ดาวเด่นแฟรนไชส์    ยุทธศาสตร์ 'ดั๊บเบิ้ล เอ' ไม่ได้หยุดแค่ 'A4'
11K
24 ธันวาคม 2551
ยุทธศาสตร์ 'ดั๊บเบิ้ล เอ' ไม่ได้หยุดแค่ 'A4'


 
 
ยุทธศาสตร์ 'ดั๊บเบิ้ล เอ' รุกอีกขั้น ล่าสุดแตกไลน์แฟรนไชส์ใหม่ดั๊บเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่ หลังดั๊บเบิ้ล เอ ก๊อปปี้ เซ็นเตอร์ฉลุย ชูจุดขายตรึม มุ่งปัดฝุ่นร้านเก่าเพิ่มศักยภาพแข่งขันระยะยาว ใช้ออนไลน์ช่วยบริหารจัดการ ผนึกร้านต้นแบบแฟรนไชส์ทันสมัย 4 รายกรุยทางโตเล็งเป้าปีนี้ร้านค้าร่วมโครงการ 20 ราย กูรูแฟรนไชส์ชี้เทรนด์รายใหม่เกิดยาก ระบุร้านสเตชั่นเนอรี่โตได้ต้องมีมากกว่าเครื่องเขียน 
 
ชาญวิทย์ จารุสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-การตลาด บริษัท แอ็ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจดั๊บเบิ้ล เอ ก๊อปปี้ เซ็นเตอร์ ตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันมีร้านถึง 1,000 สาขา และการออกผลิตภัณฑ์เครื่องเขียน(stationary) ภายใต้แบรนด์ดั๊บเบิ้ล เอกว่า 500 แบบเมื่อสองปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ดั๊บเบิ้ล เอได้เห็นศักยภาพการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนที่เพิ่มขึ้น และมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยในกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา และคนทำงานรุ่นใหม่ซึ่งเริ่มมีพฤติกรรมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ ทันสมัย ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความคล่องตัว สอดคล้องกับรูปแบบชีวิตประจำวัน รวมถึงต้องการให้เครื่องเขียนเป็นสินค้าที่สะดวกหาซื้อได้ง่ายขึ้น 
 
บริษัทฯ จึงเกิดความคิดเข้าร่วมกับร้านขายเขียนเครื่องที่มีอยู่เดิมทั้งหมด 4 ร้านค้าเพื่อแตกไลน์เป็น "ดั๊บเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่" โดยปรับปรุงร้านที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นร้านเครื่องเขียนแนวโมเดิร์น ซึ่งการพัฒนารูปแบบร้านเครื่องเขียนในครั้งนี้จะช่วย ให้ร้านค้าเหล่านี้สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ในระยะยาว เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ 
 
"จริงๆ ผมว่าร้านเดิมเป็นร้านที่มีศักยภาพแต่ต้องปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัย ผมคิดว่าอาศัยประสบการณ์ของร้านค้าเดิมที่มีอยู่มาปรับปรุงเล็กน้อย จะทำให้เราเป็นร้านที่แข็งแกร่งสามารถสู้ได้ ผมมั่นใจว่าแบรนด์ดั๊บเบิ้ล เอ ที่เราสร้างมา 5 ปีจะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร้านเหล่านี้ได้" 
 
โดยการรวมตัวจะทำให้ร้านค้าเหล่านี้ได้ประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น ประสิทธิภาพในการสั่งซื้อสินค้าภายในร้าน การประหยัดต้นทุน อุปกรณ์ต่างๆ การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ร่วมกัน รวมถึงศักยภาพในการส่งเสริมการตลาด เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่ จะเป็นร้านที่ถูกออกแบบ มาให้สามารถรองรับลูกค้าได้ครบวงจรทุกกลุ่ม ถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการธุรกิจร้านเครื่องเขียน โดยบริษัทฯ จะมีระบบการจัดการภายในร้านด้วยโปรแกรม คอมพิวเตอร์แบบออนไลน์เพื่อจัดการด้านสต๊อกสินค้า คำนวณต้นทุน กำไรได้อย่างลงตัว และใช้ระบบบาร์โค้ดกับสินค้าทุกประเภท ทำให้ผู้บริหารหรือเจ้าของร้านประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้น 
 
 
 
"ที่ต้องมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาคำนวณกำไรขาดทุน การสต๊อกสินค้าเขาจะสามารถรู้ได้ว่าสินค้าเหลือเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาร้านเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ในการขาย แต่ผมว่าต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุกอย่างต้องปรับตัว ซึ่งเขาได้ผลประโยชน์จากตรงนี้ เพราะร้านขายเครื่องเขียนสมัยก่อนเก็บของหลังร้านไม่ดี บางที่เราไปถามว่าของชิ้นนี้อยู่ไหนเขายังหาไม่เจอเลย" 
 
สำหรับสินค้าที่จะมาจำหน่ายใน ดั๊บเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่ ทางบริษัทฯ ร่วมกับผู้จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียนรายใหญ่หลายแบรนด์ให้เข้ามาเป็น พันธมิตรเพื่อให้ภายในร้านเป็นแหล่งรวมสินค้าเครื่องเขียนที่มีคุณภาพทุกประเภท และมีสินค้าให้เลือกไม่น้อยกว่า 3,000 SKUs 50 หมวดหมู่สินค้า และจะเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นต่อไป เช่น เครื่องเขียน บริษัทฯ ต้องมีการพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ทุกเดือนๆ ละ 5 สินค้า 
 
ส่วนปริมาณสินค้าที่จะวางจำหน่ายในร้านต้องเป็นสินค้าของดั๊บเบิ้ล เอ กับ สินค้าของพันธมิตร โดยบริษัทฯ ได้ประมาณการยอดขายของร้านที่เข้าร่วมโครงการต้องมียอดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยร้านที่จะร่วมโครงการดั๊บเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่ได้จะต้องเป็นร้านที่จำหน่ายเครื่องเขียนอยู่แล้ว ต้องมีทัศนคติตรงกับทางบริษัทฯ และต้องมีปริมาณการขายสินค้าตามที่บริษัทฯ กำหนด นอกจากนี้ยังต้องรับเงื่อนไขของบริษัทฯ ได้ ส่วนการที่จะตั้งเป็นร้านใหม่ขณะนี้ทางบริษัทฯ ยังไม่มีโครงการที่จะจัดทำ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ 
 
สำหรับการสนับสนุนบริษัทฯจะเป็นผู้ตกแต่งร้าน ให้กับร้านที่ร่วมโครงการไม่ว่าจะเป็นป้ายหน้าร้าน เคาน์เตอร์ มุมผลิตภัณฑ์ ดั๊บเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่ รวมทั้งเครื่องแบบพนักงาน ซึ่งร้านจะมีทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ Premium ต้องมีปริมาณการสั่งกระดาษ 4,000 รีม และสินค้าเครื่องเขียน 20,000 บาทต่อเดือนโดยบริษัทฯ จะเข้ามาตกแต่งร้านภายนอกและภายในเต็มรูปแบบ ส่วน Standard A มีการสั่งกระดาษ 1,000 รีม เครื่องเขียน 20,000 บาทต่อเดือน, Standard B สั่งกระดาษ 1,000 รีม สเตชั่นเนอรี่ 10,000 บาทต่อเดือน และEconomy สั่งกระดาษ 500 รีม สินค้าเครื่องเขียน 15,000 บาทต่อเดือน โดยบริษัทฯ จะตกแต่งร้านให้ภายใต้รูปแบบมาตรฐาน 
 
ชาญวิทย์ กล่าวถึงเป้าหมายในการเปิดร้านดั๊บเบิ้ลเอ สเตชั่นเนอรี่ว่า ทางบริษัทฯ จะไม่เน้นในเรื่องปริมาณเหมือนกับดั๊บเบิ้ล เอ ก๊อปปี้ เซ็นเตอร์ แต่จะเน้นพัฒนาทั้ง 4 ร้านที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นร้านต้นแบบ เพราะคาดว่าจะเป็นตัวช่วยขายคอนเซ็ปท์การเปิดร้านของบริษัทต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าถึงสิ้นปีนี้น่าจะมีร้านที่เข้าร่วมกับทางบริษัทฯ ประมาณ 20 ร้านค้า 
 
ทางด้าน พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ อดีตนายกสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอมอีไทย (FSA) กล่าวว่าธุรกิจ ดั๊บเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่ เป็นลักษณะของธุรกิจแฟรนไชส์ที่จัดอยู่ในประเภท Conversion Franchise คือการนำธุรกิจที่มีอยู่แล้วมาร่วมตัวกัน เพื่อสร้างเครือข่ายซึ่งจะช่วยในการต่อรองเพื่อซื้อสินค้าหรือเจรจาธุรกิจ จะเห็นรูปแบบธุรกิจดังกล่าวได้ชัดจากธุรกิจรถเช่า, บริษัททัวร์ ฯลฯ 
 
สำหรับแนวโน้มการขยายตัวธุรกิจสเตชั่นเนอรี่ในเมืองไทยขณะนี้ถือว่าลำบาก เพราะธุรกิจสเตชั่นเนอรี่เป็นธุรกิจที่ต้องการลูกค้ามากกว่า 4,800 คนต่อหนึ่งสาขา ดังนั้นการนำธุรกิจร้านเครื่องเขียน ในรูปแบบของร้านเก่ามาปรับปรุงจะดีกว่าการไปเปิดร้านใหม่ 
 
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายรูปแบบของธุรกิจสเตชั่นเนอรี่ต่อไป จะไม่ใช่การขายเครื่องเขียน แต่ต้องขายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนมากขึ้น เช่น ในหนึ่งร้านจะมีธุรกิจเครื่องเขียน ร้านหนังสือ และร้านกาแฟ อยู่ในร้านเดียวกัน 
 
อ้างอิงจาก: ผู้จัดการออนไลน์
ดาวเด่นแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวบรวมขนมปัง 20 บาท มาเอาใจคนอยากมีร้าน
157,522
ชานมไข่มุกปลุกตลาด 7 พันล้าน เทรนด์‘ไต้หวันกลับซ..
99,645
กาแฟสด ชาวดอย ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ ความคล่องต..
81,650
เนสท์เล่ ปูพรมร้านไอศกรีมลงทุนเอื้ออาทร สานฝันคน..
77,808
ปั่นแหลก น้ำผลไม้สด แซงโค้งเข้าวินสร้างอาชีพ
76,558
“เคพีเอ็นพลัส” แฟรนไชส์อะไหล่มอ’ไซด์ ลั่นขยาย100..
55,082
ดาวเด่นแฟรนไชส์มาใหม่
ดาวเด่นแฟรนไชส์อื่นในหมวด