บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การบริหารธุรกิจ    การขยายธุรกิจ และบริหารสาขาแฟรนไชส์
3.3K
3 นาที
12 ธันวาคม 2560
ความต้องการสูง! โอกาสโตของแฟรนไชส์ “อาหาร การศึกษา บริการ” ปี 2018  
 

ต้องยอมรับว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ต่างได้รับความนิยมลงทุนอย่างมาก อย่างในไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้าปลีก-ส่งไทย และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เจ้าของกิจการจึงอยากขยายธุรกิจในระบบแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น

แต่จริงๆ แล้ว การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพียงแต่เจ้าของธุรกิจต้องมีความรู้ในเรื่องระบบแฟรนไชส์อย่างถ่องแท้ รวมถึงรู้จักการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพราะจะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตัวเองประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น 
 

วันนี้ www.ThaiFranChiseCenter.com จึงอยากนำเสนอข้อมูลความรู้การบริหารจัดการแฟรนไชส์ ภาพรวมตลาด รวมถึงโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ไทย จากการสัมภาษณ์ “คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ การเงินธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ของเมืองไทย

สถานการณ์ตลาดแฟรนไชส์ประเทศไทย


คุณเศรษฐพงศ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมตลาดแฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2560 ค่อนข้างทรงตัว ไม่ได้แตกต่างจากปี 2559 มากนัก อาจเกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

จึงส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคประชาชน รวมถึงการลงทุนของรัฐบาลและเอกชนชะลอลง แต่ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2560 เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มสนใจอยากทำธุรกิจและขยายธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่อยากขายแฟรนไชส์

สำหรับตลาดแฟรนไชส์ในประเทศไทย ปัจจุบันสัดส่วนจำนวนแบรนด์แฟรนไชส์ของไทย จะมีมากกว่าแฟรนไชส์จากต่างประเทศ แต่หากมองภาพรวมแล้ว เม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจะมีมากกว่าของแฟรนไชส์ไทย

เพราะส่วนใหญ่แฟรนไชส์จากต่างประเทศ ที่เข้ามาขยายสาขาในประเทศไทย ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แบรนด์ สินค้าและบริการต่างๆ มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับความนิยมจากตลาดและผู้บริโภคทั่วโลก 


ประกอบกับแบรนด์แฟรนไชส์ไทย เป็นที่รู้จักของนักลงทุนค่อนข้างจำกัดในตลาดต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้นทุกๆ ปี แต่ธุรกิจแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว กลับไม่ได้ขยายกิจการในระบบแฟรนไชส์ เพราะความไม่พร้อมในงานหลังบ้าน หรือระบบการจัดการ  

ไม่มีความรู้เรื่องการพัฒนาระบบแฟรนไชส์  ปัญหาเรื่องของทีมงาน และเงินทุนในการสร้าง Infrastructure หรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้ระบบแฟรนไชส์เติบโตในต่างประเทศ และไม่เข้าใจกฎระเบียบ และช่องทางการเข้าตลาดต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี จะมีแฟรนไชส์ไทยหลายแบรนด์ที่สามารถขยายได้ดีในต่างประเทศ เพราะได้ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศต่างๆ แต่ยังรักษาตัวตน หรือ DNA ความเป็นแบรนด์ไทยได้ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ได้คู่ค้า หรือแฟรนไชส์ซี ที่สามารถพัฒนาแบรนด์แฟรนไชส์นั้นเติบโตอย่างมีเป้าหมายได้ 
 

คุณเศรษฐพงศ์ กล่าวว่า “ธุรกิจไทย มีศักยภาพมาก ทั้งคุณภาพของสินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับจากประเทศในอาเซียนว่ามีมาตรฐานสูง รวมถึงรูปแบบ และดีไซน์มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของระบบแฟรนไชส์ แม้ว่าธุรกิจไทยจะมีระบบแฟรนไชส์มาหลาย 10 ปี 

แต่ในเรื่องความเข้มแข็งของแฟรนไชส์ และความร่วมมือกันในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ยังต้องพัฒนาอีกมาก หากเทียบกับประเทศที่มีระบบแฟรนไชส์แข็งแรง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น สมาชิกในสมาคมแฟรนไชส์ต่างๆ ส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลือกัน สามารถนำพาสมาชิกไปหากลุ่มลูกค้าหรือนักลงทุนต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ”

ดังนั้น การพัฒนาแฟรนไชส์ไทยทั้งระบบ จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ และการรวมพลังของภาคเอกชน ในการช่วยให้แฟรนไชส์ไทย สามารถยืนในตลาดต่างประเทศได้อย่างสง่างาม

ปี 2561 แฟรนไชส์ “อาหาร การศึกษา บริการ” ความต้องการซื้อสูง 
 

คุณเศรษฐพงศ์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์ไทยและต่างประเทศ ได้บอกถึงข้อมูลแฟรนไชส์ไทยอย่างน่าสนใจ โดยตลอดปี 2560 แม้ภาพรวมตลาดแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะไม่หวือหวามากนัก แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนในระบบแฟรนไชส์มากขึ้น

มีเจ้าของธุรกิจได้ติดต่อไปยังคุณเศรษฐพงศ์จำนวนมาก เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการขายแฟรนไชส์ เพราะมีคนสนใจซื้อแฟรนไชส์ไปทำธุรกิจจำนวนมาก ถือเป็นการส่งสัญญาณให้กับตลาดแฟรนไชส์ปี 2561 สดใส 

สำหรับธุรกิจที่คนนิยมและสนใจซื้อแฟรนไชส์ไปทำธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ระดับกลางๆ ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก แบรนด์ยังไม่ค่อยโด่งดัง แต่สินค้าและบริการได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยหลักๆ แล้วจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับ อาหาร

แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ เจ้าของธุรกิจด้าน การบริการ และ การศึกษา ติดต่อเข้าไปปรึกษาคุณเศรษฐพงศ์เพิ่มมากขึ้น นั่นก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณบอกให้รู้ว่า ในปี 2561 แฟรนไชส์กลุ่มอาหาร บริการ และการศึกษา มีความต้องการซื้อสูงมาก 

ประกอบกับในปี 2561 คนอยากมีธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของธุรกิจง่ายขึ้น เพราะรัฐบาลโดยเฉพาะกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามเซ็น MOU กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ

อาทิ ธนาคารออมสิน บสย.ในการให้สินเชื่อแก่ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์มากขึ้น เพื่อต้องการสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์สามารถขยายสาขาได้เร็วขึ้น เพราะนักลงทุนมีเงินลงทุนจากการให้สินเชื่อของธนาคาร    

ปีทอง! เจ้าของแฟรนไชส์ขยายสาขาไปต่างประเทศ


สำหรับการขยายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ คุณเศรษฐพงศ์ บอกว่า รัฐบาลและหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามเตรียมความพร้อมสร้างระบบธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ตนเองเชื่อว่าในปี 2561

แบรนด์แฟรนไชส์ไทยหลายๆ แบรนด์มีศักยภาพและโอกาสในการเปิดตลาดต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการออกงานแสดงสินค้าโชว์ศักยภาพในตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง จะช่วยให้นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจซื้อแฟรนไชส์ของไทย  

นอกจากนี้ ในปี 2561 บริษัท จีโนซิส จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำหลักสูตร International Franchise Certificate Program หลักสูตรสำหรับเจ้าของแฟรนไชส์ไทย ที่มีความพร้อมในการออกบูทและขยายสาขาต่างประเทศ 

โดยหลักสูตรดังกล่าวได้เชิญกูรูแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถพาแบรนด์แฟรนไชส์ไปต่างประเทศได้เข้าร่วมในโครงการเพื่อให้ความรู้ด้วย

โดยเจ้าของแฟรนไชส์ที่ผ่านหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง พร้อมกับการได้สิทธิออกบูทแสดงสินค้าที่ประเทศเกาหลีใต้ช่วงเดือนมีนาคม 2561 และเดินทางไปดูงานแฟรนไชส์ที่ประเทศไต้หวัน 

นักลงทุนต่างชาติ จ้องซื้อแฟรนไชส์อาหารแบรนด์ไทย  


คุณเศรษฐพงศ์ นอกจากเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์แฟรนไชส์ไทยและต่างประเทศ ที่มีแบรนด์แฟรนไชส์หลากหลายแบรนด์อยู่ในความดูแล ยังได้ถูกรับเชิญไปร่วมงานแสดงแฟรนไชส์ในต่างประเทศเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณเศรษฐพงศ์รับรู้ความต้องการซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ไทยของนักลงทุนต่างประเทศ 

ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ เขามองเห็นศักยภาพของแบรนด์ธุรกิจไทย จากการได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยบ่อยครั้ง ทำให้รู้จักแบรนด์ธุรกิจจำนวนมาก ว่าแบรนด์ธุรกิจเหล่านี้สามารถขายแฟรนไชส์ได้ จึงอยากขอซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ไทยไปเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยธุรกิจที่นักลงทุนต่างประเทศสนใจซื้อแฟรนไชส์มากที่สุด คือ อาหารแบรนด์ไทยๆ 

ขณะที่ภาพรวมการลงทุนแฟรนไชส์ต่างประเทศของนักลงทุนชาวไทยในปี 2561 คุณเศรษฐพงศ์เล่าให้ฟังว่า จากการที่ตนเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศหลายแบรนด์ในการเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้รู้ว่ามีนักลงทุนชาวไทยจำนวนไม่น้อย สนใจซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง 

เพราะธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง สินค้าและบริการเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วโลก ช่วยให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ส่วนใหญ่ที่นักลงทุนชาวไทยสนใจซื้อเข้ามา คือ แฟรนไชส์กลุ่มอาหาร และการศึกษา

อยากซื้อแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศ ทำอย่างไร


คุณเศรษฐพงศ์ เล่าว่า นักลงทุนไทยที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศ เข้ามาเปิดสาขาในไทย จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในกิจการแฟรนไชส์นั้นๆ ไม่ใช่ว่าจะมีเงินทุนอย่างเดียว แล้วสามารถซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศได้

เพราะบริษัทแฟรนไชส์ต่างประเทศจะไม่ขายแฟรนไชส์ให้กับใครง่ายๆ ต้องดูความพร้อมของผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์หลายๆ ด้าน แฟรนไชส์ซอร์ต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะขายสิทธิแฟรนไชส์ในประเทศไทย ในลักษณะมาสเตอร์แฟรนไชส์ (Master Franchise) หรือ การพัฒนาพื้นที่ (Area Development Franchise)

โดยแฟรนไชส์ซีในประเทศไทย จะต้องทำแผนธุรกิจส่งให้เจ้าของแฟรนไชส์ในต่างประเทศด้วย ได้แก่ การวางแผนว่าจะขยายธุรกิจจำนวนเท่าไร กลุ่มลูกค้าเป็นใคร จัดตั้งสาขาในเมืองไหนบ้าง แนวทางและวิธีการขยายสาขา กลยุทธ์การตลาดและการขาย เป็นต้น

สำหรับการให้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ หรือ Master Franchise สามารถ Sub-Franchisie หรือ ขายสิทธิแฟรนไชส์ต่อให้คนอื่นได้ การวิเคราะห์โอกาสและผลตอบแทนจากการลงทุน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ได้เห็นกันแล้วว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยหลายๆ แบรนด์ มีโอกาสขยายสาขาในต่างประเทศ โดยเฉพาะแฟรนไชส์กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ เพราะร้านอาหารไทย รวมถึงอาหารไทยๆ ยังเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ 

แต่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยจะต้องพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล สร้างเอกลักษณ์ จุดเด่น และสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง จะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก 

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/home.php
จดหมายข่าวอื่นๆ https://www.thaifranchisecenter.com/newsletter/index.php 

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,677
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,803
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,357
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,912
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,242
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด