บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    โอกาสทางธุรกิจ    ช่องทางทำกิน
8.3K
5 นาที
11 พฤศจิกายน 2552

ไลเซ่นซิ่ง (โอกาสธุรกิจที่ประมาณค่าไม่สิ้นสุด)

ไลเซ่นส์  เป็นทรัพย์สินทางปัญญา  ที่มูลค่านับมหาศาลชนิดที่หาจุดสิ้นสุดไม่ได้  แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก และใช้โอกาสจากธุรกิจนี้  ได้ทำการรวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ไลเซ่นซิ่ง เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะชน และ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในธุรกิจ

ไลเซ่น คืออะไร?

ไลเซ่นส์ เป็นสิทธิ์ประเภทหนึ่ง เมื่อนำมาประกอบในด้านการค้า ผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ จะเป็นผู้อนุญาตให้ผู้มาซื้อสิทธิ์ นำไปประกอบธุรกิจการค้า  
ซึ่งแฟรนไชส์ก็ถือว่า เป็นไลเซ่นส์ที่ประกอบอยู่ด้วย

ข้อแตกต่างของการขายไลเซ่นส์ กับการขายแฟรนไชส์ก็คือ แฟรนไชส์จะมีความพิเศษมากกว่า ที่เจ้าของจะเข้ามาควบคุมดูแลธุรกิจ เพื่อให้ดำเนินงานในขอบเขตที่กำหนดไว้ แต่การขายไลเซ่นส์จะเป็นการให้ใช้สิทธิ์โดยไม่ได้มีการเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องวิธีการทำธุรกิจ
 
ตัวอย่างของผู้ประกอบการไลเซ่นส์

มีผู้ประกอบการธุรกิจไลเซ่นส์ ในประเทศไทย แทรกอยู่ในทุกธุรกิจ อย่างเช่น ในธุรกิจเสื้อแบรนด์แนมต่างๆ ที่ได้สิทธิ์ในการผลิตสินค้าในตราที่เป็นที่ยอมรับและจัดจำหน่าย เช่น กีลาโรช แอโรว์ เป็นต้น  หรือ ที่ร้านเสื้อผ้าจีออดาโน ที่ซื้อสิทธิ์การ์ตูนวอลท์ดีสนีย์ มาทำลายต่างๆบนเสื้อผ้า  หรือโรงเรียนสอนการอ่านเร็ว ศูนย์ฝึกทักษะการพัฒนาการอ่าน ที่คิดค้นวิธีการอ่านเร็วโดย ดร สแตน โรเจอร์    ชาวออสเตเรีย  ได้ขายไลเซ่นส์ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจที่ปรึกษา เป็นต้น  

ดังนั้น ไลเซ่นส์หรือลิขสิทธิ์  มันไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่จะอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าเรื่องของซอฟท์แวร์  เกมส์  บัญชี  ภาพยนตร์ หรือ แม้กระทั่งสูตรอาหาร

ตัวอย่างผู้ซื้อ และผู้ขายไลเซ่นส์

คุณจิรัฐ  บวรวัฒนะ รองประธานกรรมการสายงานการตลาด  บริษัท โรสวีดีโอ จำกัด ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไลเซ่น  คือ ซื้อไลเซ่นส์จากประเทศญี่ปุ่น และ มาทำการตลาดในไทย เขาอธิบายถึงธุรกิจไลเซ่นส์ของบริษัทเขาว่า “เราแบ่งสายงานออกเป็น 4 กลุ่ม ด้วยกันคือ

  1. ภาพยนตร์ เราเป็นผู้นำเข้าภาพยนตร์อิสระรายหนึ่งของเมืองไทย ยกตัวอย่าง เช่น อเล็กซานเดอร์ ซาร่า เรซซิ่งสไตรค์ โดราเอมอน ไปจัดจำหน่ายในโรงภาพยนตร์ และนำไลเซ่นส์นั้น จัดจำหน่ายในรูปแบบวีซีดีต่อไป
     
  2. กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มการ์ตูน เราเป็นผู้นำเข้าการ์ตูนญี่ปุ่นรายใหญ่รายหนึ่งของเมืองไทย แล้วก็เป็นผู้ขายไลเซ่นส์  ของการ์ตูนบางตัว เช่น นารูโตะ โซนิกเอ็กซ์ แล้วก็ตัวแปลงร่าง 5 สี ในเมืองไทย
     
  3. กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มมิวสิค เราเป็นผู้ทำเพลงคาราโอเกะรายหนึ่งของเมืองไทยเหมือนกัน
     
  4. กลุ่มสุดท้ายก็คือ สินค้าทั่วไป ตัวเอย่างเช่น ลิเก การ์ตูน ตลก คอนเสิร์ต ออกกำลังกาย นั่นคือ 4 กลุ่มที่เราทำ นอกจากนั้น เราก็มีกลุ่มสายงานซัพพอร์ต คือกลุ่มรีเทล เรามีร้านค้าปลีกทั้งหมดอยู่ 100 กว่าจุดขาย ในชื่อเชอรี่ เรามีทั่วประเทศ แล้วก็มีห้องตัดต่อ ห้องบันทึกเสียง ระบบดิจิตอลเบต้าของบริษัทเอง และเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ในต้นปีหน้า”
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สร้างโอกาสธุรกิจจากการซื้อไลเซ่นส์เข้ามาเพื่อทำเงิน  ซึ่งการได้ไลเซ่นส์ที่มีชื่อ และอยู่ในความนิยมจะสามารถทำตลาดได้ง่าย และมีลูกค้าตอบรับจำนวนมาก และมีผลทำให้สร้างรายได้ได้อย่างรวดเร็ว  บริษัท โรส  วีดีโอนี้ ทำธุรกิจไลเซ่นส์ที่มีความก้าวหน้าสูง  โดยกำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเร็วๆนี้

ตัวอย่างไลเซ่นส์ไทย

บริษัท โพลีเพรส จำกัด เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในธุรกิจไลเซ่นส์โดยตรง ที่ได้สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนที่ออกแบบเองโดยคนไทย  เพื่อขายสิทธิ์นี้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการจับตลาดแฟชั่น คุณสุดเขตต์ จำรัศฉาย กรรมการผู้จัดการ พูดถึงธุรกิจของเขาว่า “ บริษัท โพลีเพรส  ถือได้ว่าเป็นน้องใหม่ที่ทำเรื่องของไลเซ่นส์ แต่จริงๆ   เราไม่ได้ใหม่ในแง่ของการทำงาน  เพราะเราเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการดูแลไลเซ่นส์หลายตัว อย่างซาบิน่า แล้วเราก็ทำเรื่องของแฟชั่นเสื้อผ้ามาก่อน เราจึงสร้างคาแรกเตอร์ดีไซน์ในเรื่องของแฟชั่นเป็นหลัก แบ็คกราวน์ก็คือการผลิตภาพสิ่งพิมพ์ที่ใช้บนผ้าเป็นหลัก เราทำมา 14 ปี จนกระทั่งเราได้พัฒนาตัวเองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มโปรดักส์ของตัวเอง ด้วยการออกไลเซ่นส์ตัวคาแรกเตอร์ดีไซน์  แล้วก็เน้นในเรื่องของคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่ใช้กับแฟชั่นเป็นหลัก นั่นคือทิศทาง” 

ส่วนลูกค้าที่ซื้อไลเซ่นส์ที่เขาออกแบบขึ้นมา คือ  “เป็นกลุ่มประดับยนต์ ที่จะออกมอเตอร์โชว์ ก็ตัวคิดเดวิล ส่วนฮิปฮอปแบร์  ก็เป็นลายการ์ตูน  ที่อยู่บนเสื้อผ้า  และสินค้าเครื่องเขียน  แล้วมีก็กลุ่มกระเป๋า รองเท้า ก็กำลังจะทยอยออกสินค้าอีกหลายกลุ่ม พูดง่าย ๆ ของผมก็เป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่น ทิศทางก็คงไม่ต่างจากซานริโอเท่าไหร่ แต่ว่าซานริโอเค้าออกไปทางหวาน แต่ว่าของผมจะทำในทิศทางตรงกันข้าม เป็นแนวเท่ห์ เด็กแนวหน่อย แต่ยังมีความน่ารัก ยังแตะ ๆ อยู่บ้าง”

ไลเซ่นส์จากคนไทย ครองใจคนทั่วโลก

ไม่มีใคร ไม่รู้จักอุลตร้าแมน แต่หลายคนยังไม่ทราบว่า การสร้างสรรค์การ์ตูนตัวนี้  มาจากคนไทย ที่ได้ไอเดียการออกแบบ ใบหน้าของอุลตร้าแมนมาจากพระพักต์ ของพระพุทธรูปแบบสุโขทัยนั่นเอง  คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย เจ้าของไลเซ่นส์อุลตร้าแมน  ขาเล่าถึงที่มาการสร้างการ์ตูนดังนี้ว่า   “ตอนที่ผมอายุ 20 นี่ผมไปญี่ปุ่น ปีนี้ผม 66 ตอนที่ไปญี่ปุ่น ตอนนั้นคนญี่ปุ่นเองยังละเมิดลิขสิทธิ์ ยังไม่มีการซื้อขายไลเซ่นส์กัน แต่ผมอยู่มาได้อีก 4 ปี ก็มีการเริ่มซื้อไลเซ่นส์ ก็มีบริษัทโซนี่ เป็นผู้ซื้อรายใหญ่  บริษัทโตโฮ สร้างหนังทุกอย่าง ของผมที่สร้างก็เรื่องก็อตซิลล่า อุลตร้าแมน โตโฮ และมีบริษัท โตเอะ  อีกบริษัทหนึ่ง ที่สร้างเรื่องไอ้มดแดง แล้วก็อิกคิวซัง พวกนี้”

“ส่วนของผมเรื่องไลเซ่นส์ ผมเอาไปคิดไปสร้างสรรค์ ปี 1962 สมัยนั้นอาจารย์ผม(เป็นผู้กำกับ บริษัท โตโฮ บริษัทสร้างหนัง)  สร้างคิงคองกับก็อตซิลล่า แต่ก็อตซิลล่าสร้างมาแล้วปี 1954 เริ่มเด็กญี่ปุ่นชอบ ก็เอามาเจอกับคิงคอง ระหว่างนั้น ผมสร้างอุลตร้าแมนอยู่ ผมก็อยากได้คาแรกเตอร์เจ้าก็อตซิลล่ามาเป็นของผม ผมก็ให้เพื่อนเค้าเขียนบทมาบทหนึ่ง ให้เขียนอุลตร้าแมนปราบก็อตซิลล่า คิดไปคิดมา เค้าก็คิดไม่ออกว่าจะทำยังไง ผมก็บอกไม่ยาก เพราะที่ออสเตรเลียมันมีกิ้งก่าอยู่พันธุ์หนึ่ง มีแผงคอ วิ่งสองขา  มันดังในญี่ปุ่นมาก แล้วคนญี่ปุ่นรู้จัก ผมก็ให้ใส่แผงคอ แล้วอุลตร้าแมนสู้จนกระทั่งแผงคอหลุด มันก็เป็นก็อตซิลล่า เพราะฉะนั้นผมก็มีสิทธิ์ก็อตซิลล่าในเรื่องอุลตร้าแมนของผม รวมทั้งเสียงก็อตซิลล่า พอดีอาจารย์ผมเป็นผู้กำกับที่บริษัทโตโฮ แล้วตัวประธานโตโฮก็ยอม เมื่อหลวมตัวยอมมาแล้ว ผมก็ได้ไลเซ่นส์ทั้งยีราส เมื่อเอาแผงคอออกก็เป็นก็อตซิลล่า ผมก็ได้ทั้งตัวก็อตซิลล่า  นั่นคือสิทธของผมนอกญี่ปุ่นทั้งหมด”คุณสมโพธิ์  ต้องต่อสู้ในเรื่องการเป็นเจ้าของไลเซ่นส์นี้อยู่ตลอดเวลา กับผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ และเรื่องในเรื่องการเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่แท้จริง  แต่อย่างไรก็ตามในวันนี้ ศาลในญี่ปุ่นได้ชี้ขาดว่าเขาคือเจ้าของสิทธิ์ที่ถูกต้องในทุกประเทศ  ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น (แต่ในประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี)

“ตอนนั้นไลเซ่นส์หนังไม่มีราคาเลย  เพราะว่าหนังตอนหนึ่ง มันเป็นฟิล์ม เค้าจะต้องขาย 100 เหรียญ 50 เหรียญเป็นค่าฟิล์ม 50 เหรียญเป็นค่าไลเซ่นส์ เพราะฉะนั้นผมถูกบังคับให้เอาเข้ามาขายในประเทศไทย ผมบอกขายไม่ได้หรอก เพราะว่าบ้านเรายังยากจน  ถ้าให้ฟรีก็เอา ทางโน้นก็ให้มา ตอนบุกเบิกผมนำมาแจกทั้งนั้นเลย เริ่มจากการไม่รู้เรื่องไลเซ่นส์ แต่หลังจากนั้นมา 40 ปีมานี้ ไลเซ่นส์บูมมาก”


ซื้อขายกันอย่างไร?

การเป็นเจ้าของไลเซ่นส์   คือทรัพย์สินทางปัญญา  ที่มีมูลค่า  แต่จะมีมูลค่ามากน้อยเพียงใด ขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่าง  เช่น ความนิยม  ความต้องการในตลาด  และจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อเป็นต้น บุญชัย บุญธรรมสามิสร  ทนายความสำนักกฎหมายไชโย  ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า  “ตรงนี้ผมคิดว่า ราคาซื้อ-ขายไลเซ่นส์จะเป็นเท่าไร  ซื้อขายกันอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับ ผู้ประกอบธุรกิจที่จะขอสิทธิ์ รวมถึงผู้ที่จะให้สิทธิ์ ขึ้นอยู่กับว่า ทั้งสองฝ่ายจะตกลงในแนวทางอย่างไร ผมคิดว่า องค์ประกอบหลักคงจะต้องดูที่เป้าหมายทางการค้าเสียมากกว่า ว่าจะให้สิทธิ์แค่ไหน เพียงใด ระยะเวลาเท่าไหร่ มีค่าตอบแทนอย่างไร” 

คุณสมโพธิ์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “อย่างบริษัท  เอเพ็กซ์ทอยส์ เค้าก็มาซื้อสิทธิ์อุตร้าแมนตัวนี้ ของผมออกมา เป็นตัวมิลเลเนียม (เป็นบุคลิกลักษณะแบบหนึ่งของอุลตร้าแมน) เค้าขอซื้อสิทธิ 5 ปี ตกลงกันว่าเป็นเงินเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ให้เราก้อนเดียว ขอบข่าย คือสินค้า อาณาเขตในประเทศไทย แต่ส่วนที่ผมไปขายในประเทศจีนก็มีอีก ในประเทศจีน เค้าต้องการอุลตร้าแมนทั้งหมด ทั้งปวง ต้องการสินค้าทุกประเภท เพราะว่าเค้าทำสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่ เสื้อผ้า รองเท้า แล้วก็กระเป๋าเด็ก ซีดี เค้าก็จะขอเป็นผู้แทนคนเดียว ก็ 5 – 10 ปี สรุปในหลักการก็คือ เราให้เค้าใช้ชื่อของเรา ที่เราเป็นเจ้าของสิทธิ ขอบข่ายการให้สิทธิ ก็ให้ระบุอาณาเขต และเวลา เป็นตัวยืน

การซื้อขายไลเซ่นการ์ตูนชื่อดัง  ส่วนใหญ่จะต้องระบุว่าขายสิทธิ์เฉพาะคาเร็กเตอร์ไหน  เช่น ท่าต่อสู้ ท่าแปลงร่าง  หรือ เฉพาะภาคเจอก็อตซิล่า  เป็นต้น  สมโพธิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า“อย่างผมออกแบบอุลตร้าแมนมิลเลเนี่ยมมา เราจะรู้ว่าโครงสร้างเป็นยังไง หน้าตา สีสัน เป็นยังไง เค้าจะต้องทำตามแบบของเรา ตามสีของเราที่เราเป็นผู้เริ่มต้นสร้างขึ้น เค้าจะนอกแบบพวกนี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องส่งแบบมาให้เราตรวจ พอเราตรวจเสร็จโอเค เค้าก็เอาไปทำ ก็อปปี้ ทำได้เลย ถ้าตรวจพบว่าไม่ถูกต้อง เค้าก็ต้องแก้เลย ถ้าเค้าไม่แก้เราก็ยกเลิกสัญญาได้ แต่ว่าส่วนใหญ่ทุกคนก็แก้หมด เพราะว่าคนที่ทำเค้าไม่รู้เรื่อง เค้ามีโรงงาน เค้าไม่รู้คาแรกเตอร์ที่แท้จริง เราควบคุมให้คาแรกเตอร์ให้ตรง ไม่เพี้ยน”

คุณจิรัฐ ยกตัวอย่างการซื้อขายไลเซ่นส์ของโรสวีดีโอว่า “เรื่องลิขสิทธิ จะนำไปใช้อะไร ขึ้นอยู่กับการตกลง อย่างบริษัทเราซื้อไลเซ่นส์มาจากต่างประเทศ เพื่อทำการตลาดและขายต่อ เท่ากับว่าเราไปซื้อเป็นมาสเตอร์ไลเซ่นส์มา เฉพาะในประเทศไทย และเฉพาะในส่วนที่เราซื้อมา อย่างโดราเอมอน ผมซื้อไลเซ่นส์มาจากเอไอ ประเทศฮ่องกงเฉพาะลิขสิทธิเฉพาะในโรงภาพยนตร์และวีซีดี มันจะมีแต่ละเรื่อง ผมซื้อเดอะ มูฟวี่ทุกตัวของโดราเอมอน ผมซื้อทีวีสเปเชี่ยล ผมซื้อทีวีคอลเลคชั่นทุกตัวของโดราเอมอน รวมมูลค่า 1 ก้อน เป็นเวลา 1 พีเรียด นั่นคือการตกลง อย่างนารูโตะ นินจาจอมคาถา ผมก็ซื้อ ตั้งแต่เคเบิลทีวี ฟรีทีวี โฮมวีดีโอ แล้วผมก็ซื้อเมอเชียนไดส์ ไลเซ่นส์ ซึ่งทำให้ผมไปขายให้กับโรงงานทำเสื้อได้ ขายให้กับเมอเชียนไดส์ ไลเซ่นซอร์ที่จะเอาไปทำอย่างอื่นได้ อย่างสเตชั่นเนอรี่ เสื้อผ้า เป็นต้น”

ส่วนวิธีการซื้อไลเซ่นส์ดัง  ซึ่งมีผู้ต้องการหลายรายเพื่อมาทำการค้าต่อนี้  ก็ต้องมีกลยุทธ เช่นกัน  จิรัฐ เปิดเผยว่า “เริ่มตั้งแต่การทำข้อเสนอเป็นเอกสาร  นำเสนอว่าเราสนใจเรื่องนี้อย่างไร เค้าก็จะเช็คว่าเรามีความเข้าใจในธุรกิจหรือในคาแรกเตอร์อย่างไร  หลังจากที่เราแสดงความตั้งใจที่จะซื้อไลเซ่นส์ตัวนี้แล้ว ก็ทำแผนการตลาดเข้าไปเสนอเค้าว่า เมืองไทยคุณจะทำการตลาดนารูโตะอย่างไร หลังจากนั้นเมื่อเราได้ลิขสิทธิ์พร้อมกับการประมูลราคาเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้รับสิทธิมาแล้ว เราจะเอามาทำอะไรบ้าง เช่น  ในการทำลิขสิทธิอย่างซีดี ปกอย่างนี้ ในการทำทุกครั้ง เราต้องส่งไปให้ทางญี่ปุ่นตรวจและอนุมัติก่อน เช่นเดียวกัน ถ้าผมขายลิขสิทธิ์ไปให้คนทำเสื้อ คนทำเสื้อก็ส่งแบบมาให้ผมว่าจะทำอย่างนี้ จะเอานารูโตะไปใส่บนเสื้ออย่างนี้ ๆ ผมก็ส่งไปให้ทางญี่ปุ่นตรวจอีกครั้ง   แต่เราจะมีไกด์ไลน์ให้แล้ว ว่าต้องทำอย่าง นี้ๆ เราจะมีเอกสาร ข้อมูลในการปฏิบัติและเราก็จะอธิบายให้เค้าทราบก่อนว่า ผู้ประกอบการต้องทำยังไง อะไรบ้าง”

โอกาสการทำธุรกิจไลเซ่นส์

ไลเซ่นส์  เป็นรูปแบบโอกาสธุรกิจอย่างหนึ่งที่มาก่อนแฟรนไชส์  แต่ความรู้ในเรื่องไลเซ่นส์ยังมีการพูดหนึ่งน้อยมาก   ทำให้การใช้ประโยชน์ในการขายทรัพย์ทางปัญญานี้เสียโอกาสไปด้วย  แต่ผู้ที่มองเห็นช่องทางในการขายทรัพย์ประเภทนี้  และใช้ทรัพย์ประเภทนี้  ร่ำรวยอย่างนึกไม่ถึง
สมโพธิ์  เล่าว่า “ประเทศใหญ่อย่างจีนมีประชากรมากกว่าพันล้าน ได้ไลเซ่นส์ไปคุ้มเลย ตอนนี้เด็กทุกคนรู้จักอุลตร้าแมน ตอนนี้ผมมี 40 ตัวแล้ว ปีละ 1 เรื่อง ของคาแรกเตอร์ ทั้งสัตว์ประหลาดอีก ตอนนึงมีตัว มี 52 ตอน คูณไป ทั้งสัตว์ประหลาดทั้งอะไรก็มี 2000 กว่าตัว ซึ่งผมถือว่าลิขสิทธิ์เป็นทัรพย์สินทางปัญญาที่มหาศาล

บริษัทบันได  ผู้ซื้อสิทธิ์หนังการ์ตูนยอฮิตตลอดกาล  ทั้งไอ้มดแดง และอุลตร้าแมน ได้ใช้ประโยชน์จากหนังทั้ง 2 เรื่องนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  “ คือการ์ตูน เพราะว่าในญี่ปุ่นอุลตร้าแมนดัง 5 ปี พอดัง 5 ปีปุ๊บ จะมีไอ้มดแดงอีก 5 ปี เพราะบริษัทบันไดเค้าซื้อสิทธิของอุลตร้าแมนไปตลอด  คือเค้าซื้อสิทธิแล้วต่อตลอด แล้วเค้าก็ซื้อสิทธิไอ้มดแดงด้วย เพราะฉะนั้นเค้าจะชูตัวไหนขึ้นตัวไหนลง ก็อยู่ที่บริษัทบันได ซึ่งเค้าเป็นสปอนเซอร์สร้างแล้วก็ฉายให้เด็กดู เด็กก็ดูอุลตร้าแมนแล้วไปดูไอ้มดแดงอีก 5 ปี อีก 5 ปี ก็เอาอุลตร้าแมนมาใหม่ เด็กทุกรุ่นจึงรู้จักอุลตร้าแมน และไอ้มดแดง”

อุลตร้าแมนของผมมีของผู้หญิงด้วยนะ ชื่ออุลตร้าแมนคิด สร้างให้บริษัท เอนเอชเค เป็นรูปสีชมพู หวานทั้งชุด จากอุลตร้าแมนที่เป็นสีธงชาติ แข็ง แต่อมาอุลตร้าแมนคิด เราหวานทั้งชุด เรามีญี่ปุ่นมาจีบ มีฝรั่งมาจีบ แต่ว่าผมยังไม่ให้ใคร เพราะว่าผมอยากจะให้คนไทยทำ ถ้าเป็นของเอนเอชเคออกขาย เมื่อปี 1980 ทุกคนอยากได้ ตอนนี้กลายเป็นของหายากแล้ว”สมโพธิ์ กล่าวถึงโอกาสการทำธุรกิจไลเซ่นส์

นอกจากนี้ โรงงานที่ผลิตสินค้า  จะเป็นกลุ่มหลัก ที่หาโอกาสได้จากธุรกิจไลเซ่นส์การ์ตูน  สุดเขตต์ชี้โอกาสแนวทางในเรื่องนี้ว่า  “ถ้าพูดถึงโรงงาน คุณผลิตเสื้อผ้าได้เหมือนกัน 10 โรง แต่ว่าคำถามก็คือ จะผลิตยังไงให้คนซื้อ ถ้าเราสร้างความต่างให้เราถูกเลือกไม่ได้ ผมคิดว่ามันก็เหนื่อยเหมือนกัน  การที่เราซื้อไลเซ่นส์หรือการที่เราจะซื้อสิทธิเหล่านี้ มันทำให้เราย่นระยะเวลาให้สั้นลง ไม่ต้องไปงมอยู่อีกนาน หรือลองอีกเยอะ เราสามารถใช้เวลาดังกล่าวทำได้รวดเร็ว  พูดง่าย ๆ คือแบ่งงานกันทำ การซื้อสิทธิ เหมือนเป็นการสร้างแบรนด์อย่างหนึ่งแต่เป็นการสั้นกว่า  บางคนคิดว่าโรงงานก็ของเรา เราก็ผลิตเองได้ แต่ทำไมต้องไปซื้อไลเซ่นส์มา หลายครั้งที่มีคำถามเหล่านี้ ผมว่ามันจะหายหลังจากที่เริ่มใช้ แล้วมันเวิร์ค”

การซื้อไลเซ่นส์ ผมสรุปคร่าว ๆ ว่ามันช่วยให้คุณสร้างแบรนด์ได้เร็วขึ้น และมันช่วยให้คุณมีผู้ช่วยด้านการทำดีไซน์ ด้านมาร์เก็ตติ้ง การทำโปรดักส์ดีไซน์ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เค้ามีความเชี่ยวชาญกว่า เพื่อทำให้เราสามารถต่อยอดในความเชี่ยวชายของเราในด้านการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่มีความเข้าใจว่า ตกลงผลิตสติ๊กเกอร์ติดแก้วทำยังไง ผลิตโมเดลการ์ตูนทำยังไง เราไม่รู้ แต่ถ้าเรามาจอยกัน เราสามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ ให้มันเกิดขึ้นได้ ใช้เวลาสั้น ๆ ในเวลาไม่กี่ปี แป๊บเดียวมันก็เกิดเป็นความนิยม เป็นกระแส ความต้องการของตลาดก็เกิดขึ้นมาได้  เราต้องเข้าใจก่อนว่า สัญลักษณ์เราต้องการจะสร้างมันมีหลายแนว ยกตัวอย่างเช่น ยอดมนุษย์  ก็เป็นกลุ่มของฮีโร่ อันนี้คือเด็กเล็ก แต่ถ้าเราเลือกเป็นแฟชั่น ก็ต้องมาดูว่า ทำไมสีชมพูมันมีทั้งกลุ่มปริ้นเซส กลุ่มบาร์บี้ หรือว่า เป็นกลุ่มของคิตตี้ ซึ่งชมพูเหมือนกัน  คือภาพครองใจของวแต่ละเซ็กเม้นท์ในตลาดได้อย่างชัดเจน ถ้าหากเรามีความเข้าใจ พอครองใจแล้วครองเลย ไม่มีอันอื่นได้อีก”

เป็นที่ยอมรับว่า คนไทย มีความสามารถในการออกแบบที่สวยงาม  และสร้างสรรค์  และหากได้รับความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีอยู่ในตัวเองนี้  จะสามารถนำไปสร้างเงินตราได้อย่างไม่จบสิ้น อย่างเช่นประเทศมหาอำนาจ ที่มีทรัพย์สินหลักของประเทศ  คือแบรนด์ของสินค้า และไลเซ่นส์ต่างๆ สุดเขตให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “ดีไซเนอร์บ้านเราผมว่ามีฝีมือ ผมก็ยอมรับว่า เด็ก ๆ เองได้รับแรงบันดาลใจจากยอดมนุษย์จากอะไรต่างๆ เยอะ แล้วเด็กรุ่นหลัง ๆ ก็รู้สึกว่าอยากมาทำ แต่ว่าต้นทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ จะทำยังไงให้คนพวกนี้อยู่ได้โดยมีรายได้ อันที่ 2 ก็คือ จะทำยังไง ถึงจะสื่อสารกับลูกค้าแล้วเค้าตัดสินใจซื้อ”

 

“เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริง ๆ ว่าวันนี้ตลาดขาดอะไร ตลาดขาดอย่างแรงก็คือ ขาดความเป็นเอกลักษณ์ แล้วการที่ผู้ผลิตมีเทคโนโลยีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณการผลิตก็สูงขึ้น แต่ว่าไม่รู้จะขายยังไง ไม่รู้ว่าจะถูกซื้อยังไง เพราะว่าคู่แข่งก็เยอะ การลอกเลียนแบบก็เยอะ ในขณะที่กฎหมายก็แรงมากขึ้น เอาจริงมากขึ้น  เหมือนที่เราพบในญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยมี  จากนี้ไป 5-10 ปี ผมว่าการซื้อไลเซ่นส์เป็นโอกาส เพราะอย่างที่เค้าขายกันคือ 5 ปี แล้วซื้อไปแล้วก็หมดสิทธิ์แล้วนะ เพราะซื้อไปแล้วเค้าเป็นคู่ค้ากันไปแล้ว โอกาสที่เราจะเข้าไปเชื่อมก็ยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะตื่นตัว”


 

อ้างอิงจาก โอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
รวม 15 แฟรนไชส์ชานมไข่มุก อร่อยจุก รวยกระจาย ส่ง..
11,381
รวม 7 โปรซื้อแฟรนไชส์ แบบได้เปรียบ!
2,694
ซื้อแฟรนไชส์ Mixue วันนี้ คืนทุนเมื่อไหร่?
2,632
5 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนสิงหาคม 2567
2,120
MINKKI แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาแบรนด์ไทย ขาย 15 บาท ..
1,288
ซื้อแฟรนไชส์ WEDRINK วันนี้ คืนทุนเมื่อไหร่?
1,261
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด