บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    กฎหมายและข้อบังคับ    ข้อพิพาท และความลับทางการค้า
5.4K
2 นาที
29 มกราคม 2553

FTA นั้นสำคัญไฉน?


ถ้ามีคนมาถามท่านว่า เอฟทีเอ คืออะไร ท่านต้องหันกลับมาจ้องมองหน้าคนถามแน่ ๆ เลยว่า มันไปอยู่ที่ไหนมาล่ะเนี่ยถึงไม่รู้เลยว่า เอฟทีเอ ก็คล้าย ๆ กับค่าเอฟทีของการไฟฟ้าแน่ ๆ (เอ้าจะบ้ากันไปใหญ่แล้ว) พูดเล่นนะครับ

จริงๆ แล้ว เรื่อง เอฟทีเอ เป็นเรื่องที่คุยกันมาสมัยที่ผมยังเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในวิชา International Trade และเนื้อหาก็จะพยายามกล่าวถึง การรวมตัวของภาคเศรษฐกิจแต่ละประเทศโดยเป็นการร่วมมือกันแบบตกลงในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยในเรื่องการเปิดโอกาสให้สินค้าแต่ละชนิดมีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษเรื่องการลดหย่อนหรือไม่เก็บภาษีการนำเข้าระหว่างประเทศ อะไรทำนองเนี่ย เรียกโดยรวม ๆ ก็คือ การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement - FTA

(ซึ่งเชื่อว่า ด้วยมันสมองในขณะนั้น ไม่น่าที่ผมจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้เหมือนตอนนี้ ก็น่าจะคล้าย ๆ กับท่านทั้งหลายที่ยังไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้งว่า เอฟทีเอ คือ อะไร หรือดีขึ้นมาอีกนิดก็คือ พอจะเข้าใจแต่จะใช้หาประโยชน์กับมันได้มากที่สุดอย่างไรเป็นต้น)

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยรัฐบาลได้เปิดฉากลุยเรื่อง เอฟทีเอ อย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งมีคู่การเจรจาการค้า อาทิเช่น ไทย-สหรัฐอเมริกา ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-อินเดีย เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงไปกว่าการทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศไทยมีการทำการค้ากับประเทศนี้มากหลายหมื่นล้านบาท ด้วยการส่งออกมากกว่า ครึ่งหนึ่งของประเทศที่เราพึ่งพากำลังซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่

ดังนั้น การเปิดการเจรจาเอฟทีเอที่ไม่เข้าใจหลักการและเหตุผล (ทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะ) อาจจะทำให้เราซึ่งต้องยอมรับว่า พลังอำนาจการต่อรองยังด้อยกว่าพี่เบิ้มแบบสหรัฐอเมริกาอยู่เยอะ ครั้นจะทำตัวเป็นน้องเล็กที่ดี ประเคนให้พี่เบิ้มอย่างเดียวก็ใช่ที่ (เพราะคนที่เป็นตัวแทนไปเจรจาก็ต้องทำการบ้านอย่างดีที่สุด เพราะไปในนามผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ของท่านและครอบครัวซะเมื่อไร) ทำให้จึงมีองค์กรภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชนหลาย ๆ ฝ่ายออกมาในเชิงเตือน ติติง กระตุ้น และให้ความเห็นในหลาย ๆ มุมมอง โดยเฉพาะในเรื่องของประเด็น “แหล่งกำเนิดและมาตรฐานสินค้าเพื่อไม่ให้มีผลกระทบการส่งออก”

จากแหล่งข่าวข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเอฟทีเอนี้โดยตรงได้บอกว่า การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกานี้ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งกำเนิดสินค้าและมาตรฐานสินค้าเป็นอันดับแรก เพราะเป็นประเด็นที่บอกว่า ไทยได้ประโยชน์หรือไม่จากการร่วมทำเอฟทีเอครั้งนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ให้เห็นมาแล้วกับบางประเทศที่ทำเอฟทีเอมาก่อนหน้านี้

แม้ว่าจะได้รับการลดภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% แต่ก็ยังมีเงื่อนไขกีดกันทางการค้าด้านอื่น ๆ มาซ่อน (มากั๊ก..ภาษาของผมเรียกแบบนี้) เอาไว้เช่น มาตรฐานสินค้าที่ต่างกัน หรือแหล่งกำเนิดที่ไม่ได้เอื้อต่อการส่งออกเท่าที่ควร หรือการตั้งมาตรฐานสินค้าให้ต้องมีคุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว เป็นต้น
ทั้งนี้ในเรื่องดังกล่าว สหรัฐอเมริกายังยึดกระบวนการผลิตที่เป็นจริง เช่น การนำทรายมาเผาเป็นแก้วก็จะต้องใช้ทรายของประเทศผู้ผลิตจึงถือว่าเป็นสินค้าของประเทศนั้น ๆ แบบสมบูรณ์สามารถส่งออกไปขายได้ ขณะที่ไทยยังต้องนำวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเหล็กสำเร็จรูป และผ่านกระบวนการมากมาย แต่สหรัฐอเมริกาบอกว่า เหล็กของไทยไม่ได้มีแหล่งกำเนิดจากไทย ไม่ควรได้รับการลดภาษีนำเข้า (เอาเข้าไปกันใหญ่นั่น) เป็นต้น

จุดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาว่า หากลดภาษีไปแล้ว แต่มาตรฐานสินค้าไทยยังไม่ตรงกับข้อกำหนดที่สหรัฐอเมริกาล็อคเอาไว้ก็ไม่น่าเกิดประโยชน์อะไร (ยังดีที่ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไปเสียประโยชน์และเอื้อต่อประเทศคู่แข่งล่ะก้อ...ตัวใครตัวมันกันล่ะ)

สุดท้ายผมคงฝากเรื่องที่เกี่ยวไปถึงนโยบายสวยหรูของรัฐบาลเรื่องหนึ่งคือ ดีทรอยด์ของเอเชีย หรือการเป็นศูนย์รวมฐานการผลิตยานยนต์ของเอเชีย เหมือนกับเมืองดีทรอยด์ของสหรัฐอเมริกา นัยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นสินค้าที่มีการเจรจาภายใต้กรอบเอฟทีเออย่างแน่นอน แต่พบว่าล่าสุด ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าที่ทางสหรัฐอเมริกาต้องการนำมาตรการต่าง ๆ มาเจรจาในหลักการเบื้องต้น

ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะให้ผู้แทนของกรมศุลกากรรวมถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้มาให้ความกระจ่างให้มากที่สุด ซึ่งผมจึงขอสรุปได้ว่า รัฐบาลบุกแหลกในเรื่องเอฟทีเอ แต่คนในประเทศยังงง ๆ อยู่เลย (ซึ่งพอลงไปลึก ๆ ก็พบว่า ตัวแทนการเจรจาของรัฐบาลก็ยังงง ๆ เหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่า งงจริงหรือแกล้งงงกันแน่นะ ลองสอบถามดูเอาเองครับ)


อ้างอิงจาก ดร.สุกิตติ เอื้อมหเจริญ

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,739
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,854
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,369
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,917
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,279
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,245
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด