บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    โอกาสทางธุรกิจ    AEC
4.7K
2 นาที
8 เมษายน 2553

แฟรนไชส์ไทย เข้าที่...เตรียมตัว...Go!!(Inter) 
 

หลายปีมาแล้วที่บ้านเราคุ้นเคยกับคำว่า “แฟรนไชส์” ด้วยข้อดีของแฟรนไชส์ที่เปรียบเสมือน “ทางลัด” ของการสร้างรายได้จากการเริ่มต้นธุรกิจ โดยมีครูชั้นดีที่มากด้วยประสบการณ์มาสอนและสร้างระบบให้ จึงไม่แปลกที่แฟรนไชส์กลายเป็นทางเลือกต้นๆ ของคนที่คิดจะทำธุรกิจ ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็นิยมทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์อยู่ไม่น้อยเช่นกัน

 และวันนี้ หลังจากที่ได้ทำการคัดเลือกและบ่มเพาะแฟรนไชส์พันธุ์ไทยมาได้จนสุกงอมเต็มที่ ในโครงการ "แฟรนไชส์ไทย สู่แฟรนไชส์โลก" ภายใต้ความร่วมมือของกรมส่งเสริมการส่งออก กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย จึงได้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยมา 20 รายจาก 7 ประเภทธุรกิจ ที่พร้อมจะทำการโกอินเตอร์ไปต่างประเทศ ขอเรียกเงินทองให้ประเทศไทยพอได้ดุลการค้าคืนจากต่างประเทศดูบ้าง 

 “ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วจนถึงวันนี้ การดำเนินโครงการประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่นการสัมมนาให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ การจัดพบปะคู่ค้าในเวียดนาม มาเลเซีย อาหรับเอมิเรตส์ ประเทศจีน ลาว และกัมพูชา โดยผลที่ได้ก็คือมีการเซ็นสัญญาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทย และนักธุรกิจในต่างประเทศจำนวน 30 สัญญา” ดร.สายสวรรค์ วัฒนพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาจัดการธุรกิจ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวถึงความเป็นมา

 โดย 20 ราย ที่เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาหาร มีแบล็คแคนยอน, โชคดี ติ่มซำ, CM World Kitchen, ไส้กรอกเยอรมัน EZ, นีโอสุกี้, คอฟฟี่เมกเกอร์, สปิคคิโอม ทู-ซิท กลุ่มสปาได้แก่ อโรม่าเวร่า สปา, Artiscent, O2 Spa และ สปา ออฟ สยาม

 กลุ่มการศึกษา ได้แก่ สมาร์ท อิงลิช, สมาร์ท เบรน และเอพีไอ เน็ต 

 กลุ่มคาร์แคร์ ได้แก่ Car Lack 68 กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องประดับ ได้แก่ Nobody Jeans และ ภตาอัญมณี ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ได้แก่ Index และธุรกิจกำจัดขยะ ได้แก่ บริษัทวงษ์พาณิชย์

 ทางด้าน "ดร.สายสวรรค์ วัฒนพานิช" ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการจัดการธุรกิจ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ได้แนะนำว่า สำหรับผู้ประกอบการหรือแฟรนไชซอร์ที่ต้องการไปเปิดตลาดในต่างประเทศนั้น นอกจากการศึกษาตลาดในประเทศนั้นๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ในการไปออกงานโรดโชว์ งานแสดงสินค้า หรือการไปเจรจาธุรกิจแต่ละครั้ง สิ่งที่ควรเตรียมไปก็คือแพ็คเกจข้อมูลของแฟรนไชส์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยรูปแบบแฟรนไชส์สำหรับประเทศนั้นๆ มูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และการสนับสนุนที่มีให้

 "นอกจากนี้ควรมีอุปกรณ์ทางการตลาดให้พร้อม เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการเตรียมพรีเซ็นเตชั่นที่ต้องชัดเจน สื่อสารถูกต้อง เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีต่อธุรกิจ" เธอกล่าว

 สำหรับการออกงานแสดงสินค้า "ดร.สายสวรรค์" แนะนำว่า ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ควรเลือกไปงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับแฟรนไชส์โดยเฉพาะเท่านั้น และเลือกงานที่มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก โดยก่อนไปก็ควรหาข้อมูล เตรียมข้อมูลต่างๆ ตามที่กล่าวมาให้พร้อม รวมถึงการจัดหาทีมงานที่พร้อมและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และที่สำคัญต้องมีการติดตามผลหลังจากเดินทางกลับมาแล้วด้วย

 "สิ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องการรู้ก่อนตัดสินใจก็คือ ความแตกต่าง จุดแข่งของสินค้า การลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ การสนับสนุนด้านต่างๆ เงื่อนไขและคุณสมบัติในการเป็นแฟรนไชส์ ผลการประกอบการและความสำเร็จที่ผ่านมา ตลอดจนประมาณการในการคืนทุน ดังนั้นต้องเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้พร้อมด้วย" 

 "ดร.สายสวรรค์" กล่าวถึงความแตกต่างของธรรมชาติในการทำธุรกิจในแต่ละประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการในการตัดสินใจก่อนเลือกว่าจะไปประเทศใด อาทิเช่น หากเป็นประเทศเวียดนาม จะมีโอกาสเติบโตเนื่องจากปัจจุบันเวียดนามเปิดประเทศ และคนเวียดนามเองก็มองหาโอกาสในการทำธุรกิจอย่างกระตือรือร้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โฮจิมินห์และฮานอย ส่วนแฟรนไชส์ที่น่าสนใจก็คือสปา เฟอร์นิเจอร์ โรงเรียนสอนภาษา ธุรกิจอาหาร และแฟชั่น

 "สำหรับประเทศมาเลเซีย ธุรกิจที่น่าจะไปได้ดีและเหมาะกับการขายแฟรนไชส์คือธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากคนมาเลย์ไม่นิยมทำอาหารทาน แต่นิยมทานอาหารนอกบ้าน และมีความนิยมกับวัฒนธรรมตะวันตก และคุ้นเคยกับระบบแฟรนไชส์เป็นอย่างดี หรือถ้าเป็นดูไบ โอกาสทำธุรกิจก็มีสูง เพราะรัฐบาลสนับสนุน แฟรนไชส์ที่น่าสนใจคืออาหารไทย สปา สินค้าดูแลผิวจากธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังเพราะดูไบมีข้อห้ามทางศาสนาที่เข้มงวด เช่นอาหารฮาลาล"

 ทางด้านประเทศจีน "ดร.สายสวรรค์" กล่าวว่า ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีโอกาสสำหรับทุกธุรกิจ เพราะวันนี้คนจีนสนใจด้านการลงทุนทำธุรกิจสูงมาก และธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่น่าจะไปได้ดีในจีนก็คือ อาหารไทย ฟาสต์ฟู้ด สปา เครื่องประดับ ธุรกิจการศึกษา และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนที่ควรระวังก็คือการลอกเลียนแบบ และการแข่งขันที่สูง

 "ส่วนกัมพูชา โอกาสจะอยู่ที่พนมเปญและเสียมเรียบ และแฟรนไชส์ไทยที่น่าจะเข้าตลาดในกัมพูชาได้ก็คือการท่องเที่ยว อาหาร สปา การศึกษา แต่ทั้งนี้ก็มีความเสี่ยงในเรื่องการลอกเลียนแบบ หรือการที่คนกัมพูชายังไม่เข้าใจระบบแฟรนไชส์มากนัก ทักษะแรงงานก็ไม่สูงมาก"

 แต่ท้ายที่สุด "ดร.สายสวรรค์" ก็เตือนผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อมในการไปต่างประเทศว่า ให้หันมาเร่งสร้างความพร้อม สร้างฐานตลาดในประเทศให้ดีเสียก่อน เมื่อนั้นหนทางการขยายธุรกิจไปยังต่างแดนก็อยู่ไม่ไกล

 "อยากไปขยายธุรกิจต่างประเทศต้องใช้เวลา ไม่ใช่คิดปุ๊บก็ไปได้เลย เพราะไม่ใช่ทุกแฟรนไชส์จะไปต่างประเทศได้ จาก 500 ราย อาจไปได้แค่ 10 รายเท่านั้น" เธอกล่าวทิ้งท้าย
 
 

อ้างอิงจาก กมลวรรณ มักการุณ

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,679
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,812
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,357
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,912
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,243
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด