บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การบริหารธุรกิจ    ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์
3.0K
2 นาที
5 ตุลาคม 2559
ธุรกิจแฟรนไชส์กับ Service Charge 

 
หลายคนอาจสงสัยว่า ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ สามารถเรียกเก็บค่าบริการ หรือ Service Charge ที่กำลังเป็นกระแสถกเถียงว่าต้องจ่ายหรือไม่จ่ายให้กับร้านอาหาร ภัตตาคาร รวมถึงโรงแรม ในออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา ได้หรือไม่ 
 
วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ และการเรียกเก็บค่า Service Charge มาฝากผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อใช้ในการพิจารณาว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณมีความเหมาะสมที่จะเรียกเก็บ Service Charge จากลูกค้าที่เข้าไปใช้ในระบบธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณหรือไม่ 

ระบบของธุรกิจแฟรนไชส์

จริงๆ แล้ว ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์นั้น ถือเป็นธุรกิจที่ได้วางกลยุทธ์การขยายสาขาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) หรือสร้างรายได้จากการจัดการธุรกิจ ที่เพียรสร้างขึ้นมาด้วยความยากเย็น ก็เรียกได้ว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จในระบบแฟรนไชส์นั่นเอง 
 
ดังนั้น เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จึงจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ จากผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซีทุกราย เพราะเป็นค่าตอบแทนที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทำการออกแบบความสำเร็จของธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว และค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ก็ยังจะถูกนำไปช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ตลอดอายุสัญญาด้วย  

ธุรกิจแฟรนไชส์เก็บค่า Service Charge ได้ไหม 

หากถามว่าธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถเรียกเก็บ Service Charge จากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้หรือไม่ บอกได้เลยว่าได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทอะไร

ถ้าเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหาร ที่เลือกเอาไว้แล้วว่า ต้องขยายสาขาเฉพาะในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ก็สามารถเรียกเก็บ Service Charge เพิ่มจากลูกค้าได้ แต่ต้องมีระบบการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะด้านการให้บริการที่ดีเยี่ยมกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าอยากจะจ่ายเพิ่ม 
 
ในต่างประเทศ พบว่าร้านอาหารจำนวนมาก เริ่มปรับเปลี่ยนจากธรรมเนียมการให้ทิปไปเป็น “ค่าธรรมเนียมการให้บริการ” Service Charge ที่ระบุไว้บนเมนูหรือหน้าร้าน โดยถือเป็นค่าธรรมเนียมแบบ “มัดมือชก” เรียกเก็บในบิลตั้งแต่ 10-20%
 
แม้ว่าการให้ทิป และ Service Charge จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในธุรกิจบริการ ที่ขยายวงกว้างในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสหรัฐฯ และยุโรป แต่ก็ยังมีหลายประเทศในแถบเอเชีย ที่ส่วนใหญ่จะไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการให้ทิป

เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม แม้แต่ไทย แต่จะเป็นการคิดค่า Service Charge ตั้งแต่ 5-10% ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร ในโรงแรมและห้างสรรพสินค้าต่างๆ 
 
ซึ่งหากดูแล้วธุรกิจบริการประเภทร้านอาหาร ในระบบแฟรนไชส์ก็มีอยู่มากมาย ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศธุรกิจแฟรนไชส์เหล่านี้ ส่วนมากจะเรียกเก็บ service charge จากลูกค้าเพิ่มอยู่แล้ว เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของต่างประเทศ ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งในเมืองไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน  
 
ยิ่งถ้าแฟรนไชส์ของคุณเป็นแบรนด์ดัง ผู้บริโภครู้จักกันทั่วประเทศ รสชาติอาหารของคุณก็อร่อย มีคุณภาพมาตรฐานด้วย ระบบการปฏิบัติงานในร้านเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกร้าน พนักงานบริการลูกค้าดีเยี่ยม ตรงนี้คุณก็สามารถวางระบบการเรียกเก็บเงินบวกค่า Service charge จากลูกค้าได้ทุกๆ สาขา 

กฎหมายไม่ห้าม! แต้ต้องระบุให้ชัดเจน
แม้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเมืองไทย จะไม่ได้พูดถึงเรื่อง “service charge” โดยตรง แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เรียกว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 โดยให้อำนาจคณะกรรมการออกประกาศ “เรื่องการต้องแสดงราคาสินค้าหรือบริการ” 
 
ประกาศนี้ระบุว่า ราคาสินค้าและบริการ ต้องแสดงราคาต่อหน่วย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ขอให้มีอารบิกอยู่ด้วย ทั้งนี้ข้อความต้องเป็นภาษาไทย ในลักษณะที่เห็นชัดเจน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย เพื่อจะแสดงให้ผู้บริโภคก่อนการตัดสินที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ  

สิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจในการขายสินค้า ถ้าไม่มีแสดง หรือมีแต่อ่านไม่ชัด ไม่ครบถ้วนก็มีความผิด คือโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ประชาชนสามารถแจ้งไปที่ 1569 กรมการค้าภายในได้ทันที
 
พูดง่ายๆ ว่า ธุรกิจร้านอาหารมีหน้าที่ต้องติดป้ายแสดงทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ราคา แต่หมายถึง “service charge” ด้วย หากไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน นับว่ามีความผิด “ถ้าร้านไหนไม่ติดป้ายประกาศ service charge หรือมีแล้วไม่ชัดเจนจริง ผู้บริโภคก็มีสิทธิปฏิเสธได้เช่นกัน ย้อนถามพนักงานเลย service charge ที่เก็บเพิ่ม 10% มาจากไหน แจ้งไว้ตรงไหน
 
เห็นแล้วว่า การเรียกเก็บ Service Charge จากลูกค้าในภาคธุรกิจบริการ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคารในห้างสรรพสินค้าและโรงแรม สำหรับในประเทศไทยสามารถกระทำได้ แต่ต้องแจ้งรายละเอียดว่ามี Service charge ให้ลูกค้าได้ทราบก่อนใช้บริการ หรือติดไว้ให้อ่านชัดเจนหน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้