บริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจำกัด ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2504 โดยนายสุพล เตชะธาดา ได้แยกธุรกิจสำนักพิมพ์มาจากสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของนายทรวง เตชะธาดา ผู้เป็นบิดา เพื่อขยายธุรกิจสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือดีมีคุณภาพสู่สังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น
ก่อร่างสร้างสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
นายสุพล เตชะธาดา เติบโตมากับธุรกิจหนังสือคลุกคลีและช่วยกิจการในครอบครัวตั้งแต่เด็ก ๆ เมล็ดพันธุ์แห่งความรักการอ่านก็ก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุย่างเข้าวัยหนุ่ม รากฐานของสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาก็มั่นคง เขาจึงตัดสินใจแยกครอบครัวออกมาก่อตั้งสำนักพิมพ์เอง เพื่อหวังให้เป็นธุรกิจเล็ก ๆ ในครอบครัว โดยให้ชื่อว่าสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ตั้งอยู่ที่เวิ้งนาครเกษม ช่วงแรกได้รับการไว้วางใจให้ตีพิมพ์ เรื่องศาลาโกหก ของ ป.อินทรปาลิต พิมพ์เรื่องของ โชติ แพร่พันธ์ (ยาขอบ),อาจินต์ ปัญจพรรค์ ,อุษณา เพลิงธรรม นวนิยายจีน ของ ว.ณ เมืองลุง หนังสือเหล่านั้นสามารถเป็นจุดขายได้เป็นอย่างดี
ในเวลาไม่นานชื่อสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นก็เป็นที่รู้จักดีในกลุ่มผู้อ่านที่ชื่นชอบหนังสือ พ็อกเก็ตบุ๊ค ประเภทนวนิยายจีนกำลังภายใน พงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก หนังสือชุดสามเกลอ และผลงานของนักเขียนชั้นนำมากมาย อาทิเช่น อุษณา เพลิงธรรม, อาจินต์ ปัญจพรรค์,ว.ณ เมืองลุง ,ณรงค์ จันทร์เรือง, รงค์ วงษ์สวรรค์ ,หยก บูรพา ,พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน ฯลฯ ยุคแรกภายใต้การนำของ นายสุพล เตชะธาดา ได้ผลิตหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คคออกมาสู่สายตาผู้อ่านเป็นจำนวนมาก จนสามารถปลุกกระแสหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คที่ซบเซาอยู่ในตอนนั้นให้กลับมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จนได้รับสมญานามว่า "ราชาแห่งหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค"
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานอกจากจะได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้พิมพ์ผลงานเขียนของนักเขียนชั้นนำออกมาเผยแพร่แล้ว สำนักพิมพ์ยังเป็นเวทีกลางเปิดโอกาสให้คนหนุ่ม - สาว ได้เข้ามาเรียนรู้งานบรรณาธิการด้วยประสบการณ์จริงที่มีกลุ่มปัญญาชนผู้มีหัวใจรักในงานหนังสือผลัดเปลี่ยนเข้ามารุ่นแล้ว รุ่นเล่า อาทิเช่น เฉลิมศักดิ์ รงคผลิน, สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุภาพ คลี่ขจาย และนิรันศักดิ์ บุญจันทร์
สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ตั้งอยู่ที่เวิ้งนาครเกษมได้สิบปีเศษก็ย้ายมาที่ย่านสยามสแควร์ แหล่งการค้าที่ทันสมัย ในปี 2514 เมื่อตลาดหนังสือพ็อกเกตบุ๊คเริ่มขยายตัว หลายสำนักพิมพ์ต่างผลิตหนังสือออกมาจนล้นตลาด เขาจึงเปลี่ยนนโยบายหันมาพิมพ์งานด้านอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นงานด้านนิตยสารต่าง ๆ หลายประเภท เติบโตควบคู่กันไปกับงานพ็อกเก็ตบุ๊คเพื่อขยายฐานงานธุรกิจหนังสือให้กว้างขึ้น
พ.ศ.2519 -2532 ได้ผลิตนิตยสาร ฟ้าเมืองทอง โดยได้รับเกียรติจาก อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนักเขียนได้มีเวทีแสดงความสามารถ เรียกได้ว่าเป็นสนามเรื่องสั้นที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ซึ่งก็มีบรรณาธิการมืออาชีพผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบริหาร อาทิเช่น ละเอียด นวลปลั่ง,เฉลิมศักดิ์ รงคผลิน (หยก บูรพา) และ นิรันศักดิ์ บุญจันทร์
พ.ศ. 2521-2524 ผลิตนิตยสาร ตกแต่ง เป็นนิตยสารสำหรับคนรักบ้าน ได้อาจารย์จักร ศิริพานิช คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มัณฑนากรชื่อดังมานั่งกุมบังเหียน ซึ่งก็ได้เป็นการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี
พ.ศ. 2531 ผลิตนิตยสาร กานดา นิตยสารสำหรับผู้หญิงและได้รับการตอบรับจากผู้อ่านพอสมควร
พ.ศ.2527-2537 ผลิตนิตยสาร วัยหวาน เป็นนิตยสารสำหรับวัยรุ่นเล่มแรก ๆ ที่ผลิตออกมาในตอนนั้นโดยฉบับปฐมฤกษ์ได้ คุณน้ำมนต์ อยู่สกุล มาเป็นบรรณาธิการ เป็นนิตยสารวัยรุ่น ที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น
สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น รุ่งเรืองด้วย Pocket Book และนิตยสารหลายฉบับ ต่อมาด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคม หนังสือมิใช่แต่ศาสตร์และศิลป์ แต่กลายเป็น Reading Product การทำหนังสือมิได้อยู่แต่ใจรักเท่านั้น จำเป็นต้องมีการตลาดยุคใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อแข่งขันกับสื่ออื่น