ดาวเด่นแฟรนไชส์    โชคดี ติ่มซำ Come Back!
5.0K
28 พฤษภาคม 2559
โชคดี ติ่มซำ Come Back!
 

เปลี่ยนเจ้าของใหม่มาได้1ปีวันนี้ “โชคดี ติ่มซำ” กลับมาพร้อมเกมรบบทใหม่ เลิกคอนเซอร์เวทีฟ โละจุดอ่อนที่ไม่ทำกำไร เพื่อให้“สตรอง”ได้ในยุคนี้
 
การตัดสินใจเข้าเทคโอเวอร์ “โชคดี ติ่มซำ” ร้านแฟรนไชส์ติ่มซำชื่อดัง โดย กลุ่มบริษัท เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปีก่อน ทำให้ธุรกิจที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 ของ “ธีรภพ ศิรประภาธรรม” อดีตผู้ก่อตั้ง โชคดี ติ่มซำ ผู้เปิดตำนานร้านติ่มซำในกรุงเทพ ต้องตกไปอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นรายใหม่
 
ก่อนข่าวคราวการเปลี่ยนมือเจ้าของ เราได้เห็นความพยายามปรับเกมรุกหลายๆ อย่าง ตั้งแต่เริ่มขายแฟรนไชส์เมื่อปี 2546 พร้อมเปิดบริการ 24 ชั่วโมง มีการตั้งครัวกลางเป็นจุดกระจายสินค้า ลองขยายสาขาไปพม่า ตั้งบริษัท โชคดี อินเตอร์ฟู้ดส์ มาผลิตสินค้า ป้อนร้านสาขาและแฟรนไชส์ บริษัท โชคดี เรสเตอรองค์ มาบริหารร้านอาหารและระบบแฟรนไชส์ ส่วน โชคดี อินเตอร์เนชั่นแนลแฟรนไชส์ ก็ดูแลการขยายแฟรนไชส์โดยเฉพาะ มีสาขาเมื่อปีก่อนรวม 24 สาขา
 
ทุกอย่างเหมือนจะดี แต่ทว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ บริษัทเริ่มประสบปัญหาทางด้านการเงิน แฟรนไชส์เริ่มอยู่ไม่ได้ และส่ออาการ “เปิดๆ ปิดๆ”  ขณะที่สาขาในพม่าก็ปิดตัวเองไปเรียบร้อย
 
“ทิศทางทุกอย่างเหมือนจะดีหมด แต่อาจติดปัญหาในเรื่องของกระแสเงินสด (Cash Flow) แล้วก็กำไรที่แฟรนไชซีเขาได้ไม่เพียงพอ ก็เลยมาแล้วก็ไปๆ เป็นอย่างนี้ตลอด”
 
 
คำเปิดเผยจาก “กฤษฎา ตันเปาว์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริช เรสเตอรองค์ จำกัด มือขวาของผู้ถือหุ้นรายใหม่ “จิรศักดิ์ จิยะจันทน์” ประธานบริหาร บมจ. เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของแบรนด์  “โชคดี ติ่มซำ” และ “โคขุนโพนยางคำ” คนปัจจุบัน ที่บอกกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek เมื่อวันก่อน
 
แม้อยู่ในทีมเจ้าของคนใหม่ แต่ กฤษฎา ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลของ โชคดี ติ่มซำ เขาคือ แฟรนไชซี ร้านโชคดี ติ่มซำ สาขาสาธุประดิษฐ์ 35 ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2553 และทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทอยู่กลายๆ ในฐานะอาจารย์นักการตลาด ที่ควบตำแหน่ง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ร่วมอยู่ด้วย
 
ถ้าถามว่าใครรู้ปัญหา “โชคดี ติ่มซำ” ดีที่สุด ก็คงมีเขาเป็นหนึ่งในนั้น
 
มีปัญหา แล้วทำไม เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น ถึงยังสนใจ และเลือกเป็นบริษัทแรกในการเข้าเทคโอเวอร์เพื่อขยายสู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของทางกลุ่ม หลังที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่ที่ลงทุนคือ ด้านการศึกษา (เจ้าของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น) อสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงิน (เวิลด์ เครดิตฟองซิเอร์) ไม่มีแม้แต่ที่เกี่ยวกับอาหาร
 
 “ธุรกิจนี้มีเสน่ห์ ที่นี่ทำติ่มซำแบบตั้งใจ ไม่ได้ขายของที่ไร้คุณภาพให้ลูกค้า ข้อดีของติ่มซำ คือคู่แข่งน้อย สามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในชุมชนได้ และจากที่ทำวิจัยร่วมกันมา พบว่า โชคดี ติ่มซำ เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมาก แต่ประเด็นคือการเข้าถึงลูกค้ายังน้อย สินค้าขาดความหลากหลาย เพราะเจ้าของเดิมเขาไม่อยากปรับเปลี่ยนอะไรทั้งนั้น ขณะที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น แต่เขา ‘คอนเซอร์เวทีฟ’ มาก”
 
 
ทว่าธุรกิจไม่มีอะไรจีรัง ถ้ายังทำแบบเดิมอยู่ ก็รอแต่วันล้มหายตายจากก็เท่านั้น เมื่อวันนี้การแข่งขันรุนแรง และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ขณะรายได้จากแฟรนไชส์ไม่ขยับ แต่ที่ขยับเอาๆ ก็คือ “ต้นทุน” ทั้งค่าของ ค่าแรง ค่าคน สุดท้ายธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ และนั่นคือเหตุผลที่เขาบอกว่า ต้องเข้ามา “แก้เกม” ด้วยหมากรบกระดานใหม่ พร้อมกับเป้าหมายที่ท้าทายเอามากๆ คือ มี 100 สาขา ในปี 2560 เพื่อนำบริษัท ริช เรสเตอรองค์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI
 
สูตรแก้เกมที่พวกเขาทำ เริ่มตั้งแต่ ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อให้คนทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้น เลิกให้หมดประเภท “ต่างคนต่างทำ” เพราะวันนี้องค์กรต้องทำงานเป็นทีมเท่านั้น โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วย เช่น สามารถประชุมผ่านวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ได้ รวมถึงเตรียมเปิดครัวกลางใหม่ในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะใหญ่กว่าเดิมถึง 8 เท่า! และไม่ได้รองรับแค่ โชคดี ติ่มซำ แต่เตรียมขยายสู่ ธุรกิจอาหารแช่แข็ง เบเกอรี่ และน้ำผลไม้ ในอนาคตด้วย 
 
จากแฟรนไชซีที่อยู่ลำบาก ทำธุรกิจมีกำไรแสนยากเย็น พวกเขากลับมาใส่ใจมากขึ้น โดยส่งทีมงานเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนเมนูอาหารเมนูไหนที่ขายไม่ดี ขายไม่ออก ก็ได้เวลา “กำจัดจุดอ่อน” โละทิ้งให้หมด แล้วเพิ่มเมนูใหม่ๆ เข้าไปแทนที่ โดยที่ให้โจทย์ R&D ไปครีเอทเมนูใหม่ๆ จากอดีตปีหนึ่งคลอดแค่ 2-3 เมนู ก็เปลี่ยนเป็นเมนูใหม่ทุกไตรมาส
 
“เดิมเขาไม่ทำ เมนูเท่าไหน ก็เท่านั้น คอนเซอร์เวทีฟมาก แต่เราไม่ ขายไม่ดีก็ตัดออก แล้วใส่ของใหม่เข้ามาแทน แต่ครั้งแรกทุกคนก็ช็อกนะ เพราะผมตัดทิ้งไปเกือบ 20 เมนู”
 
เขาบอกการเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับว่าแรกๆ ก็มีแฟรนไชส์ที่ไม่เข้าใจอยู่บ้าง แต่ก็ต้องเอาสถิติ เอาตัวเลขที่ขายได้ในแต่ละเดือนโชว์ให้เห็นกับตา พอได้เห็นจริงก็เลยหมดเสียงค้าน
 
ทำธุรกิจคอนเซอร์เวทีฟ การเปลี่ยนแปลงอะไรคงเป็นไปได้ยาก แต่กับเผ่าพันธุ์ “แอคเกรสซีฟ” อย่างพวกเขา มีหรือจะทำไม่ได้ แม้แต่แป้งซาลาเปาที่เจ้าของเดิมภูมิใจนักหนาว่า สูตรเด็ดไม่เหมือนใคร แต่สำหรับเจ้าของใหม่ พวกเขาเห็นจุดอ่อนที่ยังสู้หลายเจ้าไม่ได้ เรียกว่า ทานที่ร้านอร่อย แต่ลองซื้อกลับบ้านหน่อยเถอะ “แข็งกระด๊ก”   
 
 
“คิดเหรอว่าพวกผมไม่กล้าเปลี่ยน..ไม่ใช่เราแน่นอน” เขาบอก
 
เวลาเดียวกันก็ปรับระบบการทำงาน ระบบการเทรนนิ่ง และจัดหนักเรื่องกลยุทธ์ด้านการตลาด จะไม่ทำแบบกั๊กๆ พอเป็นพิธีเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว ส่วนเกมรุกแฟรนไชส์ นอกจากขยายผ่านช่องทางเดิมๆ ที่คาดว่าถึงสิ้นปีน่าจะขยายเพิ่มได้อีกสัก 20 สาขา

พวกเขายังเปิดโมเดลใหม่เตรียมรับการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” โดยการขยายผ่านปั้ม ปตท. และร้านจิฟฟี่ ซึ่งจะเริ่มขายในปั้มสาขาแรกเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะเป็นร้านที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full service) หรือคีออสนั้น ก็ขึ้นกับขนาดพื้นที่ที่ได้ แต่อย่างไรต้องอยู่ตรง “ทำเลทอง” ของปั้ม คือ ช่วงระหว่างห้องน้ำ กับเซเว่น หรือร้านจิฟฟี่ เขาว่า ถ้าพื้นที่อื่นไม่ต้องไปลง เพราะ “ยอดขาย” จะห่างกันมากจนไม่น่าลงทุน
 
ส่วนรูปแบบแฟรนไชส์ สเกลเล็กค่าแฟรนไชส์ประมาณ 3 แสนบาท ถ้าเป็นร้านเต็มรูปแบบก็ 6.55 แสนบาท ส่วนการลงทุนร้านก็อยู่ระหว่าง 1-2.5 ล้านบาทโดยประมาณ
 
การหมุนเกียร์จากร้านติ่มซำชุมชน มาสู่ร้านในปั้มน้ำมัน เพราะเขาว่า วิถีชีวิตคนเปลี่ยน ปั้มน้ำมันกลายเป็นจุดพัก ที่คนมาใช้ชีวิต มาช้อป มากิน ไม่ใช่แค่เติมน้ำมันเท่านั้น และนั่นคือเหตุผลที่ต้องหาพาร์ทเนอร์ที่สตรองขึ้นอย่างปตท. มาเติมเต็มจุดแข็งในเรื่องนี้ พร้อมเปลี่ยนจากร้าน “Fast casual restaurant” ที่ผสานระหว่างการเป็นร้านอาหารกับการขายอาหารจานด่วน มาสู่ “Fast moving restaurant” ร้านอาหารที่ให้บริการอย่างรวดเร็ว โดยจะเติมอาหารจานเดียว และติ่มซำเรียง ที่พร้อมนึ่งแล้วเสิร์ฟได้ทันที เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คน “เร่งด่วน” ในยุคนี้
 
หลังจากขยายในประเทศได้ตามเป้า ก็จะขยับแผนสู่เออีซีให้มากขึ้น โดยล่าสุด โชคดี ติ่มซำ ก็ไปเปิดสาขาที่ลาว โดยใช้ชื่อ “โชคดี ติ่มซำ โกล์ด” ซึ่งได้มาสเตอร์แฟรนไชส์สาขาในเวียงจันทร์ เป็นลูกชายคนเล็กของเจ้าของเบียร์ลาว
 
 
โชคดี ติ่มซำ เวอร์ชั่นใหม่ คือเอสเอ็มอีที่กล้าเปลี่ยน ปรับตัวเร็ว และใช้การวิจัยมากำหนดเกมธุรกิจ เพราะประสบการณ์ในอดีต หรือแม้แต่ตำราเล่มไหนๆ ก็ล้วนเป็นทฤษฎีที่ผ่านมาแล้วทั้งนั้น ฉะนั้นการวิจัยจึงสำคัญมากสำหรับพวกเขา โดย กฤษฎา ย้ำว่า มีศาสตร์ๆ เดียวในโลก ที่มองอนาคตและทำนายอนาคตได้ ก็คือ วิจัย เท่านั้น
 
“ในโลกนี้ไม่มีอะไรจีรัง มันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตต์ เปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ทุกวันนี้ความหลากหลายของคนเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นธุรกิจร้านอาหารถ้าคิดว่า ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ บอกได้เลยว่าอยู่ยากแน่  เพราะทุกอย่างต้องมีไซเคิล ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนก็ตายไปเท่านั้นเอง” เขาสรุปในตอนท้าย
 
การกลับมาของ “โชคดี ติ่มซำ” ยังมีอะไรให้ตื่นเต้นอีกมาก ซึ่งสูตรรบกระดานใหม่ จะสำเร็จได้แค่ไหน ก็ต้องจับตาดูพวกเขานับจากนี้
 
Key to success
 
สูตรรบใหม่ “โชคดี ติ่มซำ”
  • ปรับโครงสร้างองค์กร เชื่อมการทำงานเป็นทีม
  • สร้างครัวกลาง ขยายโอกาสธุรกิจใหม่
  • กำจัดจุดอ่อน เมนูไม่เวิร์คโละทิ้ง
  • ออกเมนูใหม่ทุกไตรมาส สร้างความหลากหลาย
  • ขยายแฟรนไชส์ จากร้านชุมชน สู่ร้านในปั้ม
  • ปรับตัวเร็ว ใช้วิจัยมากำหนดเกมธุรกิจ
อ้างอิงจาก  bangkokbiznews.com

ขอบคุณรูปภาพจาก  facebook.com/ChokdeeDimsum
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
156,874
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,390
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,179
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,425
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,427
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
54,590
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด