อง SET TOP BOX ให้ดู

ตอนนี้บริษัทกำลังคิดจะทำตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการร่วมกับตู้จำหน่ายเครื่องดื่มกระป๋องอัตโนมัติ (Vending Machine) ล่าสุดอยู่ระหว่างขั้นทดลอง คาดว่าสิ้นปี 2557 อาจขายแฟรนไชส์ได้ประมาณ 20 ตู้ ซึ่งสินค้าประเภทนี้สามารถเจาะตลาดกรุงเทพฯได้ เบื้องต้นคงทำผ่านตัวแทนที่มีกว่า 200 รายแข็งแรงมากขึ้น

“จริงๆ คณะกรรมการคิด “รายได้ขาที่ 6” ไว้แล้ว แต่คงยังทำตอนนี้ไม่ได้ แผนดังกล่าวคือ การปล่อยเงินกู้ในจำนวนไม่มากทำงานคล้ายสินเชื่อเงินสด-เงินกู้ อิออน แต่เบื้องต้นคงทำในลักษณะโอนเงินผ่านตู้เติมเงินของเราก่อน คาดว่าไตรมาส 2 ปี 2558 คงได้เห็น”

“สมชัย” พูดทิ้งท้ายว่า หากแผนงานเดินได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ภายในปี 2560 บริษัทอาจมีรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนในแง่ของกำไรสุทธิแน่นอนตัวเลขต้องเปลี่ยนแปลงไป เขาแอบบอกตัวเลขที่คณะกรรมการอยากเห็นภายใน 3 ปีข้างหน้าให้ฟังบอกได้คำเดียว “ว้าว”!! ตัวเลขที่ผมกระซิบบอกคุณ มั่นใจว่า “ทำได้แน่” เพราะเรามีแผนจะจับมือกับพันธมิตรอีกหลายราย ล่าสุดกำลังคุยบริษัทจดทะเบียน 2 ราย “ใหญ่ไม่ใช่เล่น”

เราอยากปรับปรุงตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้น คณะกรรมการต้องการเห็นตัวเลขขยายตัวปีละ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 24.82 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในแง่ของตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ตู้เติมเงิน ในอนาคตอาจยืนระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 40 เปอร์เซ็นต์

“นักลงทุนต้องรีบมาศึกษาเรา หากไม่อยากตกขบวน” เขาโปรยคำหวาน

อ้างอิงจาก  กรุงเทพธุรกิจ
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
156,876
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,390
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,179
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,426
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,427
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
54,590
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด